กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--สหมงคลฟิล์ม
กำหนดฉาย 7 กุมภาพันธ์ 2556
แนวภาพยนตร์ พีเรียด-ดราม่า
บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ดำเนินงานสร้าง นัยนา อึ้งสวัสดิ์, เติมพันธ์ มัทวพันธุ์
กำกับภาพยนตร์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล
บทภาพยนตร์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล
กำกับภาพ พนม พรมชาติ
ออกแบบงานสร้าง พัฒน์ฑริก มีสายญาติ
กำกับศิลป์ นิติ สมิตตะสิงห์
ลำดับภาพ สิริกัณณ์ ศรีจุฬาภรณ์
เทคนิคภาพพิเศษ เซอร์เรียล สตูดิโอ
ดนตรีประกอบ ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์
ออกแบบเครื่องแต่งกาย อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์
แต่งหน้า-แต่งหน้าเอฟเฟ็คต์ มนตรี วัดละเอียด
ทีมนักแสดง มาริโอ้ เมาเร่อ, ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์,
รฐา โพธิ์งาม, บงกช คงมาลัย, โช นิชิโนะ, สาวิกา ไชยเดช,
ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, รัดเกล้า อามระดิษ,
เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ ฯลฯ
“จันดารา ปัจฉิมบท” บทสรุปแห่งการล้างแค้น พลิกผันชะตาชีวิตอันมิอาจคาดเดา
โศกนาฏกรรมชีวิตของ “จัน ดารา” แวดล้อมไปด้วยผู้คนรอบข้างที่สะท้อนมวลอารมณ์แห่งความรัก ความใคร่ ความเคียดแค้น กิเลสตัณหา และกามารมณ์อันนำมาซึ่งการพลิกผันในชะตากรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หลังจากเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นในบ้านพิจิตรวานิช ทำให้ “จัน ดารา” (มาริโอ้ เมาเร่อ) และ “เคน กระทิงทอง” (ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต) สหายสนิทของเขาต้องหนีภัยอันเกิดจากการกระทำอันเหี้ยมโหดของ “คุณหลวงวิสนันท์เดชา” (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) ผู้ที่เขาคิดว่าเป็นพ่อบังเกิดเกล้านานถึง 17 ปี ไปพำนักอยู่กับ “คุณท้าวพิจิตรรักษา” (รัดเกล้า อามระดิษ) ผู้เป็นญาติผู้ใหญ่คนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ที่เมืองพิจิตร
ช่วงระยะเวลาที่อยู่ที่เมืองพิจิตรนี้ จันเป็นสุขทั้งกายใจ และรู้สึกถึงอิสรภาพของชีวิตอย่างแท้จริง เขายังคงติดต่อทางจดหมายกับ “ไฮซินธ์” (สาวิกา ไชยเดช) เพื่อนหญิงในดวงใจอันเป็นรักบริสุทธิ์ของเขาอยู่เสมอมา และคาดหวังว่าจะเริ่มต้นชีวิตใหม่อันสดใสที่เมืองนี้พร้อมๆ กับการตามค้นหาพ่อแท้ๆ ของเขาไปด้วย
แต่เหมือนโชคชะตากลั่นแกล้งให้วันชื่นคืนสุขอยู่กับเขาเพียงไม่นาน เมื่อในที่สุดจันก็ได้ล่วงรู้ความจริงอันไม่คาดฝันเรื่องพ่อผู้ให้กำเนิดแท้จริงที่เขารอคอยมานานจากปากคำของ “ร้อยตำรวจเอกเรืองยศ” (เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์) ผู้กุมความลับอันน่าอดสูเกี่ยวกับตระกูลพิจิตรวานิชนี้ไว้มาตลอดทั้งชีวิต
จันพยายามทำใจให้ผ่านช่วงชีวิตอันแสนทุกข์ทรมานนี้ไปให้ได้ จนกระทั่ง “น้าวาด” (บงกช คงมาลัย) ได้เดินทางมาแจ้งข่าวเรื่องคุณหลวงล้มป่วยลงอย่างฉับพลัน เนื่องจากเกิดเหตุบางอย่างขึ้นกับ “คุณแก้ว” (โช นิชิโนะ) และ “คุณขจร” (ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
และแล้วสงครามแห่งการชำระแค้นและทวงคืนทุกอย่างให้กลับมาเป็นของเขาและตระกูลพิจิตรวานิชก็ได้เปิดฉากขึ้นในทันทีตามคำสั่งเสียสุดท้ายของคุณท้าวยายผู้คอยบงการและพลิกผันชะตาชีวิตของจันให้ตกอยู่ในด้านมืดอย่างคาดไม่ถึง
จันกลับมาอย่างสง่าผ่าเผยในฐานะเจ้าของบ้านคนใหม่ และมีสิทธิในทรัพย์สมบัติและอำนาจทั้งหมดภายในบ้าน แต่เท่านั้นยังไม่สาแก่ใจของเขา เมื่อสัตว์ร้ายและตัณหาราคะในใจปะทุออกมาอย่างรุนแรง เมื่อเขาเห็นภาพ “คุณบุญเลื่อง” (รฐา โพธิ์งาม) กับคุณหลวงยังรักใคร่กันเป็นอย่างดี จันจึงใช้เสน่ห์แห่งความเป็นชายหนุ่มรูปงามหลอกล่อจนคุณบุญเลื่องตกเป็นของเขาอย่างสมยอม และเมื่อคุณหลวงได้เห็นภาพร่วมรักอันเร่าร้อนของทั้งคู่ ทำให้เขาสิ้นสติและกลายเป็นอัมพาตไปในที่สุด
กระจกเงาแห่งความชั่วร้ายได้สะท้อนภาพคุณหลวงมาสู่ตัวจันอย่างไม่มีผิดเพี้ยน
การล้างแค้นอันน่าขยะแขยงนี้ดูเหมือนจะปิดฉากอย่างสมบูรณ์แบบด้วยชัยชนะของจัน ดาราแต่เพียงผู้เดียว ถ้าเขาไม่ได้รับบทเรียนชีวิตอันยิ่งใหญ่จากศัตรูคู่อาฆาตอย่างคุณแก้วที่เอาคืนจันอย่างสาสม รวมถึงคนรอบข้างที่คอยห่วงใยเขาเสมอมาอย่างน้าวาด, เคน และคุณบุญเลื่องที่ค่อยๆ ตีตัวออกห่างจากจันไปเรื่อยๆ
อำนาจและทรัพย์สมบัติจะมีค่าอะไร หากไร้คนที่รักและห่วงใยเราอย่างจริงใจอยู่เคียงข้าง
จากวรรณกรรมอมตะสู่ภาพยนตร์คุณภาพแห่งปี
“นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องยาวเรื่องแรกของผู้เขียน ซึ่งต้องขอบอกกล่าวไว้เสียด้วยว่า เป็นเรื่องอ่านเล่น ซึ่งไม่ใช่ของสำหรับเด็ก และเป็นของแสลงอย่างยิ่งสำหรับบุคคลประเภท ‘มือถือสาก ปากถือศีล’”
“เรื่องของจัน ดารา” จัดเป็นงานที่พรรณนาภาพอันน่าสังเวชของมนุษย์ที่ตกอยู่ใน “เขาวงกตแห่งกามตัณหา” นักประพันธ์ชั้นครู “อุษณา เพลิงธรรม” เขียนเรื่องนี้อย่างผู้ที่มากด้วย “ประสบการณ์” และ “ประสบกาม” จัดได้ว่าเป็นแบบ “อัตถนิยมแท้ๆ” (Realism) เล่มหนึ่งของวงวรรณกรรมไทย
ความน่าสนใจของวรรณกรรมเรื่องนี้ มิใช่การรจนาอันละเมียดละไมอย่าง “วิจิตรบรรจง” ใน “บทอัศจรรย์เชิงสังวาส” แต่เพียงอย่างเดียว หากอยู่ที่การสร้างสรรค์ลักษณะนิสัยของ “ตัวละคร” ทุกตัวอย่างมีจิตวิญญาณและเลือดเนื้อ เป็นมนุษย์ปุถุชนในโลกของความเป็นจริง ทุกตัวละครล้วนมี “มิติ” ของความเป็น “คน” ที่พบเห็นได้สัมผัสได้ในทุกยุคทุกสมัย มีทั้งด้านดีและเลวคละเคล้ากันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับอิทธิพลทาง “กรรมพันธุ์” และ “สภาพแวดล้อม” อันป็น “เบ้าหลอม” ทำให้มนุษย์ก่อพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นไปใน “ด้านบวก” หรือ “ด้านลบ”
ตัวละครอย่าง “จัน ดารา” จึงเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่ตกเป็นทาสของชะตากรรมที่น่าสังเวช อันมีเหตุมาจาก “กรรมพันธุ์” และ “สภาพแวดล้อม” อันโหดร้ายทารุณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ที่เราเลือกทำ ‘จัน ดารา’ ในตอนนี้ก็เพราะรู้สึกว่า โดยเนื้อหาสาระจากหนังสือที่อุษณา เพลิงธรรม (ประมูล อุณหธูป) เขียน ถึงแม้ว่าจะเขียนมานานเกือบ 50 ปีที่แล้ว แต่เนื้อหาสาระก็ยังทันสมัยมาก ยังสะท้อนให้เห็นถึงธาตุแท้ของมนุษย์ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ และเหมือนเป็นกระจกที่จะสะท้อนให้เห็นกิเลสในใจของคน มันไม่ใช่แค่ตัณหาราคะอย่างเดียว แต่คนที่ยึดมั่นกับความเคียดแค้นมันจะก่อให้เกิดปัญหาและหายนะยังไงกับตัวเองและคนรอบข้างจนนำไปสู่ปัญหาสังคมในระดับรวมด้วย”
“จัน ดารา” เวอร์ชั่นดัดแปลงโดยผู้กำกับมือเอก “หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” นี้ สะท้อนภาพความวิปริตของมนุษย์แต่ละคน เพื่อชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของ “สิ่งแวดล้อมใกล้ตัว โดยเฉพาะพ่อแม่ ความหิวโหยความรัก ความทารุณเหี้ยมเกรียม ตัวอย่างโสมม” ที่ประทับหูประทับตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันเป็นเบ้าหลอมที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง
คนที่จะปีนขึ้นจากเบ้าหลอมนี้ได้ จะต้องอาศัย “ความแกร่ง” ชนิดพิเศษ และ “กรรมดี” ช่วยสนับสนุนประกอบกัน
แต่เผอิญ “จัน ดารา” ไม่ได้เป็นคนเช่นนั้น เขาจึงตกเป็นเหยื่อของสิ่งแวดล้อมนั้นอย่างน่าสมเพช
บทสรุปแห่งมหากาพย์โศกนาฏกรรม “จันดารา ปัจฉิมบท”
บทสรุปแห่งการล้างแค้นอันสืบเนื่องมาจากอดีตอันแสนรันทดของ “จัน ดารา” ผู้ถูก “คุณหลวงวิสนันท์เดชา” ผู้ที่เขาคิดว่าเป็นบิดาบังเกิดเกล้าทารุณกรรมมานานนับ 17 ปี ส่งผลให้เกิดการชิงอำนาจใน “บ้านพิจิตรวานิช” กลับคืนมาครอบครอง โดยใช้ตัณหาราคะและโทสะจริตเป็น “อาวุธ” ในการก่อกรรมทำเข็ญโดยปราศจากศีลธรรมจรรยาอันเป็นต้นเหตุโศกนาฏกรรมแก่ทุกชีวิตในครอบครัวอันมั่งคั่งแห่งนั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จัน ดารา” ซึ่งต้องมีชีวิตอยู่เพื่อเผชิญชะตากรรมอย่างโดดเดี่ยวไร้ผู้คนรอบข้างจนวาระสุดท้าย
“ใน ‘จันดารา ปัจฉิมบท’ จะเป็นบทสรุปของชีวิตจัน ดาราซึ่งเป็นภาคต่อจากภาคปฐมบท หลังจากที่จันและเคนได้หนีไปอยู่กับคุณท้าวยายที่พิจิตร ที่นั่นจันก็ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข และได้ออกตามหาพ่อที่แท้จริงของเขาจนได้พบกับความจริงอันน่ารันทดใจ ขณะเดียวกันคุณท้าวยายก็พยายามชักจูงและฝังหัวให้จันกลับไปแก้แค้นเอาทรัพย์สินมรดกคืนจากคุณหลวงให้ได้ และเมื่อโอกาสแก้แค้นเอาคืนมาถึง จันก็เริ่มล้างแค้นในสิ่งที่ตัวเองเคยได้รับมาจากคุณหลวงตั้งแต่วัยเด็ก และเพื่อทดแทนบุญคุณคุณท้าวยาย รวมถึงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตระกูลพิจิตรวานิชด้วย ซึ่งความรุนแรงจากการแก้แค้นของจันนี้เองที่ทำให้เขาเดินไปสู่หายนะ และที่สำคัญคือจันก็ได้ใช้กามารมณ์ในการแก้แค้นเพื่อชิงอำนาจคืนมาจากคุณหลวง เช่นเดียวกับที่คุณหลวงเคยทำเมื่อก่อนที่จันจะเกิด ฉะนั้นโศกนาฏกรรมของจันจึงเกิดขึ้นจากโศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความเคียดแค้น และทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อที่จะได้มาซึ่งอำนาจของตน ในภาคนี้ก็จะบอกถึงผลอันเกิดมาจากเหตุปัจจัยจากภาคแรกนั่นเอง”
หลากหลายฉากอีโรติก...ความรัก ความใคร่ หรืออาวุธประหัตประหาร
“จัน ดารา” เป็นเรื่องราวของมนุษย์ที่ประกอบขึ้นและรายล้อมไปด้วยกิเลสตัณหา และกามารมณ์อันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่สามารถให้ทั้งคุณเมื่อใช้อย่างเหมาะสม และหนีไม่พ้นที่จะให้บทลงโทษเมื่อใช้มันไปในทางที่ผิดและเกินพอดี เฉกเช่นบางตัวละครในเรื่องจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง
เช่นนี้แล้ว จึงเป็นธรรมดาที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะนำเสนอหลากหลายฉากอีโรติก เพื่อสะท้อนให้เห็นถึง “เซ็กส์” ในหลากหลายมุมมอง
“ถ้าเกิดคุณจะทำจัน ดารามันก็หนีเรื่องอีโรติกไปไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของเรื่องทีเดียว มันเป็นไปตามท้องเรื่อง ตามลักษณะนิสัยของตัวละครทั้งหมด จะพูดว่าหวือหวากว่าหรืออะไรก็ตาม แต่ถ้าจะพูดแล้วโดยแท้มันไม่ใช่ภาพยนตร์กามารมณ์ จริงๆ มันเป็นภาพยนตร์ชีวิตซะมากกว่า แล้วชีวิตคนเรามันก็มีตั้งหลายแบบหลายบทบาทในหนึ่งวัน ทั้งความเป็นพ่อ ความเป็นแม่ ความเป็นสามี ความเป็นแฟน ความเป็นหน้าที่ในการทำงาน มันมีคุณความดี มีความไม่ดี การกินข้าว การนอน เพราะฉะนั้นเรื่องกามารมณ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ มันเป็นส่วนหนึ่งที่เราก็ไม่เห็นว่ามันจะเด่นไปกว่าส่วนอื่นเลย
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เช่นกัน ทุกพฤติกรรมของตัวละครมีความสำคัญเท่าๆ กันหมดเพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คุณปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าอะไรมันสำคัญกว่ากัน คุณจะมองว่าชีวิตคนจะมองเรื่องเพศอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ มนุษย์เราไม่มีใครมานั่งคิดแต่เรื่องเพศตลอด 24 ชั่วโมง มันก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ทำดี ไหว้พระ สวดมนต์ ทำอาหาร ทำงาน หรือว่าการมีสังวาสกันก็เป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นธรรมชาติมากๆ ของมนุษย์โลก เพราะฉะนั้นทุกอย่างในเรื่องนี้เป็นชีวิตของมนุษย์ ทุกพฤติกรรมที่อยู่ในเรื่องนี้ก็เหมือนกับมนุษย์ทุกคนในโลก ไม่มีอะไรสำคัญมากน้อยไปกว่ากัน เพราะถ้าจะพูดไปมันคือภาพยนตร์ชีวิต เพียงแต่ว่าภาพยนตร์เรื่องอื่นอาจจะไม่มี อย่างถ้าเป็นหนังสงคราม มันก็ต้องมีความโหดร้ายน่ากลัวของสงคราม เรื่องนี้ในเมื่อตัวละครใช้กามารมณ์เป็นอาวุธในการแก้แค้น ตรงนี้ก็มีน้ำหนักเดียวที่เราควรจะเน้นไปตามท้องเรื่องเท่านั้นเอง”
เหตุใด “จัน ดารา” ต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมเช่นนี้
มนุษย์เราทุกคนล้วนแล้วแต่เกิดมาด้วยดวงจิตอันสะอาดบริสุทธิ์ แต่ “สภาพแวดล้อม” และ “บุคคลผู้ใกล้ชิด” ต่างหากที่เป็นผู้แต่งเติมสีสันให้เป็นไปในทิศทางที่แตกต่างกันไปเปรียบได้กับผ้าใบของจิตรกร หากได้รับการแต่งแต้มสีสันจากจิตรกรที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง ภาพนั้นก็จะงามวิจิตร
แต่ชีวิตของ “จัน ดารา” มิได้เป็นเช่นนั้น
เขาถือกำเนิดขึ้นมาท่ามกลางสงครามแห่งความแค้นและการแย่งชิงอำนาจเพื่อความเป็นใหญ่ในครอบครัว ตลอดจนบรรยากาศแห่ง “กามราคะ” ที่คละคลุ้งอยู่ในทุกอณูของคฤหาสน์ และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การตั้งข้อกังขาว่า บิดาที่แท้จริงของเขาคือใคร เขาเกิดมามีชิวิตอยู่บนโลกนี้จากผู้ใดและมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร
เมื่อเขาเดินทางไปเมืองพิจิตรเพื่อลี้ภัยจาก “คุณหลวงวิสนันท์เดชา” ผู้จ้องจะเอาชีวิตของเขา และเผชิญกับ “ความจริง” อันน่ารันทดใจเกี่ยวกับชาติกำเนิดที่แท้จริงของเขา มันจึงเป็นเสมือนเปลวเพลิงที่จุดประกายความแค้นอันเผาผลาญคุณงามความดีทั้งปวงในจิตใจอันเปราะบางของเขา
“จัน ดารา” จึงกลับกลายเป็น “ผู้ล้างแค้น” อันโหดเหี้ยมยิ่งไปกว่า “คุณหลวงวิสนันท์เดชา” อย่างถึงที่สุด
“ในภาคปัจฉิมบทนี้จันได้เปลี่ยนไปในทางลบ ซึ่งต่างจากจันที่แสนจะเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์และอ่อนโยนในภาคปฐมบท คือจะกลายเป็นคนอีกคนหนึ่งที่ไม่ต่างอะไรจากคุณหลวงตอนวัยหนุ่มเลย แล้วก็ดูเหมือนจะใช้วิธีการที่รุนแรงกว่าคุณหลวงซะด้วยซ้ำไป ทำให้เห็นได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในครอบครัวนี้เป็นกฎแห่งกรรมทั้งสิ้น สิ่งที่คุณหลวงเคยได้ทำกับจัน จันก็ได้ทำคืนกับคุณหลวง มันเป็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่ไม่เคยได้อำนาจ แล้วพอได้อำนาจมาแล้วก็หลงในอำนาจนั้น แล้วก็ใช้อำนาจนั้นในทางที่ผิด เปรียบได้กับคนขี่หลังเสือ เหมือนจันพอมารู้ความจริงในภาคนี้ว่าเขาคือเจ้าของบ้านตัวจริง มันก็ทำให้พฤติกรรมของจันเป็นไปในทางที่รุนแรงมาก เพราะว่ามีความแค้นสุมอยู่ข้างใน ประกอบกับการที่จันจริงๆ แล้วเป็นคนหัวอ่อนมาก เป็นคนที่เชื่อฟังผู้ใหญ่มาก แล้วก็โดนคุณท้าวยายเสี้ยมสอนให้โกรธคุณหลวงมากขึ้นๆ รวมถึงได้สัญญากับคุณท้าวยายด้วยว่าจะแก้แค้นและเอาทุกอย่างคืนกลับมาเพื่อตระกูลพิจิตรวานิช ทั้งหมดนี้มันจึงเป็นแรงผลักดันที่รุนแรงมาก
เปรียบได้กับมนุษย์ ซึ่งบางทีเราทำความรุนแรงอะไรก็ได้โดยยึดความกตัญญูในบรรพบุรุษ บางครั้งตรงนี้ก็ก่อให้เกิดสงครามได้ ซึ่งในเรื่องของจันดาราจะเป็นสงครามภายในบ้าน แต่ถ้าเปรียบเทียบจริงๆ แล้วสงครามในโลกนี้ ในประเทศต่อประเทศก็เช่นกัน ทุกคนรักและกตัญญูในประเทศของตน ฉะนั้นต่างก็จะมองในมุมของตัวเองมุมเดียวที่จะทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์และความเจริญของครอบครัวหรือประเทศตนเอง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ตอนจบจะแสดงให้เห็นถึงความหายนะของมนุษย์คนหนึ่งที่ทำทุกอย่างเพื่อความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อครอบครัว ซึ่งจริงๆ แล้วความกตัญญูเป็นไปได้หลายทาง ถ้าเป็นไปในทางบวกก็จะเป็นสิ่งที่บวก แต่จันดาราเลือกที่จะใช้พลังทางด้านลบในการแก้แค้นครั้งนี้ ตอนจนของเรื่องก็จะสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ที่หลงอำนาจในทางที่ผิด ท้ายที่สุดแล้วจะได้รับผลกรรมอย่างไร”