มูลนิธิสร้างรอยยิ้มเติบโตอย่างยั่งยืนสรุปผลงาน มอบ 7,000 รอยยิ้มสู่เด็กไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday January 9, 2013 11:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย (Operation Smile Thailand) มอบการผ่าตัดรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ให้กับเด็กด้อยโอกาสในประเทศไทยมาแล้วกว่า 7,000 ราย จาก 107 โครงการ 25 จังหวัดทั่วประเทศ ผู้สนใจร่วมบริจาคสร้างรอยยิ้ม สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย หมายเลขโทรศัพท์ 02 656 1992 นับตั้งแต่การออกหน่วยแพทย์อาสาสมัครเคลื่อนที่ของมูลนิธิสร้างรอยยิ้มสากลครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2540 รวมมีการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยมาแล้วทั้งสิ้น 107 โครงการ รวมผ่าตัดแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ให้กับเด็กไทยทั่วประเทศมาแล้วกว่า 7,000 ราย มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย จดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2544 วางนโยบายที่มุ่งพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งเพิ่มศักยภาพการรักษาและมอบชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยในประเทศไทยให้ได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2556 มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย กำหนดเป้าหมายรักษาผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ให้ได้ทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 900 ราย จากสถิติพบว่าในเด็กแรกเกิดทุกๆ 500 คน จะมีเด็ก 1 คนที่เกิดมาพร้อมกับภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ซึ่งโดยเฉลี่ยจะมีเด็ก 2,000 — 3,000 รายต่อปี ที่เป็นโรคนี้ ยังไม่รวมถึงชาวเขา หรือผู้ลี้ภัยที่ยังไม่ทราบจำนวนแน่นอน เด็กที่เป็นโรคนี้จะไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ซึ่งจะสงผลให้เกิดโรคขาดสารอาหาร มักมีความพิการทางหู มีปัญหาเกี่ยวกับช่องปากรวมไปถึงโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ประสบปัญหากับพัฒนาการทางการพูดและการออกเสียง มีผู้ป่วยเด็กปากแหว่งเพดานโหว่จะนวนมากที่เสียชีวิตก่อนที่จะมีอายุครบหนึ่งปีจากการขาดสารอาหาร ตลอด 15 ปี นับจากการออกหน่วยแพทย์อาสาครั้งแรกในประเทศไทย มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ตั้งปณิธานพัฒนาศักยภาพเพื่อมอบชีวิตใหม่ สุขภาพปกติ และอนาคตที่ดีขึ้นให้กับเด็กยากไร้ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่มาตลอด คุณทัตพิชา เติมถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารพัฒนาแหล่งทุน มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการที่ผ่านมาว่า “มูลนิธิสร้างรอยยิ้มสากลระดมบุคลากรแพทย์อาสาสมัครจากต่างประเทศเข้ามาทำการผ่าตัดรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ให้แก่เด็กยากไร้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2540 จากนั้นก็มีการจัดหน่วยแพทย์อาสาสมัครเคลื่อนที่ลงพื้นที่ในประเทศไทยเป็นประจำตลอดมา จนกระทั่งมีการก่อตั้งมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย อย่างเป็นทางการในภายหลังและได้รับการจดทะเบียนขึ้นเป็นองค์กรการกุศลในปี พ.ศ. 2544 จวบจนถึงปัจจุบัน มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย ดำเนินงานรักษาผู้ป่วยเด็กด้อยโอกาสที่เกิดมาพร้อมภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ หรือมีความพิการผิดปกติบนใบหน้าประเภทอื่นๆ มาแล้วทั้งสิ้น 107 โครงการ มีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดมอบรอยยิ้มและชีวิตใหม่มาแล้วกว่า 7,000 ราย เราคำนึงถึงการรักษาคนไข้ได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมเป็นสำคัญ เราจึงออกแบบโครงการผ่าตัดแบบต่อเนื่องไม่จำกัดระยะเวลาเพื่อรองรับความต้องการในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยให้ได้มากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยจึงสามารถเข้ารับการรักษาในช่วงเวลาที่สะดวก เช่น ปิดเทอม หรือ หลังฤดูเก็บเกี่ยวของผู้ปกครอง โดยโครงการประเภทนี้เปิดเพิ่มเติมจากการออกหน่วยแพทย์อาสาสมัครเคลื่อนที่ซึ่งจะมีเวลาให้การรักษาจำกัดเพียงแค่หนึ่งสัปดาห์ต่อการลงพื้นที่หนึ่งครั้ง การเปิดโครงการแบบต่อเนื่องไม่จำกัดระยะเวลาจึงทำให้เรามอบการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยได้ในจำนวนมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเรายังดำเนินการขยายพื้นที่เปิดโครงการกับโรงพยาบาลต่างๆ มาโดยตลอดเพื่อให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย จึงทำให้ผู้ป่วยยากไร้ในพื้นที่ห่างไกลได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้เปิดโครงการร่วมกับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง” คุณทัตพิชา เติมถาวร กล่าวเพิ่มเติมว่า “เพื่อให้คนไข้ของเราได้รับการรักษาที่ดีที่สุดและปลอดภัยอย่างสูงสุด มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ยังวางรูปแบบในการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก มีการเก็บข้อมูลการรักษาพยาบาลของคนไข้ในโครงการของมูลนิธิสร้างรอยยิ้มจากทั่วโลกเพื่อนำไปใช้ศึกษาวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ด้านการป้องกันและรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และนำองค์ความรู้นั้นมาเผยแพร่พัฒนาให้กับคณะแพทย์อาสาสมัครในเครือข่ายของมูลนิธิฯ มีการจัดสัมมนานานาชาติ มีการรวบรวมองค์ความรู้จากสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องมาจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยให้แก่บุคลากรแพทย์และพยาบาลอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการกับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม โดยในปีนี้ มูลนิธิฯ ได้จัดการฝึกอบรมปฏิบัติการกู้ชีพขั้นพื้นฐานจนถึงการอบรมชั้นสูงให้กับคณะแพทย์และพยาบาลทั่วประเทศ จำนวน 26 ท่าน โดยมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับสมาคมแพทย์โรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) จัดโครงการฝึกอบรมดังกล่าวเพื่อสร้างประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทย มุ่งต่อยอดให้การรักษาผู้ป่วยขยายผลไปสู่การรักษาพยาบาลที่ให้ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยได้อย่างสูงสุด เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับวงการแพทย์ไทย” คุณทัตพิชา เติมถาวร กล่าวถึงนโยบายด้านการพัฒนาเยาวชนให้เป็นกลไกสำคัญในการสร้างการรับรู้ และปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสังคมว่า “มูลนิธิสร้างรอยยิ้มมองว่าเยาวชนรุ่นใหม่สามารถเป็นกำลังสำคัญในการสร้างการรับรู้ให้กับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และเป็นกระบอกเสียงบอกต่อถึงภาวะอันตรายของอาการปากแหว่งเพดานโหว่ให้สังคมได้ช่วยกันดูแล และยังเป็นตัวกลางสำคัญในการขอรับความร่วมมือเพื่อรักษาคนไข้เด็กด้อยโอกาส มูลนิธิสร้างรอยยิ้มจึงวางรากฐานในการพัฒนาเยาวชน เพื่อปลูกจิตสำนึกในการให้คืนกลับสู่สังคมไทย โดยร่วมมือกับโรงเรียน 8 แห่ง จัดตั้งชมรม และดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ถึงคนไข้ยากไร้ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ โดยนักเรียนอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการจะมีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ตลอดปี เช่น จัดคอนเสิร์ต จัดแข่งกีฬา จัดกิจกรรมสัปดาห์แห่งการรับรู้ถึงภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ มีการออกร้าน จัดทำสินค้าเพื่อระดมทุนสนับสนุนการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส เด็กนักเรียนอาสาสมัครของเราจะได้พัฒนาทักษะด้านการจัดการและเพิ่มศักยภาพด้านภาวะความเป็นผู้นำ และยังได้รับรับประสบการณ์จากการออกหน่วยแพทย์อาสาสมัครร่วมกับคณะบุคลากรแพทย์และพยาบาลที่มีประสบการณ์สูงในสาขาอาชีพ นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับสาขาอาชีพด้านการแพทย์ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในการวางแผนอนาคตเพื่อศึกษาต่อของนักเรียนอาสาสมัครของเราอีกด้วย” สำหรับประชาชนที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการบนใบหน้าอื่นๆ อีกทั้งแผลเป็นยึดติด หดรั้งจากไฟไหม้ หรือ นิ้วติด นิ้วเกิน เข้ารับบริการตรวจรักษาและผ่าตัดในโครงการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อผ่านทางโรงพยาบาลได้โดยตรง หรือขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย ผู้สนใจร่วมสร้างรอยยิ้ม สามารถบริจาคเพื่อมอบรอยยิ้มใหม่ให้แก่เด็กยากไร้ผ่านทาง ธนาคารกรุงเทพ ชื่อบัญชี มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม เลขที่บัญชี 1-274-354-222 หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02 656 1992 อีเมล thailand@operationsmile.org และเว็บไซต์ http://thailand.operationsmile.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ