กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--ททท.
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมระดับนานาชาติ 2 งานในช่วงเวลาเดียวกัน 26-29 พฤศจิกายนศกนี้ โดยผนวกการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ครั้งที่ 6 และ การประชุมแซกโซโฟนนานาชาติแห่งประเทศไทยที่เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียอาค์เนย์ นับเป็นการเพิ่มศักยภาพการจัดกิจกรรมให้สามารถเสนอขายได้ในระดับนานาชาติ ทั้งยังเป็นการพัฒนารูปแบบกิจกรรมทางการท่องเที่ยวให้มีความน่าสนใจ เกิดการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศ การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ครั้งที่ 6 หรือ The Sixth Asian Symphonic Band Competition เกิดขึ้นจากการตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของวงดุริยางค์เครื่องเป่าที่มีการจัดประกวดขึ้นในประเทศไทย ให้มีความเป็นสากล และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นการจัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นดุริยกวี เป็นอัครศิลปิน และทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยและชาวโลก โดยรูปแบบการจัดประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภท A ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมเงินรางวัล 1,400,000 บาท และประเภท B ชิงถ้วยมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเงินรางวัล 90,000 บาท ในปีนี้มีวงดุริยางค์เข้าร่วมประกวดในประเภท A จำนวน 22 วง โดยเป็นวงดุริยางค์ต่างประเทศ 8 วง จากประเทศ มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง และประเทศไทย 13 วง ประเภท B มีวงดุริยางค์เข้าร่วมประกวด 28 วง เป็นวงดุริยางค์จากต่างประเทศ 2 วง คือ จากประเทศฮ่องกง และวงดุริยางค์จากประเทศไทย 26 วง ซึ่งแต่ละวงจะบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงประจำชาติ และเพลงเลือกอื่นๆ ทั้งนี้การประกวดรอบ แรกจัดขึ้นในวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2547 ตั้งแต่เวลา 9.00 - 18.00 น ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถนนรัชดาภิเษก จากนั้นจะเป็นรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นอกจากการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่า (โยธวาทิต) ครั้งนี้แล้ว ทาง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ททท. ยังได้กำหนดจัดประชุมแซกโซโฟนนานาชาติแห่งประเทศไทย (Thailand International Saxophone Conference - TISC) ตั้งแต่วันที่ 26-29 พฤศจิกายนในช่วงเดียวกัน ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรม เดอะ แกรนด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีนักแซกโซโฟนรับเชิญหลายท่านจาก 20 ประเทศ เช่น Arno Bornkamp, Joe Lulloff, Vince Gnojek, Dan Goble, John Sampen, William Street, Daniel Kientzy, Mark Watters, Ofer Peled, Eric Nestler, Roger Greenberg, Jean-Marie Londeix, Shyen Lee มาร่วมในแต่ละกิจกรรม อาทิ การเป็นวิทยากรในห้องเรียน การอบรม เวิร์คช็อปเกี่ยวกับ การพัฒนาฝีมือและเทคนิคสำหรับการบรรเลงแซกโซโฟน ทั้งแนวคลาสสิก และแจ๊ส รวมถึงการแสดงเดี่ยวของศิลปิน โดยเปิดรับบุคคลในวงการดนตรี และผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุม โดยมีค่าใช้จ่ายสำหรับบุคคลทั่วไป 1,000 บาท นักเรียน นักศึกษา 800 บาท ตลอดทั้ง 4 วัน หรือเลือกอบรมเพียงวันเดียว บุคคลทั่วไป 500 บาท นักเรียน นักศึกษา 300 บาท และบริเวณรอบงาน มีการออกร้านจำหน่ายแซกโซโฟนและอุปกรณ์อื่น ๆ รวมทั้งการซ่อมและตรวจเช็คสภาพเค รื่องดนตรีจากผู้เชี่ยวชาญ กิจกรรมสำคัญของงานประชุมแซกโซโฟนนานาชาติแห่งประเทศไทย คือ การแสดงคอนเสิร์ต แบบ ออเครสต้า ด้วยนักแซกโซโฟน จำนวน 79 คน พร้อมศิลปินรับเชิญ นักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดและนักแซกโซโฟน นำเสนอผลงาน Concerto for Baritone Saxophone และผลงานการประพันธ์เพลงร่วมสมัยครั้งแรกของโลก (World premiere compositions) โดย Mark Watters จีรเดช เศรษฐบุตร พลวิทย์ โอภาภัณฑ์ และKlause Ager โดย Roger Greenberg เทเนอร์ แซ็กโซโฟน Mark Watters บาริโทน แซกโซโฟน Shuichi Komiyama ผู้อำนวยเพลง บรรเลงร่วมกับวงดุริยางค์เครื่องเป่า มหาวิทยาลัยมหิดล โดยกำหนดแสดง ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 29 พฤศจิกายน 2547 เวลา 20.00 น. ราคาจำหน่ายบัตร บุคคลทั่วไป 500 บาท นักเรียน นักศึกษา 300 บาท รายละเอียดดูได้จากเว็บไซต์ www.music.mahidol.ac.thtisc สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานประกวดดุริยางค์เครื่องเป่าฯ ได้ที่ งานกิจกรรมพิเศษ ภาควิชาดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-28002525 ต่อ 107-109, 124 และสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานประชุมแซกโซโฟนนานาชาติฯ ได้ที่ คุณศิริกร อัตไพบูลย์ โทร.0-28002525 ต่อ 207
แหล่งข่าว งานกิจกรรมพิเศษ ภาควิชาดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Web Site :ข่าวประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
http://www.tat.or.th/pr--จบ--