กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--ตลท.
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (สธท.) แถลงผลการดำเนินงานปี 2555 และแผนการดำเนินงานปี 2556 ย้ำพร้อมผลักดัน สธท. อย่างเต็มที่จนครบวาระการเป็นประธานกรรมการ สธท. ในปลายปี 2557
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้ดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาตลาดทุนเชิงรุกจนทำให้ สธท. ได้รับการยอมรับจากทั้งภาครัฐและเอกชนในฐานะตัวแทนภาคเอกชนของตลาดทุนไทย โดยในปีที่ผ่านมานายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สธท. เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการสำคัญ ตัวอย่างเช่น
- ผลักดัน สธท. เข้าไปเป็นกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.)
โดยประธานกรรมการ สธท. ทำหน้าที่นำเสนอและผลักดันเรื่อง FATF และ Financial Literacy จนทำให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องให้การสนับสนุน
- ผลักดัน สธท. เป็นหนึ่งในภาคเอกชนร่วมคณะนายกรัฐมนตรีเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ
ในฐานะตัวแทนตลาดทุนเพื่อนำเสนอข้อมูลภาพรวมตลาดทุนไทย ต่อภาครัฐและนักลงทุนต่างประเทศ โดย สธท. ได้ร่วมเดินทางไปกับคณะนายกฯ ทั้งหมด 6 ครั้ง 7 ประเทศ นอกจากนี้ ยังได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงการคลังให้เป็นผู้จัด Roadshow โดยได้มอบมายให้ สธท. ให้เป็นผู้จัด MoF International Roadshow ร่วมกับฝ่ายราชการในการนำทีมงานภาครัฐและเอกชน เข้าพบนักลงทุนสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ ทั้งหมด 2 ครั้ง ที่ นครนิวยอร์ก และกรุงลอนดอน
- เสนอให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ เพื่อเร่งลดผลกระทบในการที่ประเทศไทยถูกปรับลดระดับตามประกาศ FATF จนทำให้เรื่องดังกล่าวได้รับความสนใจจากภาครัฐและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่การนำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและได้มีมติผ่านวาระที่ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- เป็นผู้แทนภาคตลาดทุนร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเสนอมาตรการต่อสภาพัฒน์ฯ ในเรื่องการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ซึ่ง สธท. ได้เสนอ 5 มาตรการหลัก
1. การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ
2. การส่งเสริมการออกพันธบัตรสกุลเงินบาท (Baht Bond)
3. การปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินงานของบริษัท (Corporate Matters)
4. การส่งเสริมการควบรวมกิจการ (M&A)
5. การสนับสนุนการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์อินโดจีน
- เป็นผู้แทนภาคตลาดทุนร่วมหารือ และมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการใน การขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 โดย สธท. ได้รับมอบหมายให้เป็น ผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ
- กำหนดวิสัยทัศน์ตลาดทุนไทย โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ดังนี้
“The engine of growth and wealth distribution, and a preferred destinationand linkage for global investment”
“เป็นกลไกหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายความมั่งคั่ง
รวมทั้งเป็นที่หมายและจุดเชื่อมโยงการลงทุนในระดับภูมิภาคและระดับโลก”
- นอกจากนี้ สภาธุรกิจตลาดทุนไทยยังได้จัดกิจกรรม และสัมมนาในระดับประเทศจนเป็นที่ยอมรับอย่างมาก เช่น งาน FETCO Annual Conference 2012: WEFEA side event งานแสดงวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ “ต่างทัศนะ ร่วมมุมมอง พี่น้องตลาดทุน” เป็นต้น
สำหรับนโยบายการดำเนินงานของ สธท. ในปี 2556 นี้ นายไพบูลย์ กล่าวว่า สธท. จะดำเนินการตามกรอบของวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนดไว้โดยแบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก ดังนี้
เรื่องที่หนึ่ง “การเป็นกลไกหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้” ให้กับตลาดทุนและเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านอุปสงค์และอปุทาน (Demand & Supply) เช่น
ในส่วนของ Supply นั้น มีนโยบายดังนี้
- เนื่องจากอัตราการขยายตัวหรือการระดมทุนของตลาดทุนยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ กล่าวคือ การขยายตัวของตลาดทุนเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 แสนล้านบาท ในขณะที่ปริมาณสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีขนาดเพิ่มขึ้นถึง 9 แสนล้านบาท ตลาดทุนจึงควรเร่งประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุนอย่างจริงจังและควรเป็นเรื่องเร่งด่วน เช่น การจัดงาน Expo บริษัทจดทะเบียนเพื่อโปรโมทการระดมทุนในตลาดทุน เป็นต้น
- ส่งเสริมแนวคิดเรื่องแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อการลดภาระหนี้ภาครัฐ เพิ่มความโปรงใสและประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ด้วยการให้ความรู้ (Reeducate Public) ในเรื่องการนำรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทในเครือที่มีความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยในช่วงแรกจะเป็นการให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชนและผู้เกี่ยวข้อง
- ผลักดันร่างกฎหมายควบรวมกิจการและกฎหมาย Venture Capital (VC) เพื่อเป็นกลไกในการเติบโตและสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดทุนมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของ Demand สธท. มีนโยบายในการดำเนินงานดังนี้
- เน้นการสร้างวัฒนธรรมการลงทุนระยะยาวให้กับประชาชน โดยส่งเสริมให้ประชาชนทั่วประเทศมีทัศนคติในการลงทุนในตลาดทุน และมองเงินปันผลเหมือนกับดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นต้น
- ส่งเสริมเรื่องการให้ความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) โดยการให้ความรู้ทั้งในกลุ่ม “ผู้ลงทุน” และกลุ่ม “ผู้ระดมทุน” เพื่อขยายฐานผู้ลงทุนและเพิ่มขนาดของตลาดทุน
- เสนอขอขยายเวลาสิทธิประโยชน์ทางภาษี LTF ให้แก่ผู้ลงทุนผ่านกองทุนหุ้นระยะยาว (Long term Equity Fund : LTF) จากเดิมที่กำหนดให้สิทธิประโยชน์ถึง 2559 เท่านั้น
- เน้นการประชาสัมพันธ์ตลาดทุน ผ่านเวทีต่าง ๆ เช่น 1. การร่วมคณะนายกรัฐมนตรีในการเยือนต่างประเทศ 2. การประชาสัมพันธ์ตลาดทุนผ่านการประชุมร่วมภาครัฐและ เอกชน กรอ. 3. นำเสนอความคิดเห็นด้านการพัฒนาตลาดทุนและการบริหารเศรษฐกิจต่อรัฐบาล
- เร่งรัดและติดตามความคืบหน้า ของการดำเนินงานตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย
เรื่องที่สอง “การเป็นที่หมายและจุดเชื่อมโยงการลงทุนในระดับภูมิภาคและระดับโลก” นั้นมีแนวการดำเนินการดังนี้
- การยกระดับความรู้บุคลากรในตลาดทุนให้มีมุมมองเรื่องการลงทุนในระดับภูมิภาคและระดับโลก (Global View) เพื่อเตรียมพร้อมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเป็นผู้นำตลาดทุนในระดับภูมิภาค
- ผลักดันให้รัฐบาลกำหนดมาตรการรองรับกฎหมาย FATCA (Foreign Account Tax Compliance Act) ที่ออกโดยสหรัฐอเมริกา เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อตลาดทุน ตลาดเงินและธุรกิจประกันโดยตรง
- การส่งเสริมให้มีการจัดทำวิจัยเพื่อพัฒนาตลาดทุนมากยิ่งขึ้น และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการวิจัย
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สธท. กล่าวว่า “ตลาดทุนไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมให้มีบริษัทขนาดใหญ่เข้าจดทะเบียนมากขึ้นเหมือนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ อื่นๆ ที่พัฒนาไปอีกระดับหนึ่งแล้ว รวมทั้งการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินการลงทุน ด้วยการสร้างวัฒนธรรมการลงทุนในระยะยาวให้กับประชาชนไทย เพื่อสร้างความต้องการการลงทุนให้มากยิ่งขั้น” นอกจากนี้ สธท. จะแสดงบทบาทสำคัญในการเป็นตัวแทนตลาดทุนในการเร่งรัด ติดตามการดำเนินงานตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย และให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเรื่องการบริหารเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามข่าวสารข้อมูลและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่
นายคเณศ วังส์ไพจิตร สภาธุรกิจตลาดทุนไทย โทร 02-229-2900-2 หรือ email: fetco@set.or.th