กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--อีสานโพล
อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “เสียงสะท้อนชาวอีสานกับผลงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์” ประจำเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2555 โดยผลการประเมินพบว่าผ่านในทุกด้าน
ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อการทำงานของรัฐบาลใน 6 ด้าน เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้รัฐบาลได้นำผลการประเมินและข้อเสนอแนะไปปรับปรุงมาตรการและนโยบายการทำงานได้อย่างเหมาะสม โดยการสำรวจจะมีขึ้นทุกๆ 2 เดือน โดยครั้งนี้เป็นการสำรวจครั้งที่ 7 ตั้งแต่รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 — 30 ธันวาคม 2555 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,210 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
ผลสำรวจการประเมินผลงานรัฐบาลใน 6 ด้าน พบว่า ด้านภาพรวมการทำงานของรัฐบาล ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 81.6 ไม่ผ่าน ร้อยละ 18.4 ด้านการเมืองและประชาธิปไตย ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 76.4 ไม่ผ่าน ร้อยละ 23.6 ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 56.6 ไม่ผ่านร้อยละ 43.4 ด้านสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 68.5 ไม่ผ่าน ร้อยละ 31.5 ด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และภัยธรรมชาติ ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 70.4 ไม่ผ่าน ร้อยละ 29.6 ด้านการต่างประเทศ ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 81.1 ไม่ผ่าน ร้อยละ 18.9 (ดังภาพที่ 1)
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเทียบกับการสำรวจสองครั้งที่ผ่านมา (ก.ค.-ส.ค. และ ก.ย.-ต.ค. 55) จะพบว่า ด้านเศรษฐกิจที่เคยมีคะแนนว่าไม่ผ่านเกินกว่าร้อยละ 50 มาตลอด ในครั้งนี้ได้รับคะแนนเพิ่มเป็นร้อยละ 56.6 ถือว่าได้รับคะแนนในด้านนี้สูงที่สุดในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ด้านภาพรวมการทำงานก็ได้รับผลการประเมินว่าผ่านถึงร้อยละ 81.6 ใกล้เคียงกับการสำรวจครั้งที่แล้ว (ร้อยละ 81.0) ส่วนด้านอื่นๆ เช่น การเมือง ด้านสังคม อาชญากรรมและยาเสพย์ติด ด้านสิ่งแวดล้อม ล้วนได้คะแนนประเมินที่สูงขึ้นจากการประเมินครั้งที่แล้ว ขณะที่ด้านต่างประเทศลดลงเล็กน้อย (ดังภาพที่ 2)
เมื่อถามความคิดเห็นว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่คนอีสานจะเลือกพรรคการเมืองใด พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.3 จะเลือกพรรคเพื่อไทย (จากเดิมร้อยละ 53.7) และอีกร้อยละ 25.0 ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกพรรคใดในขณะนี้ ส่วนผู้ที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีเพียงร้อยละ 10.7 (ครั้งที่แล้ว ร้อยละ 9.7) อีกร้อยละ 7.8 ตอบว่าจะไม่เลือกพรรคใด และร้อยละ 0.2 จะเลือกพรรคอื่นๆ
ในส่วนของการประเมินการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกว่าร้อยละ 70.3 ให้คะแนนว่าไม่ผ่าน (การประเมินครั้งก่อน ไม่ผ่านร้อยละ 54.3) โดยให้เหตุผล เช่น ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผล ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ ไม่ชอบเป็นการส่วนตัว ทำงานไม่มีความรับผิดชอบ ฯลฯ ส่วนอีกร้อยละ 29.7 ที่ประเมินให้ผ่าน ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ทำงานตามหน้าที่ฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาลได้ดี
สำหรับผลการสำรวจนักการเมืองที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดประจำเดือน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงนำมาเป็นอันดับหนึ่งร้อยละ 68.8 (ครั้งที่แล้วร้อยละ 56.2) รองลงมาคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้คะแนนร้อยละ 11.0 ตามมาด้วย ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ได้คะแนนร้อยละ 7.3 และนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้คะแนนร้อยละ 7.1 ส่วนที่เหลือร้อยละ 5.9 เสนอชื่อคนอื่นๆ นอกจากนี้ เมื่อถามถึงฉายารัฐบาล ที่มีหลายฝ่ายตั้งให้รัฐบาล นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า ร้อยละ 25.2 ชอบฉายา “พี่คนแรก” รองลงมาร้อยละ 20.3 ชอบฉายา “ตำปูแซ่บนัว” ร้อยละ 16.9 ชอบฉายา “สุขกันเถอะเรา” ร้อยละ 15.3 ชอบฉายา “แพงทั้งแผ่นดิน” ร้อยละ 11.9 ชอบฉายา “พี่ชายแสนดี” และร้อยละ 10.3 ชอบฉายา “ละครคนจน”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่คนอีสานเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขมากที่สุด เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ คือ แก้ปัญหาของแพงและน้ำมันแพง ร้อยละ 46.2 รองลงมาแก้ปัญหายาเสพย์ติด ร้อยละ 14.2 ตามมาด้วยปัญหาการเมือง รัฐธรรมนูญ การคอรัปชั่น และความปรองดองในประเทศ ร้อยละ 12.3 เพิ่มค่าแรง ร้อยละ 7.7 ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 7.0 ที่เหลือเป็นปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาภัยธรรมชาติ
“ผลการประเมินในครั้งนี้ พบว่า มุมมองของชาวอีสาน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ผลการประเมินสอบผ่านทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และความอยู่ดีกินดีของประชาชน ที่มักจะได้รับผลการประเมินต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ในการประเมินครั้งนี้ กลับมาได้คะแนนประเมินที่ดีขึ้น ทั้งนี้ น่าจะเป็นผลมาจากนโยบายประชานิยมของรัฐหลายนโยบาย ที่ประชาชนรายได้น้อยเริ่มจะได้รับประโยชน์ เช่น ค่าแรง 300 บาท ปริญญาตรี 15,000 บาท นโยบายจำนำข้าว นโยบายคืนภาษีรถคันแรก เป็นต้น ผลการประเมินนี้สะท้อนให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยยังคงได้รับการสนับสนุนจากชาวอีสานอย่างเหนียวแน่น สมกับฉายารัฐบาล “ตำปูแซ่บนัว” ที่หมายถึง ส้มตำซึ่งเป็นอาหารที่ชาวอีสานโปรดปรานและเมื่อใส่ปู (นายกยิ่งลักษณ์) เพิ่มเข้าไปรสชาติยิ่งถูกใจคนอีสาน อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรระมัดระวังเรื่องภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการใช้นโยบายประชานิยมที่มากเกินไป นอกจากนี้การแก้ปัญหาของแพงก็เป็นสิ่งที่ชาวอีสานอยากได้เป็นของขวัญปีใหม่ 2556 มากที่สุด ” ดร.สุทิน กล่าวตอนท้าย
หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจ ซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในบทความนี้ เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 95% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 3% ประกอบด้วย เพศหญิง ร้อยละ 53.4 เพศชาย ร้อยละ 46.6 ส่วนใหญ่อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 31.4 รองลงมาอายุ 46-55 ปี ร้อยละ 26.1 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 21.5 อายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 10.9 และอายุ 18-25 ปี ร้อยละ 10.0 โดยอาศัยอยู่ในเขตเทศบาล (เขตเมือง) ร้อยละ 30.6 และอยู่นอกเขตเทศบาล (เขตชนบท) ร้อยละ 69.4
ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 30.6 รองลงมาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 24.6 มัธยมต้น ร้อยละ 17.7 มัธยมปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ 15.6 อนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 7.9
ปริญญาโทและเอก ร้อยละ 3.5
ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 38.0 รองลงมาอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 17.5 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 14.1 รับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 10.7 รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.3 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 7.0 และอาชีพ พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 3.5
ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่รายได้อยู่ที่5,001-10,000 บาท ร้อยละ 29.8 รองลงมารายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 24.8 รายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 22.4 รายได้ 15.001-20,000 บาท ร้อยละ 14.9 รายได้ 20,001-40,000 บาท ร้อยละ 6.9 และมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 1.1