กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--สยามพิวรรธน์
เกือบสี่สิบปีมาแล้วที่ศูนย์การค้าสยามหรือที่เรารู้จักกันดีในวันนี้ว่า “สยามเซ็นเตอร์” ได้ปรากฏแก่สายตาคนไทย เป็นศูนย์การค้าแห่งแรกและทันสมัยที่สุดของประเทศ หลังจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคาร เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2516
เริ่มแรกก่อนที่ศูนย์การค้าสยามจะถือกำเนิดขึ้น บริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส จำกัด กิจการร่วมทุนระหว่างกระทรวงการคลัง บริษัท แพน อเมริกัน เวิลด์ แอร์เวส์ จำกัด สถานบันการเงินหลายแห่ง และภาคเอกชนขณะนั้นได้ ก่อสร้างโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล บนที่ดิน 71 ไร่ อันเป็นส่วนหนึ่งของวังสระปทุม ด้วยความมุ่งหมายแรก ต้องการให้เป็นโรงแรมระดับห้าดาวแห่งแรกในประเทศไทย โดดเด่นสะดุดตา ด้วยรูปลักษณ์อาคารแตกต่างจากอาคารทั่วๆ ไป ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่น (ปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าสยามพารากอน)
ต่อมาบริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส จำกัด พิจารณาว่า พื้นที่ที่เหลือจากการสร้างโรงแรมอีก 18 ไร่ ด้านหน้าติดกับถนนพระราม 1 และถนนพญาไท ควรสร้างอาคารศูนย์การค้าสมัยใหม่ตามรูปแบบและมาตรฐานในสหรัฐอเมริกาเคียงคู่กับโรงแรม เพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ศูนย์การค้าสยาม ซึ่งต่อมานิยมเรียกติดปากว่าสยามเซ็นเตอร์ เป็นอาคาร 4 ชั้น มีที่จอดรถอยู่ชั้นใต้ดิน เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่สุดในยุคนั้น ซึ่งยังไม่มีอยู่ทั่วไปเช่นทุกวันนี้
สยามเซ็นเตอร์เป็นจุดเริ่มต้นศูนย์การค้ามาตรฐานสากลแห่งแรกของไทยที่ยังเปิดบริการ และมีอายุยืนยาวที่สุด
เป็นจุดกำเนิดธุรกิจต่างๆ ของประเทศมากมาย เป็นแหล่งรวมร้านค้า ร้านอาหาร บริการหลากหลาย ฯลฯ นำเสนอไอเดียใหม่ๆ โดดเด่นและแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร เป็นจุดกำเนิดของแฟชั่นแบรนด์ไทยต่างๆ และเมื่อเริ่มมีแบรนด์แฟชั่นจากต่างประเทศเข้ามา ก็ล้วนแต่มาแจ้งเกิดร้านแรกที่สยามเซ็นเตอร์กันทั้งสิ้น
ตลอดเวลาร่วมๆ 40 ปีดังกล่าว สยามเซ็นเตอร์จึงเป็นสถานที่ซึ่งบุคคลมีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ แวะเวียนมาใช้บริการ สร้างชื่อเสียงเคียงคู่ประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางช็อบปิ้งทันสมัยที่สุด และเป็นเช่นนี้เรื่อยมา อย่างไม่เสื่อมคลาย
เชื่อได้ว่าคนกรุงเทพฯ ทุกเพศวัย ล้วนเคยมีประสบการณ์ส่วนตัวและความทรงจำในอดีตอันหลากหลายที่เกิดขึ้น ณ ศูนย์การค้าแห่งนี้ เป็นจุดนัดพบของคนหนุ่มสาว เป็นแหล่งรวมตัวของครอบครัว เป็นศูนย์รวมร้านค้าล้ำสมัย ผู้ซื้อและผู้ขายสนิทชิดเชื้อ ประหนึ่งคนในครอบครัว หากจะนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสยามเซ็นเตอร์ตลอด 40 ปี ที่ผ่านมาไปทำเป็นละคร ก็คงจะเป็นซีรีส์ของความตื่นเต้นสนุกสนานหลากหลายอารมณ์ได้อย่างครบทุกอรรถรส
แม้กระทั่งบันไดด้านหน้าก็เป็นตำนานและเป็นที่จดจำมาทุกยุคสมัย เพราะเป็นที่แจ้งเกิดของเหล่าบรรดานักร้อง นักแสดง ศิลปิน นายแบบ นางแบบ ซึ่งถูกค้นพบที่นี่ หรือภายหลังจากขึ้นเวทีในสยามเซ็นเตอร์ แล้วไปโด่งดังกันในแทบจะทุกวงการ
สยามเซ็นเตอร์ เป็นผู้นำการทำการตลาดของศูนย์การค้าที่แปลกใหม่ เป็นสถานที่แรกที่จัดแฟชั่นโชว์ คอนเสิร์ตจากทุกค่ายศิลปิน การประกวดงานออกแบบและไอเดียต่างๆ การประกวดความสามารถของเยาวชน และกลยุทธ์ในการส่งเสริมการขายและประชาสัมพันธ์อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องให้แก่ร้านค้าอย่างทั่วถึง ทำให้พื้นที่ในสยามเซ็นเตอร์เป็นทำเลทองที่หมายปองของร้านค้าแทบจะทุกประเภท และมีคนรอคิวจะเข้ามาทำธุรกิจอยู่มากมายจนถึงปัจจุบันนี้
นอกเหนือจากความทรงจำ ความสำเร็จที่ต่อเนื่องและยาวนาน ยังมีสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด นั่นคือ การเป็นรากฐานของการพัฒนาวงการแฟชั่นเมืองไทย สร้างบุคลากรทางด้านแฟชั่นให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นและการออกแบบไทยให้พัฒนาก้าวไกลสู่ระดับเวิลด์คลาส ทำให้สยามเซ็นเตอร์เปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของเหล่าดีไซเนอร์ไทย รวมทั้งเป็นเวทีแจ้งเกิดดีไซเนอร์ไทยหน้าใหม่เข้าสู่วงการแฟชั่นทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่รุ่นบุกเบิกอย่าง Kai บูติก (สมชาย แก้วทอง) สร้างชื่อจากห้องเสื้อหรูๆ ฝีมือคนไทยบนชั้น 3 ของสยามเซ็นเตอร์, Soda แบรนด์แฟชั่นของคนไทย โดดเด่นด้วยการผสมผสานสไตล์ต่างๆ เข้าด้วยกันที่ยืนหยัดมาอย่างยาวนาน
จัสปาล มีจุดเริ่มต้นจากร้านแรกที่จำหน่ายสินค้าเสื้อผ้า ต่อมากลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าจากผ้าครบวงจร เช่นเดียวกับ Flynow หรือเกรย์ฮาวด์ และอีกมากมายกระทั่งรุ่นหลังๆ มาแรงอย่าง Kloset ล้วนแจ้งเกิดที่นี่ทั้งสิ้น และเจริญเติบโตแตกไลน์ใหม่ รวมทั้งขยายสาขาไปมากมาย เพราะเหตุดังกล่าวเมื่อพูดถึง “ศูนย์กลางแฟชั่นไทย” คำตอบที่ได้รับยังคงเป็น “สยามเซ็นเตอร์” เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เชิงประวัติความเป็นมา ตลอดเวลาร่วมๆ 40 ปี สยามเซ็นเตอร์ฝ่าคลื่นลมความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ต่างๆของประเทศมานับไม่ถ้วน มากกว่าใครๆ ทว่าศูนย์การค้าแห่งนี้สามารถผ่านพ้นทุกวิกฤต ทุกเหตุการณ์ได้อย่างองอาจ ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าเงินบาทในปี 2524 ประสบอัคคีภัยเช่นเดียวกับอีกหลายศูนย์การค้าในปี 2538 วิกฤตเศรษฐกิจ IMF ปี 2540 แม้แต่การก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอส ทำให้การจราจรย่านนี้เป็นอัมพาต ผู้คนไม่สะดวกในการเดินทางมาใช้บริการ เช่นเดียวกับการฝ่าคลื่นลมความท้าทาย จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง การแข่งขัน และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งก็เป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนแล้วว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สยามเซ็นเตอร์ไม่เคยมีพื้นที่ว่างแม้แต่ห้องเดียว ติดต่อกันยาวนานเกินกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา สยามเซ็นเตอร์ ผ่านการปรับเปลี่ยนรูปโฉมอาคารทั้งภายนอกและภายในให้ล้ำสมัยอยู่เสมอ พร้อมทั้งปรับคอนเซปต์และเปลี่ยนร้านค้าและการบริการภายในศูนย์ฯ เพื่อมุ่งนำเทรนด์ใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคก่อนใคร อยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่การปรับโฉมภายในทั้งหมดครั้งแรกในปี 2534 จากนั้นครั้งที่ 2 ในปี 2538 โดยปิดปรับปรุงอาคารเป็นเวลา 8 เดือน ส่วนครั้งที่ 3 ในปลายปี 2548 เป็นการปรับปรุงและตกแต่งภายนอกภายใน มีรูปลักษณ์แปลกใหม่เป็นกล่องกระจกพร้อมไฟเปลี่ยนสีได้ ภายในเป็นที่แรกที่ตกแต่งด้วยสีขาวหมดทั้งอาคารอย่างที่ไม่เคยมีศูนย์การค้าใดทำมาก่อน ครั้งที่ 4 ปี 2550 ปรับพื้นที่ชั้น 4 สร้าง MobF โซนมัลติแบรนด์ไทยดีไซน์เนอร์ ครั้งที่ 5 ปี 2551 ปรับชั้น 3 โซน Siam on Third ครั้งที่ 6 ปี 2553 ปรับ ซุ้มประตูด้านหน้าทางเข้าอาคารและ landscape ครั้งล่าสุดในปี 2555 นี้ ตั้งแต่กลางเดือนกรกฏาคม สยามเซ็นเตอร์ปิดบริการทั้งอาคารนานถึง 5 เดือน ปรับปรุงโฉมใหญ่เป็นครั้งที่ 7 สร้างปรากฎการณ์ใหม่ในวงการ ด้วยการประกาศสลัดภาพลักษณ์ในรูปแบบศูนย์การค้าอย่างสิ้นเชิง และปรับเปลี่ยนสินค้าถึง 70% ของพื้นที่
สร้างความท้าทายครั้งใหม่ ให้กับทุกวงการที่รอคอยดูว่า
สยามเซ็นเตอร์ จะปฏิวัติวงการค้าปลีกของไทยอีกครั้งอย่างไร?