กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--ปพม.
วันนี้ (๙ ม.ค.๕๖) เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน เปิดการประชุม “ซักซ้อมการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิด้านอาชีพของคนพิการ” เพื่อเตรียมความพร้อมให้คนพิการสู่การมีงานทำอย่างมั่นคง
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าว่า สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓๓ กำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนพิการ ทั้งในหน่วยงานของรัฐและสถานประกอบการภาคเอกชน โดยให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐต้องรับคนพิการเข้าทำงานตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ได้แก่ การให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ ที่มีจำนวนลูกจ้างหรือผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ ๑๐๐ คนขึ้นไป ต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตรา ๑๐๐:๑ และมาตรา ๓๔ กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มิได้รับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวนที่กำหนดให้ส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง รวมทั้งมาตรา ๓๕ กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐใช้ทางเลือกอื่น ได้แก่ การให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้า หรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการ หรือผู้ดูแลคนพิการแทนการจ้างในตำแหน่งลูกจ้างหรือผู้ปฏิบัติงานได้ รวมถึงการส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา ๓๔ แม้ว่ากฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้มาได้ระยะหนึ่งปีแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถรับคนพิการได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากสถานประกอบการหลายแห่งยังไม่สามารถจ้างงานคนพิการ ในขณะที่คนพิการที่มีความพร้อมที่จะเข้าสู่สถานประกอบการมีอยู่จำนวนจำกัด รวมทั้งยังไม่ทราบข้อมูลข่าวสารและอาจขาดแรงจูงใจในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้คนพิการมีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) จึงได้ร่วมกับกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย จัดทำ“โครงการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิด้านอาชีพของคนพิการ”ขึ้น เพื่อค้นหาและสำรวจคนพิการที่ต้องการทำงานในสถานประกอบการหรือฝึกอบรมเตรียมความพร้อม และเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิด้านอาชีพและการมีงานของคนพิการ รวมทั้งการจัดนัดพบแรงงานคนพิการ โดยดำเนินการในพื้นที่ ๕๗ จังหวัด ตามรายชื่อคนพิการที่แจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิด้านอาชีพจากข้อมูลการจดทะเบียนคนพิการ
“การขับเคลื่อนให้คนพิการได้มีอาชีพ มีงานทำ ก็จะช่วยให้คนพิการมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำไปสู่การพึ่งพาตนเองของคนพิการอย่างยั่งยืน เป็นการเปลี่ยนคนพิการจาก “ภาระ” ให้เป็น “พลัง” ของครอบครัว สังคม และประเทศชาติ นอกจากนี้ ยังทำให้คนพิการรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เกิดความภาคภูมิใจ มีความมั่นใจในตนเอง และได้รับการยอมรับ จากสังคมมากขึ้น” นายวิเชียร กล่าว.