กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี
นักกีฬาคนพิการแขนขาด 2 ข้าง ยังว่ายน้ำได้เก่งกว่าผมที่มีแขนข้างเดียว ดังนั้นเมื่อเรามีความตั้งใจที่จะทำ ความสำเร็จไม่เกิดจากว่าคุณจะมีแขนกี่ข้าง กำลังใจเริ่มที่ตัวเราเสมอ น้ำเสียงที่เอ่ยด้วยแววตาที่เป็นประกาย “กี้” นายสิทธิศักดิ์ อมรศักดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาดุริยางค์สากล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี มือเป่าทรัมเป็ต วงดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยฯ พิการแขนทางด้านซ้าย มาตั้งแต่ 8 ขวบ
“กี้” เล่าว่า พ่อและแม่แยกทางกันตั้งแต่เด็กๆ ต้องมาอาศัยอยู่กับย่า แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้นกับชีวิต “คุณย่าได้เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุบนท้องถนน คุณย่าจูงผมข้ามถนนเพื่อไปส่งที่โรงเรียน รถยนต์มาจากไหนไม่รู้วิ่งเข้ามาชนคุณย่าของผม ในขณะที่มือของย่าได้จูงมือขวาของผม แรงชนของรถทำให้รถกระฉากแขนซ้ายของผมขาด” เป็นเหตุการณ์ที่ผมไม่มีวันลืม “ย่าบุคคลที่เป็นทั้งพ่อและแม่ของผม” หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น “ผมมีแขนขวาเพียง 1 ข้าง” แต่ตอนนั้นผมไม่รู้สึกว่าขาดแขนขวาไปเลย ยังใช้ชีวิตปกติ เหมือนกับคนอื่น คิดเสมอว่า “อยากทำอะไรเหมือนคนปกติที่คนมีแขน 2 ข้างทำได้”
หลังจากที่ย่าเสียชีวิตลง น้าและป้าเป็นคนส่งเรียน เนื่องจากพ่อมีอาชีพหาเช้ากินค่ำ “พ่อผมขับแท๊กซี่” ส่วนแม่ไม่เคยเห็นหน้าแม่และไม่รู้ว่าแม่เป็นใคร หลังจากที่จบชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิทั้งมัธยมต้นและมัธยมปลาย “ส่วนตัวเป็นคนที่รักในเสียงเพลง” ตอนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 จึงเข้าสมัครเป็นสมาชิกวงโยธวาทิตประจำโรงเรียน ตอนนั้นมีหน้าที่ตีกลอง ได้เข้าร่วมประกวดแข่งขันกับโรงเรียนหลายรายการ ความฝันในการประกอบอาชีพ “คุณครูสอนดนตรี” หลังจากจบมัธยมปลาย จึงสอบเข้าศึกษาต่อที่ สาขาดุริยางค์สากล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี
ตอนแรกเริ่มที่เข้ามาในมหาวิทยาลัย เลือกเอกกลอง คือ กลองใหญ่ (เบรกดัม) แต่เมื่อดูความเหมาะสมของร่างกาย ครูจึงแนะนำให้ลองเล่นทรัมเป็ต “ผมใช้มือซ้ายเป็นตัวประคอง ส่วนมือขวากดโน๊ตเมโลดี้” กว่า 1 ปี ที่เข้ามาศึกษาต้องหัดเป่าทรัมเป็ต ความยากของการเป่าทรัมเป็ตคือการห่อปากของแต่ละโน๊ต แต่อย่างที่บอกไม่มีอะไรเกินความตั้งใจ สุดท้ายทรัมเป็ตกลายเป็นเครื่องดนตรีประจำตัวผม เข้าร่วมแข่งขันกับวงดุริยางค์ของมหาวิทยาลัยฯ ได้รับรางวัลเช่น รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ประเภท Junior Division การประกวดวงโยธวาทิต ธนาคารกรุงเทพ - ยามาฮ่าแห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน ฯ ประจำปี 2555 รางวัลชมเชย รุ่นไม่เกินระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 การประกวดวงโยธวาทิต ทรูวิชั่น - ยามาฮ่าแห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน ฯ ประจำปี 2554
ปัจจุบันน้าและป้าเป็นคนดูแลและส่งเรียน เป็นพระมหากรุณาธิคุณได้รับทุนการศึกษา กองทุนพระราชกุศลสำหรับการศึกษา สวนจิตรลดา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่รถชน จนจบปริญญาตรี โดยภาคการศึกษาละ 20,000 บาท รายเดือนตอนมัธยมเดือนละ 2,000 บาท อุดมศึกษาเดือนละ 3,000 บาท เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของน้าและป้า เนื่องจากท่านทั้งสองต้องส่งลูกของท่านเรียนเหมือนกัน จึงหางานพิเศษทำ เริ่มสมัครเป็นยามช่วงปิดเทอมตอนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ได้ค่าตอบแทนวันละ 250 บาท เด็กแจกใบปลิวตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 ได้วันละ 300 บาท
พอขึ้นชั้นปีที่ 2 จนถึงปัจจุบัน งานพิเศษ คือ วิทยากรพิเศษสอนวงดุริยางค์ตามโรงเรียนต่างๆ สอนทุกวันอาทิตย์เวลา 09.00 - 17.00 น. ค่าตอบแทนวันละ 300 - 500 บาท ตัวเงินไม่ใช่ค่าตอบแทนที่สำคัญ บางโรงเรียนอาสาสอนฟรี “เป็นการฝึกฝีมือของตัวเราเอง ในอนาคตต้องออกไปเป็นคุณครู” สอนเป่าทรัมเป็ต สอนตีกลอง การเดินแถว เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยถือเป็นประสบการณ์ที่ดีในการใช้ชีวิต เกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 2.95 “เวลาที่ผมท้อปมจะสร้างกำลังใจให้ตัวเองเสมอ กำลังใจมันเริ่มที่ตัวเราเสมอ” เวลาว่างนอกจากเล่นดนตรี เล่นกีฬา ฟุตบอล ตีแบต เวลาว่างจะใช้โปรแกรม “Sibelius 6” ทำโน้ตเพลงไว้ใช้เล่น สิ่งที่แอบภูมิใจ คือ ผมได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวงดุริยางค์ที่ มทร.ธัญบุรี 3 คำ สำหรับ มทร.ธัญบุรี “รักมากมาย”
อายหรือเปล่า “แขนขาด 1 ข้าง” ตั้งแต่แขนขาดทุกอย่างเหมือนเดิม เพื่อนๆ ก็เหมือนเดิม มันอยู่ที่ตัวเราจะมองมากกว่า “คิดอยู่เสมอ แขนขาดข้างเดียว ชีวิตไม่ได้ลำบาก ถ้าเรามีความพยายาม” การเรียนดนตรีช่วยผมได้มาก “ชีวิตคนเราเหมือนดนตรี” ทำให้มันมีจังหวะ จังหวะที่ค่อยเป็นค่อยไป “ผมมีแขนปลอม” แต่จะไม่ค่อยใส่ เพราะว่า มันลำบาก “ใส่แล้วมันหนักครับ มันทำอะไรไม่สะดวก ผมจึงเลือกไม่ใส่ดีกว่า” เวลาที่ท้อจะนึกถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ไม่ต้องสนใจว่าอดีตจะเป็นอย่างไร ไม่ต้องสนใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อยังมาไม่ถึง ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด และสิ่งดีๆ ทุกอย่างจะตามมาเอง” เป็นเรื่องจริงถ้าทำที่ท่านบอกทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องจริง
สิ่งที่ผมอยากทำมากที่สุด “ผมอยากเจอแม่ อยากรู้ว่าแม่เป็นใคร หน้าตาเหมือนผมหรือเปล่า ถึงแม่จะไม่อยากเจอหรือว่าเหตุผลอะไรก็ตาม เพียงผมอยากจะเจอท่าน สิ่งที่มีหลักฐานคือใบแจ้งเกิด ถ้าผมมีโอกาสผมจะเดินทางไป จ.อุบลราชธานี ถึงจะมีเพียงใบแจ้งเกิดก็ตาม ตอนนี้อายุ 23 ปี อีก 1 ปี ข้างหน้าจะสำเร็จการศึกษา “ผมจะทำงานเลี้ยงพ่อ และตอบแทนบุญคุณของน้าและป้า” และสิ่งสำคัญที่สุด “ผมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ท่านทรงพระราชทานทุนการศึกษาให้แก่ผม ถ้าไม่มีท่านผมคงไม่ได้รับการศึกษา” ถ้าทุกคนมีความตั้งใจ สร้างกำลังใจด้วยตนเอง อย่าท้อแท้ เพราะว่า ความท้อแท้จะทำให้ชีวิตมีความลำบาก ให้คิดว่าความท้อแท้เป็นเครื่องของความสำเร็จในอนาคต ตั้งใจและมั่นคง แล้วคุณจะชนะ “ผมไม่เคยน้อยใจในโชคชะตา” น้องกี้กล่าวทิ้งท้าย
ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0-2549-4994