สพฉ. เปิด 10 อันดับเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน-อุบัติเหตุที่เกิดกับเด็ก เผยปี 2555 มีเด็กกว่า 8 หมื่นคนได้รับอันตราย

ข่าวทั่วไป Thursday January 10, 2013 13:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--สพฉ. สพฉ. เปิด 10 อันดับเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน-อุบัติเหตุที่เกิดกับเด็ก เผยปี 2555 มีเด็กกว่า 8 หมื่นคนได้รับอันตราย ชี้อุบัติเหตุยานยนต์ ครองแชมป์สูงสุด ด้าน นพ.ประจักษวิช แนะวิธีช่วยเหลือเด็กเบื้องต้นป้องกันภาวะฉุกเฉิน เตือนผู้ปกครองเก็บสิ่งอันตรายห่างจากมือเด็กเพื่อลดความเสี่ยง สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่สอง ของเดือนมกราคมในทุกปี ถูกจัดให้เป็นวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งนอกจากจะมีการจัดงานเฉลิมฉลอง สร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆ ในทุกปีแล้ว แต่ละปีก็ยังแฝงไปด้วยความเศร้าของหลายๆ ครอบครัว ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องดูแลเด็กเป็นพิเศษเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ ทั้งนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้รวบรวมสถิติข้อมูลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และอุบัติเหตุ ของเด็กๆ ระหว่างอายุ 1 -15 ปี เมื่อปีพ.ศ.2555 ที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กเจ็บป่วยฉุกเฉินและประสบอุบัติเหตุทั้งสิ้น 87,456 คน โดยแยกเป็นอาการเด่นๆ ดังนี้ 1. อุบัติเหตุยานยนต์ 24,439 คน 2. พลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุ 7,619 คน 3. ป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุ 7,456 คน 4.หายใจลำบากติดขัด 3,610 คน 5.ถูกทำร้าย 1,661 คน 6.ชัก มีสัญญาณบอกเหตุการชัก 1,394 คน 7.ไม่รู้สติ ไม่ตอบสนอง 780 คน 8.ถูกไฟไหม้ ถูกน้ำร้อนลวก ไฟฟ้าช็อต ได้รับสารเคมี 444 คน 9.ตกน้ำ จมน้ำ บาดเจ็บจากเหตุทางน้ำ 392 คน และ 10. สำลัก อุดกั้นทางเดินหายใจ 93 คน นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รักษาการเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงการดูแลและช่วยเหลือเด็กที่ได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยฉุกเฉินของเด็กว่า สิ่งที่น่ากังวลที่สุดสำหรับอุบัติเหตุที่เกิดกับเด็ก คือการกระทบกระเทือนทางศีรษะ และการได้รับกระทบกระเทือนในอวัยวะภายใน เช่นตับและม้าม เพราะเด็กจำนวนมากไม่สามารถร้องบอกอาการเจ็บป่วยของตนเองได้ จึงอาจจะทำให้เกิดภาวะของการเสียเลือดมาก ทำให้ช็อคหมดสติ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการฉุกเฉินที่ร้ายแรงขึ้น ดังนั้นหากเราพบเห็นเด็กที่ช็อคหมดสติ แต่ยังหายใจอยู่ ให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อให้ทีมกู้ชีพเข้ามาช่วยเหลือ โดยผู้พบเหตุไม่ควรเข้าไปช่วยเหลือเอง ควรรอเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้เข้ามาช่วยเหลือเพราะการช่วยเหลือที่ผิดวิธีอาจทำให้เกิดอันตรายได้ แต่หากเด็กมีเลือดออกมากให้ใช้เสื้อหรือผ้าสะอาดมากดที่บาดแผลให้แน่นเป็นเวลา 5-10 นาที และหากสังเกตว่าเด็กมีอาการแขนขาผิดรูปไปจากเดิม เช่น หัก โค้งงอ บิดเบี้ยว มีอาการบวมแดงร้อน เขียวช้ำ และอาจมีส่วนของกระดูกหักที่ทิ่มออกมาจากบาดแผล อย่าพยายามเคลื่อนย้าย เพราะอาจทำให้อาการบาดเจ็บรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายให้ทำเฝือกชั่วคราวโดยหาไม้หรือกระดาษแข็ง กระดาษหนังสือพิมพ์หนาๆ มาดามวางนาบกับส่วนที่หัก จากนั้นใช้ผ้าพันซึ่งจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ สำหรับกรณีเด็กที่มีอาการชัก ผู้พบเห็นต้องตั้งสติและรีบแจ้งสายด่วน 1669 โดยระหว่างรอเจ้าหน้าที่กู้ชีพควรปฐมพยาบาลตามคำแนะนำ คือต้องทำให้ทางเดินหายใจเด็กโล่ง โดยการตะแคงศีรษะเด็กไปด้านข้างให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้น้ำลาย เสมหะ หรือเศษอาหารไหลออกมาจากคอเด็กได้สะดวก และป้องกันการสำลัก การอุดตันของหลอดลม จากนั้นควรพาเด็กไปในบริเวณพื้นที่ราบ ไม่มีสิ่งกีดขวาง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการชัก ที่สำคัญอย่าพยายามงัดปากเด็กหรือใช้ช้อนกดลิ้นเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ฟันเด็กหัก หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดในหลอดลมได้ นพ.ประจักษวิช กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีสิ่งแปลกปลอมติดคอในเด็กนั้น หากเป็นเด็กทารกให้นำเด็กนอนคว่ำลงบนท้องแขน ให้มือรองอยู่ที่ศีรษะ คอ และหน้าอก จับให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าลำตัว จากนั้นให้ใช้สันฝ่ามืออีกข้าง กระทุ้งเร็วๆ 4 ครั้งติดต่อกัน ตรงบริเวณสะบักทั้งสองข้าง ทารกจะไอเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา ส่วนเด็กก่อนวัยเรียน ให้จับเด็กนั่งและใช้มือด้านหนึ่งพยุงหน้าอกของเด็กไว้ โน้มศีรษะเด็กให้ต่ำกว่าหน้าอก หรืออยู่ในระดับเดียวกัน จากนั้นใช้สันฝ่ามืออีกข้าง กระทุ้งเร็วๆ 4 ครั้งติดต่อกัน เพื่อให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา และรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว “สิ่งที่น่าเป็นกังวลอีกประเด็น คืออันตรายจากสิ่งใกล้ตัว หรือสิ่งที่อยู่บริเวณบ้าน อาทิ สารพิษจากน้ำยาขัดห้องน้ำ ยาทาเล็บ ยาฆ่าแมลง ยากันยุง น้ำยาล้างจาน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กเจ็บป่วยฉุกเฉิน ดังนั้นผู้ใหญ่ควรระมัดระวัง ดูแลความเรียบร้อยในบ้าน เก็บของให้ห่างจากมือเด็ก แต่ทั้งนี้หากเด็กกลืนหรือได้รับสารพิษดังกล่าวเข้าไป ควรรีบแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอคำแนะนำและให้การช่วยเหลือ ซึ่งหากเด็กยังรู้สึกตัวดีให้หานมหรือน้ำให้เด็กดื่ม เพื่อเจือจางสารพิษ ทั้งนี้มีข้อควรระวังคือหากสารเคมีที่เด็กได้รับเป็นประเภทกรด ด่าง อาทิ แล็คเกอร์ ทินเนอร์ น้ำยาล้างห้องน้ำ ไม่ควรทำให้เด็กอาเจียนเด็ดขาด เพราะจะทำให้สารเข้าไปในหลอดลมและปอดทำให้อักเสบ ทำลายเยื่อบุหลอดอาหาร ลำคอของเด็กอีกครั้งหนึ่ง ส่วนสารพิษที่ไม่ใช่กรดและด่าง อาทิ น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำหาย ยาทาเล็บ สามารถให้ทำให้เด็กอาเจียน โดยใช้นิ้วสะอาดล้วงคอหลังจากเด็กกินนมแล้ว นอกจากนี้ควรเก็บขวดสารพิษไปที่โรงพยาบาลด้วยเพื่อความแม่นยำในการให้การช่วยเหลือ” นพ.ประจักษวิชกล่าว
แท็ก ยานยนต์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ