กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--กรุงเทพธุรกิจ
กรุงเทพธุรกิจจับมือศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดทำ CEO Sentiment Survey รายเดือน หวังสะท้อนความคิดเห็นของซีอีโอได้รวดเร็ว และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพสิ่อสู่ความเป็นสถาบัน
น.ส. ดวงกมล โชตะนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้ (2556) หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้ร่วมมือกับ ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดทำ CEO Sentiment Survey ขึ้น โดยโครงการดังกล่าวเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารองค์กรธุรกิจเกี่ยวกับแนวโน้มทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และแนวทางการปรับตัว ซึ่งจะเป็นการสำรวจความคิดเห็นต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อให้สามารถสะท้อนความคิดเห็นของผู้บริหารองค์กรธุรกิจต่อความเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่างๆ ด้านเศรษฐกิจได้รวดเร็วขึ้น ทำให้ผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนนักธุรกิจสามารถปรับตัวได้ทันท่วงที
“โครงการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารนี้จะนำเหตุการณ์หรือนโยบายต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในขณะนั้น มาเป็นประเด็นในการตั้งคำถามของแต่ละเดือน ทำให้สามารถสะท้อนความเห็นผู้บริหารได้รวดเร็วและเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในการนำผลสำรวจมาประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ”
กรรมการผู้อำนวยการ เนชั่น กรุ๊ป ยังกล่าวด้วยว่า การทำงานร่วมกันของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจกับภาควิชาการอย่างศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่รับหน้าที่วิเคราะห์ วิจัยผลสำรวจจะช่วยให้ข้อมูล มุมมองต่างๆ ที่นำเสนอเป็นไปอย่างรอบด้าน ภายใต้หลักวิเคราะห์เชิงวิชาการ สะท้อนให้เห็นทิศทางของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจที่มุ่งพัฒนาตัวเองสู่ความเป็นสถาบันสื่อต่อไป
ทั้งนี้การสำรวจ CEO Sentiment Survey ได้ประกาศผลครั้งแรกในวันที่ 2 มกราคม 2556 โดยเป็นการสำรวจความเห็นผู้บริหารทั้งสิ้น 251 คน และพบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้เฉลี่ยจะอยู่ที่ 4.6% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะมีค่าต่ำสุด-สูงสุดระหว่าง 1,178 -1,412 ขณะที่ด้านผลประกอบการ ผู้บริหารคาดว่ากำไรในปีนี้จะโตราว 4.0% โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลประกอบการ คือ สภาวะเศรษฐกิจของไทย ความต้องการของตลาดที่ลดลง การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ การเมืองในประเทศ ต้นทุนวัตถุดิบ สภาวะเศรษฐกิจโลก
ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า ภาคธุรกิจขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ของไทยมีความพร้อมที่จะขยายตัวไปลงทุนในต่างประเทศ โดยประเทศที่ได้รับความสนใจสูง คือ ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และจีน