กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--ไอแอมพีอาร์
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ชวนแม่ยุคใหม่ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เผยน้ำนมแม่คือวัคซีนหยดแรกที่สำคัญที่สุด ช่วยลดปัญหาการป่วยและเสียชีวิตจากการติดเชื้อ แนะนมแม่ดีที่สุดสำหรับเด็กดาวน์ซินโดรม และพิการปากแหว่ง-เพดานโหว่ ช่วยกระตุ้นสมองและอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย ให้เกิดพัฒนาการที่ดีอย่างเต็มที่ ทั้งลดปัญหาเศรษฐกิจครอบครัวในระยะยาวได้
แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เผยถึงประโยชน์ของน้ำนมแม่ที่มีมากกว่าสารอาหารว่า น้ำนมแม่ในช่วง 3 วันแรกหลังคลอดหรือที่เรียกว่า “หัวน้ำนม” นั้น เป็นน้ำนมที่มีระดับของสารภูมิคุ้มกัน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และสารที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของทารกที่สูงมาก ซึ่งนมแม่ในช่วงเวลาดังกล่าวเปรียบเสมือนกับเป็น “วัคซีนหยดแรก” ของลูกที่จะช่วยลดปัญหาการป่วย และการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะในสภาวะพิเศษ อาทิ กลุ่มทารกที่เกิดก่อนกำหนด, ทารกแฝด รวมไปถึง ทารกที่มีภาวะลิ้นติด ดาวน์ซินโดรม และพิการปากแหว่ง-เพดานโหว่
“น้ำนมแม่จะช่วยให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนด เกิดการพัฒนาลำไส้และอวัยวะต่างๆ ได้เต็มที่มากขึ้น และช่วยพัฒนาเนื้อเยื่อประสาทของสมองและจอรับภาพ เพิ่มความคมชัดของสายตา ลดความรุนแรงของโรคจอประสาทเสื่อมเรื้อรังในทารกแรกเกิดได้ โดยทารกที่เกิดก่อนกำหนดถ้าได้รับนมแม่ในทุก 10 มิลลิลิตรจะช่วยเพิ่มคะแนนเชาว์ปัญญาได้ถึง 0.53 จุด และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ รวมถึงโรคหลอดเลือดและหัวใจที่เสี่ยงมากขึ้นในทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในกรณีทารกคลอดก่อนกำหนด และทารกแฝด โดยองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้ ได้บรรจุไว้ใน หนังสือ “เรียนรู้นมแม่จากภาพ” (ฉบับภาษาไทย) หรือ The Breastfeeding Atlas Thai Edition ด้วย เพื่อเป็นคู่มือที่จะช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จได้แม้ในสภาวะพิเศษ” แพทย์หญิงศิริพร ระบุ
หนังสือ “เรียนรู้นมแม่จากภาพ” (ฉบับภาษาไทย) หรือ The Breastfeeding Atlas Thai Edition มีเนื้อหาละเอียดครบถ้วนเพียงพอที่จะช่วยให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้แม้ว่าลูกจะเกิดก่อนกำหนด รวมถึงมีคำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการสนับสนุนและช่วยเหลือแม่ที่คลอดก่อนกำหนดในทุกปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) ซึ่งมักจะมีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ปาก ลิ้น และคอ การกินนมแม่นอกจากจะทำให้เด็กได้รับภูมิคุ้มกันและสารอาหารที่มีประโยชน์เหมือนเด็กทากรกปกติแล้ว การช่วยให้ลูกได้ดูดนมแม่จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ กระตุ้นพัฒนาการทางสมอง กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ช่องปาก และลิ้นให้ทำงานประสานกันดีขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการแลบลิ้นออกจากปากและปัญหาการพูดเมื่อโตขึ้น
“ในหนังสือเล่มนี้จะเน้นย้ำว่าเด็กทุกคนในโลกนี้กินนมแม่ได้ แม้แต่เด็กที่มีสภาวะพิเศษ เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ ที่หลายๆ คนอาจจะคิดว่านี้ไม่สามารถดูดนมแม่ได้ก็ยังสามารถมีวิธีกินนมแม่ได้ โดยการดูดนมแม่จากเต้าในเด็กกลุ่มนี้จะช่วยลดการติดเชื้ออักเสบในหูและหูหนวก ลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ประโยชน์อีกด้านหนึ่งจากการโอบกอดและสัมผัสลูกบ่อยๆ ในระหว่างการให้นมลูก จะช่วยเพิ่มการเชื่อมโยงเซลล์สมอง กระตุ้นการพัฒนาการที่ดีขึ้น การใช้ริมฝีปากและลิ้นในการดูดนมจะกระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าและปากได้ทำงานตามหน้าที่ ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเพดานและช่องปากให้ดีขึ้นด้วย” แพทย์หญิงศิริพร อธิบาย
หนังสือ “เรียนรู้นมแม่จากภาพ” (ฉบับภาษาไทย) หรือ The Breastfeeding Atlas Thai Edition จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯที่ทรงนำเรื่องของนมแม่กลับคืนมาสู่สังคมไทย โดยได้รวบรวมองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและทักษะปฏิบัติจากคณะผู้จัดทำที่มีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับนมแม่มามากกว่า 10 ปี โดยใช้การอธิบายด้วยภาพเพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่แพทย์พยาบาลก็สามารถเข้าใจ และนำไปช่วยคุณแม่ให้เลี้ยงลูกได้สำเร็จ
“ปัจจุบันแพทย์และพยาบาลเฉพาะทางในเรื่องของนมแม่ยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้นทุกสถานบริการที่ดูแลแม่และลูกก็ควรจะมีคู่มือในการทำงาน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเสมือนคู่มือข้างกายของบุคลากรที่ทำงานด้านการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น” พญ.ศิริพรกล่าวสรุป
ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คงอยู่กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน ด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “เรียนรู้นมแม่จากภาพ” (The Breastfeeding Atlas Thai Edition) ราคาเล่มละ 950 บาท สั่งจ่ายเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี ชื่อบัญชี กองทุน BF ATLAS BOOK เลขที่บัญชี 051-267616-9 ค่าจัดส่งทางไปรษณีย์ 150 บาทต่อเล่ม ติดต่อคุณชไมพร ทองเหล็ก e-mail chamaipon2527@hotmail.com โทรศัพท์ 081-546-3005 โทรสาร 02-241-7988 หรือสามารถหาซื้อได้ที่ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ