กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ 31 ธ.ค. 55 - 4 ม.ค. 56 น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า (W-O-W) อยู่ที่ระดับ อยู่ที่ 107.61 น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 111.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 92.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันน้ำมันเบนซินออคเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 122.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 125.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- นักลงทุนทั่วโลกคลายกังวล หลังจากสหรัฐฯ สามารถลดผลกระทบจากวิกฤติ “หน้าผาทางการคลัง” หรือ Fiscal Cliff โดยรัฐสภา (Congress) ลงมติผ่านร่างกฎหมาย ซึ่งรักษาอัตราภาษีสำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 450,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ให้คงอยู่ในระดับต่ำ ด้วยคะแนน 257 ต่อ 167 เสียง ในวันที่ 1 ม.ค. 56 และประธานาธิบดี นาย Barack Obama ลงนามประกาศใช้เป็นกฎหมายในวันที่ 2 ม.ค. 56
- Dow Jones Newswires รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ในเดือน ธ.ค. 55 ลดลง 1.1 แสนบาร์เรลต่อวัน จากก่อนหน้า อยู่ที่ 30.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าระดับ 31 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นครั้งแรกตั้งแต่ ต.ค. 54
- สำนักสารสนเทศพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration: EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ธ.ค. 55 ลดลง 11.1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 359.9 ล้านบาร์เรล เนื่องจากนำเข้าน้ำมันดิบต่ำสุดตั้งแต่ พ.ย. 45 อยู่ที่ 7.1 ล้านบาร์เรล
- โรงกลั่น Port Arthur ในรัฐ Texas ของสหรัฐฯ กลับมาดำเนินการหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (Crude Distillation Unit: CDU) ขนาด 3.25 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 30 วัน หลังซ่อมแซมแล้วเสร็จ ทั้งนี้ หากประสบความสำเร็จจะเริ่มกลั่นที่ระดับ 2.4 แสนบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- บันทึกการประชุมนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) เมื่อวันที่ 11-12 ธ.ค. 55 รายงานสมาชิกบางส่วนกังวลต่อนโยบายการผ่อนปรนเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) ทำให้บัญชีงบดุลของ Fed เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงิน และเห็นควรให้ชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในปี 56 นี้
- กระทรวงพลังงานรัสเซีย แถลงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในปี 55 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1% จากปีก่อนหน้า อยู่ที 10.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 1 ของโลก
- โคลัมเบียประกาศบรรลุเป้าหมายปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่กำหนดไว้ที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยล่าสุดผลิต 1.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้โคลัมเบีย ผู้ผลิตอันดับ 4 ในกลุ่มลาตินอเมริกา ก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 20 ประเทศในโลกที่ผลิตน้ำมันเกิน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี 56 นี้มีแผนจะผลิต 1.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI จะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 107-114 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 91- 97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ โดย EIA รายงานสำรองน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในสัปดาห์สุดท้ายของปี 55 ลดลงต่ำสุดในรอบกว่าทศวรรษ ตั้งแต่ปี 44 และท่อ Seaway ในสหรัฐฯ ซึ่งขนถ่ายน้ำมันดิบจากเมือง Cushing รัฐ Oklahoma มายังโรงกลั่นในแถบชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก มีแผนเพิ่มปริมาณการขนส่งจาก 1.5 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ภายในสัปดาห์นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะทำให้ราคา WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้น และสะท้อนต่อภาวะตลาดน้ำมันโลกมากขึ้น กอปรกับ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังโอมาน นาย Darwish al-Balushi ต้องการให้ราคาน้ำมันดิบเป้าหมายเพิ่มขึ้น 21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 104 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพื่อให้งบประมาณประเทศสมดุล อย่างไรก็ตาม คาดว่าภูมิอากาศสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค. 56 อุณหภูมิจะสูงกว่าปกติ ซึ่งจะกดดันความต้องการใช้เชื้อเพลิงเพื่อทำความอบอุ่น และนักวิเคราะห์ของ บ. Credit Suisse ปรับลดคาดการณ์ราคาเฉลี่ย WTI ในปี 56 ลง 3.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 102.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่คงคาดการณ์ราคาเฉลี่ย Brent ที่ 115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล