ผู้ประกอบการยานยนต์และชิ้นส่วนไทยเดินหน้าขยายการค้าการลงทุนกับ ผู้ผลิตออสเตรเลีย หวังจับมือเป็นพันธมิตรร่วมผลิตรถบุกตลาดโลก

ข่าวทั่วไป Friday October 29, 2004 09:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ผู้ประกอบการยานยนต์และชิ้นส่วนไทยเดินหน้าขยายการค้าการลงทุนกับ ผู้ผลิตออสเตรเลีย หวังจับมือเป็นพันธมิตรร่วมผลิตรถบุกตลาดโลก รับการประกาศลดภาษีรถยนต์ — ชิ้นส่วน ตามกรอบ FTA ที่เริ่มบังคับใช้ 1 มกราคม 2548 นี้
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดูแลงาน คณะกรรมการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจยานยนต์และชิ้นส่วน สภาอุตสาหกรรมฯ เปิดเผยถึงผลความร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) โดยนางชุตาภรณ์ ลัมพสาระ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาห-กรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดย ดร.อรรชกา บริมเบิล ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนัก-งานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสถานทูตไทย ณ กรุง Canberra ประเทศออสเตรเลีย โดยนางสุจิตรา หิรัญพฤกษ์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศออสเตรเลีย ในการจัดกิจกรรม Executive Auto Trade Mission นำคณะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถยนต์และร่วมหารือกับผู้แทนระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของออสเตรเลีย อันได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รัฐ South Australia และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการส่งออก รัฐ Victoria ณ เมือง Melbourne และ Adelaide ประเทศ ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 2—8 ตุลาคม 2547 ที่ผ่านมาว่า หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าวนี้ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ของไทย นำผลการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย — ออสเตรเลีย ที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2547 และมีผลให้อุตสาห-กรรมยานยนต์ทั้ง 2 ประเทศ ปรับลดอัตราภาษีศุลกากรรถยนต์ประเภทต่างๆ ลง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 นี้ มาใช้เป็นโอกาสในการขยายความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของออสเตรเลียในด้านต่างๆ เพื่อผลักดันให้ไทยและออสเตรเลียก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของเอเซียสู่ตลาดโลก
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและออสเตรเลีย ตามกรอบข้อตกลงการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย — ออสเตรเลีย มีดังนี้ ฝ่ายไทย จะปรับลดภาษีศุลกากรรถยนต์นั่ง ที่มีความจุ มากกว่า 3,000 CC จาก 80% เป็น 30% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 และทยอยลดลงปีละ 6% จนเป็น 0% ในปี 2553 รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ลดภาษีจาก 40% เป็น 0% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 ชิ้นส่วนยานยนต์ ลดภาษีจาก 30% เป็น 20% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 และทยอยลดจนเหลือ 0% ในปี 2553 เครื่องยนต์ ลดภาษีจาก 30% เป็น 15% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 และทยอยลดจนเหลือ 0% ในปี 2553 ชิ้นส่วนยานยนต์อื่นๆ ที่มีภาษีน้อยกว่า 20% ลดเป็น 0% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 ขณะที่ออสเตรเลียปรับลดภาษีศุลกากรรถยนต์นั่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ลงจาก 15% และ 5% เหลือ 0% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 ชิ้นส่วนทั่วไป ที่มีอัตราภาษี 5 — 15% ลดเหลือ 5% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 และทยอยลดจนเหลือ 0% ในปี 2552 ชิ้นส่วนพิเศษ ที่มีอัตราภาษี 5 — 15 % ลดเหลือ 0% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ของไทยเห็นว่า การปรับลดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของทั้ง 2 ประเทศ ในครั้งนี้ จะส่งผลให้การค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ระหว่างไทยและออสเตรเลียขยายตัวเพิ่มยิ่งขึ้น เนื่องจากรถยนต์ของไทยและออสเตรเลียมีลักษณะการผลิตเป็นรถขับพวงมาลัยขวาเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ การที่ไทยกับออสเตรเลียมีศักยภาพในการผลิตรถยนต์ต่างประเภทกัน โดยไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และรถยนต์ขนาดเล็ก ขณะที่ออสเตรเลียมีศักยภาพในการผลิตรถขนาดกลางและขนาดใหญ่ นอกจากจะทำให้ไทยสามารถส่งออกรถยนต์ในรุ่นดังกล่าวไปขายยังออสเตรเลียได้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผู้ซื้อไทย สามารถซื้อรถขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลงแล้ว ยังส่งผลดีต่อเนื่องยังอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ จะช่วยให้ต้นทุนต่อหน่วยในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ ต่ำลง (Economy of scale) ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ของทั้ง 2 ประเทศลดลงตาม นอกจากนี้ ปริมาณการค้าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ จะนำมาสู่การประสานความร่วมมือเพื่อถ่ายทอด แลกเปลี่ยน และร่วมกันพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ของกันและกัน เช่น การออกแบบทางวิศวกรรม การทำ mold และ die การฉีดพลาสติก รวมทั้ง เป็นปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ และธุรกิจบริการหลังการขายเพื่อรองรับตลาดรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้ง 2 ประเทศ ในที่สุด
สำหรับกิจกรรมสำคัญใน Executive Auto Trade Mission ครั้งนี้ นอกจากคณะผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานรถยนต์รายใหญ่ของออสเตรเลีย 3 ราย ได้แก่ Mitsubishi Toyota และ Ford และโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 2 แห่ง คือ บริษัท Schefenacker ผู้ผลิตกระจกมองข้าง อุปกรณ์ไฟแสงสว่าง และเครื่องเสียงรถยนต์ และบริษัท Pikington ผู้ผลิตกระจกบังลม กระจกตัวรถแล้ว คณะ ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ได้เข้าร่วมงานสัมมนา Thai — Australia Trade and Partnership ซึ่งสถานทูตไทย ณ กรุง Canberra และสภาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ของออสเตรเลีย (The Federation of Automotive Products Manufacturers: FAPM) ได้ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้นักธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศ ได้พบปะเจรจาขยายลู่ทางการลงทุนและเพิ่มพูนปริมาณการค้าระหว่างกัน ซึ่งในการสัมมนาดังกล่าว ไทยได้นำเสนอศักยภาพและเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาห-กรรมยานยนต์ของไทยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการส่งออกและ นักธุรกิจของออสเตรเลีย โดยในปัจจุบัน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพการแข่งขันสูง จากการจัดลำดับในปี 2547 ยอดการผลิตของไทย อยู่อันดับที่ 15 ของโลก ขณะที่ยอดขายอยู่อันดับที่ 18 ของโลก โดยมีกำลังการผลิต ในปี 2547 อยู่ที่ 1,208,300 คัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 440,200 คัน รถปิกอัพ ขนาด 1 ตัน 658,700 คัน และรถเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 109,400 คัน สำหรับเป้าหมายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มุ่งจะพัฒนาสู่การเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพขนาด 1 ตัน รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของภูมิภาคเอเชีย โดยมีเป้าหมายระยะสั้น (ปี 2546 — 2549) คือ เพิ่มสัดส่วนการส่งออกรถทั้ง 3 ประเภท ดังนี้ ขณะที่ยอดขายรถยนต์รวม ในปี 2546 มีมูลค่า 3.75 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการขายในประเทศ 70% ส่งออก 30% ในปี 2549 ได้ตั้งเป้าหมายว่า จะมียอดขาย รถยนต์รวม 5 แสนล้านบาท เป็นการขายในประเทศ 60% และส่งออก 40% ส่วนเป้าหมายของรถจักรยานยนต์ ในปี 2547 คาดว่ามีมูลค่า 6.8 หมื่นล้านบาท เป็นการขายในประเทศ 75% ส่งออก 25% แต่ในปี 2549 ได้ตั้ง เป้าหมายว่า จะมียอดขายรถจักรยานยนต์ 7.6 หมื่นล้านบาท เป็นการขายในประเทศ 72% ส่งออก 28% ส่วนการ ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ปี 2545 มีมูลค่า 8.2 หมื่นล้านบาท ในปี 2549 คาดว่า จะเพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาท โดยมี value added เพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 60% สำหรับเป้าหมายระยะยาว (ปี 2546 — 2553) ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ได้วางเป้าหมายการผลิตรถยนต์อยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก โดยในปี 2553 จะมีการผลิตรถยนต์ 1.8 ล้านคัน เป็นการขายในประเทศ 60% ส่งออก 40%
และผลการหารือระหว่างผู้ประกอบการยานยนต์ไทย 15 บริษัท กับนักธุรกิจออสเตรเลีย 40 บริษัท ในงานสัมมนาดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นในลักษณะการพูดคุยกลุ่มย่อยนั้น พบว่า ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยนักธุรกิจออสเตรเลียได้แสดงความสนใจที่จะร่วมทำธุรกิจกับไทยในหลายรูปแบบ เช่น สนใจร่วมทุนในลักษณะ Joint Venture จ้างผลิตและสั่งซื้อสินค้าจากไทย โดยหลายบริษัทกำหนดจะเดินทางมาไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2547 นี้ เพื่อเยี่ยมชมโรงงานและหารือเพื่อวางแนวทางขยายการค้าการลงทุนเพิ่มเติม รวมทั้งสนใจมาลงทุนสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในไทย และเสนอเป็นผู้ทำการตลาดสินค้ายานยนต์ไทยในออสเตรเลีย เป็นต้น ดังนั้น การจัดกิจกรรม Executive Auto Trade Mission ครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นก้าวสู่การสร้างโอกาสทางการค้าและการ ลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ภายใต้กรอบข้อตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย — ออสเตรเลีย ที่จะช่วยขยายการส่งออกสินค้า และส่งเสริมผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยให้ก้าวสู่เวทีการค้าสากล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
แผนกประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1012-3 โทรสาร 0-23451295-9--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ