กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--เอแบคโพลล์
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประเมินความพึงพอใจของประชาชนต่อหน่วยงานรัฐในการดูแลความสุขของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ และ ความเห็นของสาธารณชนต่อประเด็นร้อนทางการเมืองในปีใหม่นี้ : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัดของประเทศ
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประเมินความพึงพอใจของประชาชนต่อหน่วยงานของรัฐในการดูแลความสุขของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ และความเห็นของสาธารณชนต่อประเด็นร้อนทางการเมืองในปีใหม่นี้ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ ลพบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ หนองคาย ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 1,750 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 30 — 31 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา พบว่า
เมื่อสอบถามถึงหน่วยงานรัฐยอดเยี่ยมที่ดูแลความสุขของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ประทับใจมากที่สุด พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ กองบังคับการตำรวจทางหลวง กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ร้อยละ 37.4 อันดับสองได้แก่ โครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ร้อยละ 25.1อันดับสามได้แก่ กองทัพและตำรวจที่ดูแลความสงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร้อยละ 16.3 อันดับที่สี่ ได้แก่ กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ร้อยละ 11.9 อันดับที่ห้าได้แก่ กระทรวงมหาดไทย มูลนิธิอาสาสมัครต่างๆ และหน่วยงานอื่นที่แก้ปัญหาอุบัติเหตุ ได้ร้อยละ 5.5 และอันดับหกได้แก่ หน่วยงานที่บริการนักท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติและที่เกี่ยวข้องได้ร้อยละ 3.8 ตามลำดับ
เมื่อประเมินผลความพอใจเบื้องต้นต่อการให้บริการด้านต่างๆ จากกลุ่มผู้มีประสบการณ์ตรงกับหน่วยงานรัฐที่ดูแลความสุขของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ได้ 6.83 คะแนน รองลงมาคือ การยินดีต้อนรับ การพูดจา ได้ 6.35 คะแนน ความเพียงพอของเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและอาคารรองรับบริการได้ 6.08 คะแนน ความสะดวกในการติดต่อ (มีผู้รับสายด่วนตลอดเวลา) ได้ 5.48 คะแนน ความสะอาดของอาคารสถานที่ได้เพียง 4.38 คะแนน ความรวดเร็วฉับไวในการแก้ไขปัญหาได้เพียง 4.32 คะแนน ความใส่ใจติดตามผลหลังให้บริการ ให้ความช่วยเหลือ ได้เพียง 4.14 คะแนน การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดปัญหาขึ้นได้ต่ำสุดคือ 3.59 คะแนน อย่างไรก็ตามคะแนนความพอใจ โดยรวมได้ค่อนข้างดีคือ 6.04 คะแนน อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.9 หวังว่าจะได้รับบริการที่ดีกว่าในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวของปีใหม่นี้ ในขณะที่ร้อยละ 28.1 ไม่มีความหวัง
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความหวังหรือความกลัวต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในปีใหม่นี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.4 ยังมีความหวังที่จะก้าวไปข้างหน้า ในขณะที่ร้อยละ 32.6 กลัวต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในปีใหม่นี้
เมื่อถามถึง คุณธรรมที่หวังว่าจะเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนคนไทยในปีใหม่นี้ (ตอบได้มากกว่า 1 คุณธรรม) พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.7 ระบุความกตัญญูรู้คุณ แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รองลงมาคือ ร้อยละ 75.9 ระบุความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 75.1 ระบุความรัก ความเมตตากรุณา ความมีน้ำใจไมตรี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร้อยละ 68.2 ระบุการให้อภัย ร้อยละ 61.4 ระบุความมีวินัย ขยันหมั่นเพียร ร้อยละ 60.8 ระบุ ความเสียสละ และร้อยละ 56.9 ระบุความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ตามลำดับ
ที่น่าเป็นห่วงคือ สิ่งที่ประชาชนกังวลมากที่สุดว่าจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในหมู่ประชาชนและเกิดการชุมนุมใหญ่ในปีใหม่นี้ พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 34.7 ระบุคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รองลงมาคือ ร้อยละ 29.3 ระบุ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในกลุ่มคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 12.6 ระบุความไม่เป็นธรรม การเลือกปฏิบัติ ร้อยละ 8.3 ระบุปัญหาปากท้อง ราคาสินค้า ค่าครองชีพ ร้อยละ 5.4 ระบุกฎหมายปรองดอง ร้อยละ 4.6 ระบุความล้มเหลวของรัฐบาลในนโยบายสาธารณะ เช่น โครงการรับจำนำข้าว นโยบาย 300 บาท เป็นต้น และร้อยละ 5.1 ระบุอื่นๆ เช่น ปัญหาที่ทำกิน ปัญหายาเสพติด เป็นต้น
ที่สำคัญคือ เมื่อสอบถามถึงของขวัญปีใหม่ที่อยากได้จากนักการเมืองมากที่สุด พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 53.7 ระบุขอให้นักการเมืองน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงมาใช้ในการแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างจริงจังต่อเนื่อง รองลงมาคือร้อยละ 21.2 ระบุความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 15.9 ระบุ ความจริงจัง จริงใจต่อกันในการแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ร้อยละ 5.5 ระบุการทำตามหน้าที่ สำนึกรู้คุณแผ่นดิน และที่น่าสนใจคือ มีเพียงร้อยละ 1.7 เท่านั้นที่ต้องการทรัพย์สินเงินทองของนักการเมือง และร้อยละ 2.0 ระบุอื่นๆ เช่น ความรักความสามัคคี และความเสียสละ เป็นต้น
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.2 เป็นชาย ร้อยละ 52.8 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.9 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.1 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.4 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 25.8 อายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 27.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 72.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 27.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 33.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 27.6 ระบุอาชีพธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย ร้อยละ 8.8 ระบุอาชีพข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.5 ระบุอาชีพพนักงานบริษัท ร้อยละ 6.9 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 8.3 ระบุเป็นแม่บ้าน พ่อบ้าน เกษียณอายุ ร้อยละ 3.7 ระบุว่างงาน ไม่ได้ประกอบอาชีพ
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โทร.0-2719-1550