กรุงเทพฯ--3 ม.ค.--คิธ แอนด์ คิน คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ คอนซัลแตนท์
สนพ. เร่งผลักดันงานวิจัยพลังงานตามนโยบายกระทรวงพลังงาน เผยผลวิจัยพบหญ้าเลี้ยงช้างพันธุ์ “เนเปียร์ปากช่อง 1” เหมาะนำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน หวังให้เป็นวัตถุดิบพลังงานใหม่ในอนาคต
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่ สนพ. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงาน ให้เร่งดำเนินโครงการวิจัยด้านพลังงาน โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยหญ้าเลี้ยงช้างมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ใช้เป็นพลังงานทดแทน อาทิ ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรนั้น
ที่ผ่านมา สนพ. ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดทำ “โครงการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าชนิดต่างๆ ในประเทศไทย” โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 10.7 ล้านบาท เพื่อศึกษาศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าชนิดต่างๆ ในประเทศไทย และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน โดย มช.ได้มีการสำรวจข้อมูลและวิจัยหญ้าจำนวน 20 ชนิดที่มีอยู่ในประเทศ อาทิ หญ้าเลี้ยงช้างพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ พันธุ์เนเปียร์ปากช่อง 1 พันธุ์บาน่า รวมถึง หญ้าขน หญ้าแฝก เพื่อศึกษาศักยภาพและสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตก๊าซชีวภาพ
ผลการวิจัยพบว่า หญ้าเลี้ยงช้างพันธุ์เนเปียร์ปากช่อง 1 ที่ปัจจุบันนิยมนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์นั้น มีผลผลิตต่อไร่สูงสุด โดยมีผลผลิตประมาณ 70 — 80 ตันสด/ไร่/ปี ซึ่งมากกว่าหญ้าชนิดอื่นเกือบ 7 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่ามีอัตราการผลิตก๊าซมีเทนสูงกว่าหญ้าชนิดอื่น โดยมีอัตราการผลิตก๊าซชีวภาพประมาณ 6,860 — 7,840 ลบ.ม./ไร่/ปี สามารถผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ได้ประมาณ 3,118 - 3,563 กก./ปี เหมาะสมต่อการนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนมากกว่าหญ้าชนิดอื่นๆ
“นอกจาก สนพ. จะมอบหมายให้ มช. วิจัยหญ้าชนิดต่างๆ ที่เหมาะสำหรับนำมาผลิตก๊าซชีวภาพแล้ว ยังได้มอบหมายให้ มช.ศึกษาและวิจัยนำก๊าซชีวภาพที่ได้จากฟาร์มปศุสัตว์มาผลิตเป็นก๊าซ CBG ซึ่งสามารถใช้ทดแทนก๊าซ NGV สำหรับยานยนต์ ทั้งนี้ จากการวิจัยพบว่า ก๊าซ CBG ที่ได้มีคุณสมบัติเทียบเท่า NGV สำหรับยานยนต์ตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน โดยปัจจุบัน มช. ยังทำการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาพลังงานก๊าซชีวภาพไปสู่พลังงานทดแทนในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้ทันต่อความต้องการการใช้พลังงานในรูปแบบใหม่และเกิดประโยชน์สูงสุด” ผอ.สนพ.กล่าว