ข่าวรัฐยืนยันตรึงดีเซลถึงต้นปี 48 และคำสั่งซื้อสินค้าปลายปีที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยดันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายนขยับขึ้นเล็กน้อย

ข่าวทั่วไป Friday October 29, 2004 09:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ข่าวรัฐยืนยันตรึงดีเซลถึงต้นปี 48 และคำสั่งซื้อสินค้าปลายปีที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยดันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายนขยับขึ้นเล็กน้อย แต่ภาคอุตสาหกรรมย้ำยังวิตกปัญหาราคาน้ำมัน ไฟฟ้า วัตถุดิบในอนาคต วอนรัฐคงมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศให้ต่อเนื่อง
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index : TISI) ในเดือนกันยายน 2547 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 422 ตัวอย่าง ครอบคลุมทั้ง 30 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ขยับตัวขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ที่ 102.2 จาก 101.0 ในเดือนสิงหาคม 2547 ที่ผ่านมา สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณ 3 ใน 5 ปัจจัยมีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย คือ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต และต้นทุนการประกอบการ เพิ่มขึ้นจาก 125.5 118.4 และ 47.2 ในเดือนสิงหาคม เป็น 125.8 128.3 และ 51.2 ในเดือนกันยายน 2547 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่น 2 ปัจจัยที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่าดัชนีรวมความเชื่อมั่นโดยรวมต่อยอดขาย และกำไรสุทธิ ลดลงจาก 125.0 และ 115.9 ในเดือนสิงหาคม เป็น 124.6 และ 112.2 ในเดือนกันยายน สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผลการสำรวจค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นเล็กน้อยนั้น เนื่องมาจากในช่วงเดือนกันยายนที่มีการสำรวจ แม้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะยังกังวลกับปัญหาราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้าและราคาวัตถุดิบอื่นๆ ที่มีแนวโน้มจะมีการปรับขึ้นในอนาคต แต่จากการที่หลายอุตสาหกรรมมียอดคำสั่งซื้อสินค้าในช่วงใกล้เทศกาลปลายปีเพิ่มขึ้น และการที่รัฐบาลยืนยันว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลจนถึงต้นปี 2548 ล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้เริ่มปรับแนวทางบริหารจัดการต้นทุนการผลิตสินค้าของตนเองให้สอดรับกับสถานการณ์ทั้งปัจจุบันและในอนาคต และยังได้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อนำเสนอปัญหาและร่วมกันวางแนวทางยกระดับขีดความสามารถให้พร้อมแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้มากยิ่งขึ้น เช่น ผู้ประกอบการภายในอุตสาหกรรมเดียวกันได้รวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับผู้จำหน่ายวัตถุดิบ การออกมาตร-ฐานบังคับสวิตซ์ไฟฟ้าของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) การผลักดันให้ผู้ผลิตมุ่งพัฒนาและเน้นการแข่งขันด้านคุณภาพสินค้ามากกว่าแข่งขันด้านราคา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลคงนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและการลงทุนในประเทศต่อไป เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รณรงค์การท่องเที่ยว จัดโรดโชว์แสดงศักยภาพของสินค้าไทยในตลาดใหม่ๆ
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละปัจจัยที่เหลือ มีค่าต่อไปนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2547 ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อยอดคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศ ยอดขายในต่างประเทศ และสินค้าคงเหลือ เพิ่มขึ้นจาก 124.7 130.2 134.9 และ 117.5 ในเดือนสิงหาคม เป็น 125.7 136.0 138.1 และ 126.1 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อการใช้กำลังการผลิต สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาวะของการประกอบการของกิจการ เพิ่มขึ้นจาก 116.3 114.4 117.5 และ 122.4 ในเดือนสิงหาคม เป็น 116.4 119.8 121.8 และ 124.1 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ ส่วนค่าดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่าดัชนียอดขายโดยรวมในประเทศ ราคาขาย การจ้างงาน และการลงทุนของกิจการท่าน ลดลงจาก 125.3 110.4 106.3 และ 113.7 ในเดือนสิงหาคม เหลือ 124.2 109.5 104.8 และ 109.7 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ เช่นเดียวกับที่ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อสินเชื่อในการประกอบการที่ได้รับ สภาพคล่องของกิจการ ความสามารถในการแข่งขันในประเทศและต่างประเทศ ลดลงจาก 107.0 127.7 108.2 และ 113.4 ในเดือนสิงหาคม เหลือ 105.6 120.6 107.0 และ 110.6ในเดือนกันยายน ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมฯ โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุต-สาหกรรมฯ จำนวน 30 กลุ่ม พบว่า ค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนสิงหาคมกับเดือนกันยายน 2547 มีอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 16 กลุ่มอุตสาหกรรม ลดลง 14 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งในกลุ่มที่ปรับตัวลดลง มี 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ลดลงจาก 90.0 เป็น 74.3 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ลดลงจาก 118.6 เป็น 106.4 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงจาก 115.7 เป็น 100.0 อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ลดลงจาก 126.3 เหลือ 114.3 อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง ลดลงจาก 115.7 เหลือ 98.6 อุตสาหกรรมเหล็ก ลดลงจาก 101.4 เหลือ 89.3 อุตสาหกรรมอาหาร ลดลงจาก 110.0 เหลือ 85.7 และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ลดลงจาก 126.7 เหลือ 104.3 ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีได้ปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนนี้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก ปัญหาราคาน้ำมัน ไฟฟ้าและวัตถุดิบได้ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งในบางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ไม่คงที่ และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกัน กลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น มี 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ เพิ่มขึ้นจาก 87.1 เป็น 101.4 อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เพิ่มขึ้นจาก 62.9 เป็น 87.1 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เพิ่มขึ้นจาก 75.7 เป็น 85.7 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เพิ่มขึ้นจาก 78.0 เป็น 90.0 อุตสาหกรรมเซรามิก เพิ่มขึ้นจาก 124.0 เป็น 134.7 อุตสาห-กรรมปูนซิเมนต์ เพิ่มขึ้นจาก 90.9 เป็น 115.7 อุตสาหกรรมพลาสติก เพิ่มขึ้นจาก 92.9 เป็น 107.1 อุตสาหกรรมรองเท้า เพิ่มขึ้นจาก 81.4 เป็น 99.8 อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นจาก 102.9 เป็น 113.4 อุตสาห-กรรมอลูมิเนียม เพิ่มขึ้นจาก 91.4 เป็น 105.7 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นจาก 81.4 เป็น 105.7 โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนนั้น เกิดจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าในช่วงปลายปีเพิ่มขึ้น และบางอุตสาหกรรมได้มีการปรับราคาสินค้าให้สอดรับกับต้นทุนการผลิตและราคาในตลาดโลก จึงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ในด้านของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกิจการในแต่ละอุตสาหกรรม ผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ราคาน้ำมันทั้งดีเซลและเบนซินในตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องนั้น จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อกิจการอย่างชัดเจนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เนื่องจากจะกระทบต่อกำลังซื้อสินค้าของผู้บริโภคโดยตรง และยังส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้า ค่าขนส่ง และค่าบริการสาธารณูปโภคโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น จนต้องปรับราคาจำหน่ายสินค้าขึ้นในอนาคต ซึ่งราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นปัจจัยให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อสินค้าได้ นอกจากนี้ ผลการสำรวจในเดือนกันยายน เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ในปัจจุบันผู้ประกอบการมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำนั้น เป็นปัจจัยบวกที่สร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ แต่จากการที่ธนาคารบางแห่งได้เป็นผู้นำประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเล็กน้อยในช่วงสภาวะการณ์ที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนสินค้าหลายด้านนั้น ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการในบางอุตสาหกรรมเริ่มแสดงความวิตกกังวลต่ออัตราดอกเบี้ย ว่าอาจจะเป็นอีกปัจจัยลบที่สร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในอนาคตได้
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการพบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 — 49 คน มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จาก 90.9 เป็น 98.2 ในเดือนกันยายน ส่วนอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 — 199 คน มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบอุตสาหกรรม ลดลงจาก 106.8 เป็น 100.6 ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนคงที่เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ระดับ 110.5 โดยผู้ประกอบการทั้ง 3 ขนาด มีความกังวลใจในเรื่องต้นทุนการผลิตสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน แต่เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อมมีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้รวดเร็วสอดรับกับสถานการณ์ ขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาห-กรรมขนาดใหญ่มีอำนาจต่อรองในการจัดซื้อวัตถุดิบมากกว่า จึงทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อมและขนาดใหญ่คงมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับปรับตัวขึ้นเล็กน้อยถึงทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
งานประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1013 , 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1295-9--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ