เอแบคโพลล์เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สุดยอดข่าว ทอล์คออฟเดอะทาวน์ของสื่อสร้างสรรค์แห่งปี 2555

ข่าวทั่วไป Wednesday January 2, 2013 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--เอแบคโพลล์ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สุดยอดข่าว ทอล์คออฟเดอะทาวน์ของสื่อสร้างสรรค์แห่งปี 2555: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สุดยอดข่าว ทอล์คออฟเดอะทาวน์ของสื่อสร้างสรรค์แห่งปี 2555 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย สกลนคร เลย ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยะลา นราธิวาส และ สงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,189 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน — 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555 มา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึงสุดยอดของ “ข่าวการเมือง” ที่สร้างสรรค์แห่งปี 2555 พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 51.4 ระบุไม่มีข่าวการเมืองที่สร้างสรรค์เลยในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 19.1 ระบุเป็นข่าว นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และ นายกฯ อภิสิทธิ์ ประกาศจุดยืนร่วมกันต่อต้านคอรัปชั่น ร้อยละ 10.5 ระบุนายกฯ ยิ่งลักษณ์ พบคารวะพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ร้อยละ 9.4 ระบุ ข่าวฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกันคิดแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 7.2 ระบุ ข่าวการเตะฟุตบอลกระชับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสื่อมวลชน ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือ ผลการจัด 5 อันดับสุดยอดของข่าวเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์แห่งปี 2555 พบว่า ร้อยละ 36.2 ระบุ การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ร้อยละ 17.9 ระบุนโยบายรัฐบาล 300 บาทต่อวันและเงินเดือน 15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 14.7 ระบุ ผู้นำสหรัฐ และจีนเยือนไทย ขยายการลงทุน และเศรษฐกิจโลกผ่านจุดวิกฤตแล้ว ร้อยละ 13.3 ระบุ อัตราการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และร้อยละ 8.1 ระบุ นโยบายโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ตามลำดับ ในขณะที่ร้อยละ 9.8 ระบุไม่มีข่าวเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์เลยในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา เมื่อสอบถามถึงสุดยอดของข่าวสังคมที่สร้างสรรค์แห่งปี 2555 พบว่า อันดับที่หนึ่งหรือร้อยละ 65.1 ได้แก่ การนำเสนอข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม อันดับสองได้แก่ Taxi พลเมืองดีเก็บเงินคืนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ข่าวขอทานบริจาคเงินให้วัด และคนไทยน้ำใจดีอื่นๆ ได้ร้อยละ 15.4 อันดับที่สาม ได้แก่ ข่าวรัฐบาลเปิด “บ้านอุ่นใจ” แก้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ได้ร้อยละ 7.3 อันดับที่สี่ได้แก่ ข่าวช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ร้อยละ 5.5 และอันดับที่ห้า ได้แก่ ข่าวจับกุมปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด ได้ร้อยละ 4.8 ในขณะที่ร้อยละ 1.9 ระบุไม่มีข่าวสังคมที่สร้างสรรค์เลยในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึง สุดยอดของ “พิธีกรรายการข่าว” ที่สร้างสรรค์ปี 2555 ที่ผ่านมา พบว่า อันดับที่หนึ่งหรือร้อยละ 63.8 ได้แก่ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อันดับสองได้แก่ นายกิตติ สิงหาปัด ได้ร้อยละ 11.2 อันดับที่สามได้แก่ นายธนิวัฒน์ พัฒนวีรคุณ ได้ร้อยละ 6.9 อันดับที่สี่ได้แก่ นายกนก รัตน์วงศ์สกุล ได้ร้อยละ 4.5 และนายธีระ ธัญญไพบูลย์ ได้ร้อยละ 4.0 ในขณะที่ร้อยละ 9.6 ระบุอื่นๆ อาทิ จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เขมสรณ์ หนูขาว มีสุข แจ้งมีสุข พิสิทธิ์ กิรติการกุล พิษณุ นิลกลัด ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ ชุติมา พึ่งความสุข เป็นต้น ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึง สุดยอดของ ถ้อยคำในภาษาข่าว ที่สร้างสรรค์แห่งปี 2555 ที่ผ่านมา พบว่า อันดับหนึ่งได้แก่ คำว่า “เออีซี (AEC) หรือ อาเซียน” เพราะสร้างความสนใจ ตื่นตัวในหมู่ประชาชน ได้ร้อยละ 54.7 อันดับที่สองได้แก่ถ้อยคำว่า “ความรักความสามัคคีของคนในชาติ” เพราะช่วยลดความขัดแย้ง แตกแยกของคนในชาติ ได้ร้อยละ 23.8 อันดับสามได้แก่ “ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เพราะ เป็นทางออกปัญหาวิกฤตการเมือง ลดปัญหาขัดแย้ง และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย อันดับสี่ได้แก่ “กฎหมายปรองดอง” เพราะช่วยลดปัญหาความแตกแยก ลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ได้ร้อยละ 6.2 และร้อยละ 7.8 ระบุอื่นๆ เช่น ประมูล 3 จี / ต่อต้านคอรัปชั่น /ความสุข และเมาไม่ขับ เป็นต้น ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ตลอดปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมาประชาชนเกินครึ่งระบุ “ไม่มี” ข่าวการเมืองเชิงสร้างสรรค์เลยจึงเป็นข้อมูลสำคัญต่อสถาบันสื่อสารมวลชนและฝ่ายการเมืองที่น่าจะพิจารณานำเสนอข้อมูลข่าวสารทางการเมืองเชิงสร้างสรรค์ให้มากขึ้นและต่อเนื่องตลอดปีใหม่นี้ เพื่อรักษาบรรยากาศและความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อสถาบันการเมืองอันเป็นสิ่งจำเป็นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เพราะ “หน้าที่” สำคัญของฝ่ายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยคือช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชนที่ต้องเน้นสร้างความเชื่อมั่นในบทบาทหน้าที่นี้ ไม่ใช่เป็นตัวสร้างความขัดแย้งเสียเอง ต่างๆ ทางออกที่น่าพิจารณาอย่างน้อย 3 ทางเลือกคือ ประการแรก ได้แก่ เสนอข่าวให้สถาบันสื่อสารมวลชนเสนอข่าวที่เล็งเห็นว่าอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนให้ครบถ้วนรอบด้าน และสรุปในเชิงสร้างสรรค์ด้วยเหตุผล มากกว่า ถ้อยคำด้วยความรู้สึก โกรธแค้น และใช้ถ้อยคำที่ “ปั่น” อารมณ์ให้คนทะเลาะกัน ประการที่สอง เสนอให้ประชาชนเป็นผู้ “ตื่น” คือเป็น Active ไม่เป็นเพียง “ผู้รับ” หรือ Passive กล่าวคือไม่ไหลไปตามกระแส ศึกษาเรียนรู้ด้วยความเป็นจริงโดยตัวเองให้ครบถ้วนรอบด้าน และ ประการที่สาม หยุดหรือชะลอการนำเสนอข่าวที่ยังไม่เห็นชัดเจนว่ามันเป็นความจริง ไม่ควรเสนอข่าวที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย จากต้นตอของข่าวที่เริ่มจากคำว่า “เขาว่ากันว่า.........” จากนั้นก็วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางทั้งๆ ที่ไม่มีมูลของความเป็นจริงอยู่เลย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำเสนอข่าวเองอาจเกิดอารมณ์หรืออคติชี้นำไปแล้วในฐานะเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีต่อ “ข่าว” และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะผิดจรรยาบรรณของสถาบันสื่อมวลชนได้ง่าย จึงเสนอให้ทุกๆ ฝ่ายช่วยเหลือกันประคับประคองให้สังคมไทยผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคแห่งความขัดแย้งในหมู่ประชาชนผ่าน “ข่าวจริง” มากกว่า “ข่าวเทียม” เพราะในเวลานี้ “ข่าวเทียม” กำลังกลายเป็นต้นตอแห่งความขัดแย้งและความไม่เข้าใจกันอยู่ในเวลานี้ จึงหวังว่า ปีหน้านี้ สถาบันสื่อมวลชนจะทำให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ติดตาม “ข่าวจริง” ที่จะทำให้สังคมไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.4 เป็นชาย ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.8 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 34.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 74.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 22.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 4.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.2 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โทร. 027191546—7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ