“สุทธิพล” เปิดผลงาน 1 ปี ด้านกฎหมายโทรคมนาคม

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday January 2, 2013 13:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--กสทช. ระบุปี 56 เน้นยุทธศาสตร์เชิงรุก เพิ่มการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เป็นปีทองแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคไทย ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ผ่านพ้นไปแล้ว 1 ปี กับบทบาทการทำหน้าที่ของกสทช. ด้านกฎหมาย ที่จะต้องปรับปรุงและพัฒนา กฎ กติกา ระเบียบต่างๆ ในกิจการโทรคมนาคมให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ซึ่งถือเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของ กสทช. ที่ได้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายโทรคมนาคม หลายท่าน กรุณาสละเวลาอันมีค่าเข้ามาร่วมกันทำงานระดมความคิดเห็นกันในคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ ส่งผลทำให้การปรับปรุงและพัฒนา กฎ กติกา ตลอดจนกฎหมายต่างๆในกิจการโทรคมนาคมมีความคืบหน้าและมีประสิทธิภาพ และที่น่ายินดี คือ กฎ กติกา ที่มีการปรับปรุงโดยคณะอนุกรรมการฯชุดนี้สามารถปฎิบัติได้จริง และเป็นกฎ กติกาที่มีชีวิตอย่างแท้จริง โดยในปี 2555 คณะอนุกรรมการบูรณาการฯ มีการประชุมทั้งสิ้น 21 ครั้ง พิจารณายกร่างปรับปรุงและเสนอความเห็นเกี่ยวกับประกาศและระเบียบ รวม 19 ฉบับ มีเรื่องที่ดำเนินการแล้วเสร็จเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ กทค. และ กสทช. จนได้ข้อยุติเป็นผลให้มีการวางแนวปฏิบัติใหม่ หรือออกเป็นประกาศหรือระเบียบในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับแล้ว รวม 6 เรื่อง นอกจากนี้มีร่างประกาศและร่างระเบียบที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอที่ประชุม กทค. และ กสทช. จำนวน 8 ฉบับ รวมทั้งมีเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและศึกษาแนวทางจัดทำร่างประกาศและร่างระเบียบที่ผ่านความเห็นในเบื้องต้นของคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ แล้ว จำนวน 5 ฉบับ ทั้งนี้สามารถจำแนกผลการดำเนินการที่สำคัญของคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ ในปี 2555 ในด้านต่างๆดังนี้ ด้านการพัฒนาและส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม มีการปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 ส่งผลให้เกิดความชัดเจน ลดความหวาดระแวงและทำให้ประกาศดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคต่อการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงประกาศ กทช. เรื่อง นิยามของตลาด และขอบเขตตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 25551 ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นในเบื้องต้น และมอบให้สำนักงาน กสทช. หารือกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงร่างประกาศฯ และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ อีกครั้งหนึ่ง ด้านการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการอนุญาตให้ประกอบกิจการ ได้พิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... เสร็จเรียบร้อยแล้วมีการนำเสนอต่อที่ประชุม กทค. และ กสทช. จนที่ประชุม กสทช.เห็นชอบแล้วขณะนี้อยู่ในกระบวนการส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้ได้เสนอหลักการกรณีดำเนินการตามประกาศ กทช. เรื่อง การขอความเห็นชอบสัญญาอันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ พ.ศ. 2549 ต่อที่ประชุม กทค. พิจารณาหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบสัญญาอันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ รวมทั้งได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศ กทช. เรื่อง การเปิดเสรีการให้บริการวงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่างประเทศ (International Private Leased Circuit : IPLC) ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเสนอต่อที่ประชุม กทค. และ กสทช.เพื่อขออนุมัติหลักการต่อไป ด้านการใช้ทรัพยากรโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ริเริ่มให้มีการปรับปรุงประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาในการบังคับใช้ สำหรับการปรับปรุงประกาศนี้ ขณะนี้มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยมีการยกร่างประกาศใหม่เรียบร้อยแล้ว นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งได้ให้ข้อสังเกตเพื่อให้สำนักงาน กสทช. ไปปรับปรุงต่อไป นอกจากนี้ยังได้เสนอให้มีการออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการขอรับจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการวิทยุคมนาคม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการขอรับจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการวิทยุคมนาคม เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กทค. และ กสทช. สำหรับด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมนั้น เป็นเรื่องที่คณะอนุกรรมการฯให้ความสำคัญอย่างมาก โดยมีการผลักดันให้มีการพัฒนากฎ กติกา เรื่องการไกล่เกลี่ยในด้านโทรคมนาคมเพื่อเพิ่มทางเลือกในการระงับข้อพิพาทให้กับผู้บริโภค ถือเป็นการบุกเบิกระบบไกล่เกลี่ยให้เกิดขึ้นในวงการโทรคมนาคมของไทย จนเป็นผลให้มีการออกระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2555 นอกจากนี้ได้ดำเนินการให้มีการออกประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 รวมทั้งได้ริเริ่มให้มีการยกร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะที่เรียกเก็บเงินล่วงหน้า โดยมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กทค. และ กสทช. แล้ว นอกจากนี้คณะอนุกรรมการฯ ยังได้ทำการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาทางกฎหมายและปัญหาการบังคับใช้ประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ จนนำไปสู่ความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงประกาศดังกล่าวอย่างเร่งด่วนเพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาและศึกษาแนวทางการแก้ไขปรับปรุงประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อรองรับปริมาณข้อพิพาทที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการให้บริการ 3 จี เต็มรูปแบบ ดร.สุทธิพล กล่าวอีกว่า ปี 2556 จะเป็นปีทองแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมอย่างแท้จริง โดยยุทธศาสตร์การดำเนินการที่ตั้งใจไว้ คือ เร่งสังคายนากฎกติกาด้านโทรคมนาคมที่เป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการเพิ่มการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยจะนำมาปรับปรุงให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เพื่อรองรับกับปริมาณเรื่องร้องเรียนที่จะปรับตัวสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการเปิดให้บริการ 3 จี ดังนั้นหาก กสทช.เตรียมระบบในเรื่องนี้ไว้อย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ ก็จะบริหารจัดการเรื่องร้องในกิจการโทรคมนาคมให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นธรรมได้ “หมดยุคที่จะไปมุ่งโจมตี วิพากษ์วิจารณ์ว่าคนโน้นคนนี้ไม่ดีแล้ว เราจะเน้นการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ต้องทำมากกว่าพูดให้เห็นผลอย่างจริงจัง ยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องที่จะไปจ้องจับผิดคนโน้นคนนี้รายวันในประเด็นปลีกย่อย แต่ต้องเน้นการป้องปรามปัญหาและเยียวยาปัญหาควบคู่กัน มิใช่เน้นเรื่องการสร้างปัญหา ผมเชื่อว่าทุกปัญหาย่อมมีคำตอบ แต่เราจะต้องมีความจริงใจในการจัดการกับปัญหา ด้วยยุทธศาสตร์ใหม่นี้ ผมจึงมั่นใจว่าปี 2556 จะเป็นปีทองแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมอย่างแท้จริง” ดร.สุทธิพล กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ