ผลสำรวจความพร้อมระบบขนส่งสินค้าจังหวัดภาคใต้ พบต้นทุนสูงกว่าเพื่อนบ้าน เหตุจากระบบขนส่งไทยไม่ครบวงจร

ข่าวทั่วไป Friday October 29, 2004 10:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ผลสำรวจความพร้อมระบบขนส่งสินค้าจังหวัดภาคใต้ พบต้นทุนสูงกว่าเพื่อนบ้าน เหตุจากระบบขนส่งไทยไม่ครบวงจร ขาดท่าเรือน้ำลึกฝั่งตะวันตก ขนส่งระบบรางขาดประสิทธิภาพ ซ้ำสถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่สงบ แนะรัฐเร่งพัฒนาการขนส่งทั้งระบบ ควบคู่กับเดินหน้าตั้งศูนย์กระจายสินค้ารองรับอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา และจับมือมาเลเซียดันไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบผลิตอาหารฮาลาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค
นายธนิต โสรัตน์ กรรมการในคณะกรรมการเศรษฐกิจสภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาอุตสาห-กรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสรุปการสัมมนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน Logistics และผลสำรวจศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของจังหวัดภาคใต้ และประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สภาอุตสาหกรรมฯ จัดขึ้นร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคงแห่งชาติ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทยว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่เห็นว่ากลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการในจังหวัดภาคใต้ ต้องเริ่มจากการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในภูมิภาคอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบขนส่งทางทะเลและระบบราง ซึ่งปัจจุบันพบว่า ไทยยังไม่มีท่าเรือพาณิชย์น้ำลึกขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก โดยท่าเรือที่มีอยู่ ณ จ.ระนอง และท่าเรือที่อยู่ระหว่างก่อสร้างที่ อ.ปากบาลา จ.สตูล มีขนาดเล็กไม่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าจากเรือที่มี Feeder ได้ ขณะที่ท่าเรือบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกยังมีข้อจำกัดหลายด้าน ทำให้ไม่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น ยังไม่มีโครงการที่จะพัฒนาระบบขนส่งสินค้าจากท่าเรือขนอม จ.นครศรีธรรมราช และท่าเรือสงขลา ให้เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบัง หรือกับท่าเรือด้านชายฝั่งทะเลตะวันตก นอกจากนี้ ในส่วนของท่าเรือสงขลา ยังประสบปัญหาร่องน้ำตื้นเขินจากตะกอนที่เกิดจากการทับถมของทะเลสาบสงขลา ทำให้เรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเทียบท่าได้ สำหรับการขนส่งระบบรางในภูมิภาค แม้ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยจะมีโครงการพัฒนา ICD (Inland Container Depot) เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมตู้สินค้า ที่ อ.ทุ่งโพธิ์ จ.สุราษฎร์ธานี เตรียมรองรับความต้องการของภาคเอกชนที่เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์การกระจายสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาขนส่งสินค้าทางรถไฟมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าด้วยทางรถยนต์ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้สูงถึง 90% แต่ภาคเอกชนเห็นว่า โครงการดังกล่าวจะจูงใจให้ผู้ประกอบการเพิ่มสัดส่วนการใช้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟได้ ต่อเมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถควบคุมการเดินรถให้ตรงเวลามากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (Just In Time) นอกจากนี้ ปัญหาที่ภาคเอกชนเห็นว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าการลงทุนและการขนส่งสินค้าในจังหวัดภาคใต้ คือ สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ที่ยังไม่คลี่-คลายในขณะนี้ ได้ทำลายบรรยายการลงทุนและส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในภูมิภาคเป็นอย่างมาก ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อเรียกความมั่นใจของนักลงทุนกลับมาโดยเร็ว
สำหรับผลการศึกษาศักยภาพการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย ด้านระบบคมนาคมขนส่ง พบว่าระบบขนส่งทางรถยนต์ของมาเลเซียมีการพัฒนาไปมาก โดยสภาพถนนจากด่านสะเดา ประเทศไทย ไปกัวลาลัมเปอร์และต่อไปจนถึงสิงคโปร์ เป็นถนนมอเตอร์เวย์ 4 เลน ไม่มีไฟแดงและไม่มีสี่แยก นอกจากนี้มีการจัดระเบียบรถบรรทุก โดยมีป้ายสัญลักษณ์แสดงถึงประเภทสินค้าและประเภทของรถบรรทุกอย่างชัดเจน รวมถึงมีการควบคุมความเร็ว ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้ต้นทุนด้านขนส่งของมาเลเซียต่ำกว่าของไทย ด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทย — มาเลเซีย ในปี 2546 มีมูลค่า 38.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2547 นี้ จะมีมูลค่าถึง 52 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของมาเลเซีย ทั้งนี้ มาเลเซียมีจุดอ่อนที่การขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากมีประชากรประมาณ 24 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าประเทศไทยมาก แต่รายได้ต่อประชา-กรของมาเลเซียอยู่ที่ประมาณ 4,000 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ของไทยอยู่ที่ประมาณ 2,000 เหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบันมาเลเซียหันมาให้ความสนใจการผลิตแบบ Skill Technology Innovation: STI มากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยางพารา มาเลเซียได้เปลี่ยนจากการเป็นผู้ผลิตมาเป็นผู้นำเข้ายางข้นรายใหญ่จากไทย และส่งออกเครื่องจักรผลิตยางพารา แทน นอกจากนี้ มาเลเซียยังให้ความสนใจในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โดยจะตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริเวณแนวตะเข็บชายแดนฝั่งมาเลเซีย ที่เรียกว่า “ดูเรียนบุดง” และ “โกตาบูตา” ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ อ.นาทวี จ.สงขลา ให้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมส่งออกอาหารฮาลาล โดยจะนำเข้าวัตถุดิบและแรงงานจาก จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา ของไทย ซึ่งผู้ประกอบการมองว่า ระบบขนส่งสินค้าของมาเลเซียในพื้นที่ดังกล่าว มีศักยภาพเอื้อต่อการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไปยังตลาดมุสลิมทางประเทศตะวันออกกลางเป็นอันมาก โดยระยะทางจากนิคม — ท่าเรือปีนัง มีระยะทาง 200 กม. หลังจากนั้นสามารถขนถ่ายสินค้าไปยังเรือ Feeder เพื่อไปที่ท่าเรือ Port Klang ทางชายฝั่งตะวันตก และส่งออกไปยังประเทศแถบตะวันออกกลางได้อย่างสะดวก และมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่าไทย ดังนั้น สำหรับประเทศไทยที่หลายจังหวัดในภาคใต้ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมการผลิตอาหารฮาลาลเป็น 1 ในยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาจังหวัด จึงควรเร่งศึกษาข้อได้เปรียบเสียเปรียบของการเข้าเป็นพันธมิตรร่วมกับมาเลเซียในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล หรืออุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น การทำนาข้าวซึ่งมาเลเซียต้องการให้มีการพัฒนาในรัฐซาราวัก เพื่อให้ผู้ประกอบการ เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ของไทยได้ประโยชน์จากความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นนี้อย่างเท่าเทียมและแท้จริง
ความคิดเห็นเรื่อง หลักเกณฑ์การใช้บัตรการบินไทย ของรองประธานสภาอุตสาหกรรม คุณเปล่งศักดิ์
1. ให้ใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานประชาสัมพันธ์เป็นหลัก เช่น Press Tour, อบรมโฆษก
2. กลุ่มอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สามารถใช้บัตรดังกล่าวได้ ในกรณีที่กรรมการเดินทางมาร่วมกิจกรรมของงานประชาสัมพันธ์
3. ให้ใช้ในกิจกรรมของประธานสภาอุตสาหกรรมฯ และกองเลขาธิการ
4. ให้ใช้เฉพาะการบินในประเทศ
5. สิทธิ์ในการตัดสินใจเพื่ออนุญาตให้ใช้ตั๋วดังกล่าว ให้อยู่ที่ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ รองประธานและรองเลขาธิการ ซึ่งดูแลสายงานประชาสัมพันธ์ และเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม
หมายเหตุ - หากจะหมดสัญญาแล้วยังใช้สิทธิ์บัตรโดยสารดังกล่าวไม่หมด สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมของกลุ่มอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หรือใช้ในการบินไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ หรือในกิจกรรมอื่นๆ ตามที่ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เห็นสมควร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
แผนกประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1295-99--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ