กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--Fitch Ratings
ฟิทช์ เรทติ้งส์-กรุงเทพฯ/สิงคโปร์-03 พฤศจิกายน 2547 บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะสั้นที่ระดับ F1(tha) แก่โปรแกรมการออกตั๋วแลกเงินอายุไม่เกิน3 เดือนซึ่งสามารถออกหมุนเวียนใหม่ได้ มูลค่าไม่เกิน 8 พันล้านบาทของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อันดับเครดิตระยะสั้นของโปรแกรมสะท้อนถึงวงเงินสินเชื่อสำรองซึ่งได้รับจากบริษัท เอ็กซอนโอเวอร์ซี อินเวสต์เมนต์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท เอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil) โดยที่โปรแกรมได้มีการจัดวางเพื่อให้วงเงินสินเชื่อสำรองที่ได้รับดังกล่าวสามารถครอบคลุมมูลค่าตั๋วแลกเงินที่ออกตลอดอายุของตั๋วแลกเงิน นอกจากนี้ เอสโซ่ (ประเทศไทย) ยังจะรักษาวงเงินสินเชื่อสำรองที่มีอยู่ให้ครอบคลุมและมีไว้เพื่อชำระภาระหนี้สินระยะสั้นของบริษัท ซึ่งนอกจากตั๋วแลกเงินภายใต้โครงการดังกล่าวแล้วยังรวมถึงภาระหนี้สินระยะสั้นอื่นๆที่มีกำหนดการชำระภายในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้าอีกด้วย
อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการสนับสนุนทางด้านการดำเนินธุรกิจและการเงินจากบริษัทแม่ การจัดหาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากบริษัทแม่ในราคาที่ค่อนข้างได้เปรียบ ต้นทุนการกลั่นที่ต่ำ และชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักมานานในประเทศไทย เอสโซ่ (ประเทศไทย) เป็นหนึ่งในบริษัทในเครือของ ExxonMobil ที่ดำเนินธุรกิจการกลั่นน้ำมัน การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมัน และการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่สำคัญในทวีปเอเชีย ด้วยเงินลงทุนประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในด้านการช่วยเหลือทางด้านการเงิน นอกจาก ExxonMobil จะให้วงเงินสินเชื่อสำรองแล้ว ExxonMobil ยังให้เงินกู้แก่ เอสโซ่ (ประเทศไทย) เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้จากธนาคารในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 อีกด้วย บริษัทในกลุ่ม ExxonMobil ถือหุ้น 87.5% ในเอสโซ่ (ประเทศไทย) ในขณะที่สัดส่วนที่เหลือถือโดยกระทรวงการคลัง
อันดับเครดิตระยะสั้นนี้ยังพิจารณารวมถึงสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างอ่อนแอของ เอสโซ่ (ประเทศไทย) ถึงแม้ว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้น และยังสะท้อนถึงสภาพธุรกิจน้ำมันในประเทศในปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินและการแข่งขันที่สูง รวมถึงลักษณะวัฏจักรที่ผันผวนของธุรกิจน้ำมัน เอสโซ่ (ประเทศไทย) มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นมากในปี 2546 เนื่องจากปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศที่เติบโตต่อเนื่องและค่าการกลั่น (Refining margin) ที่สูงขึ้น โดยมีรายได้รวม 1.2 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 19% และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 1.06 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 341% โดยที่กำไรส่วนหนึ่ง (ประมาณ 5.4 พันล้านบาท) เกิดจากการที่บริษัทเปลี่ยนวิธีการลงบัญชีสินค้าคงคลังจาก LIFO เป็น FIFO ผลการดำเนินงานที่ดีทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ปรับตัวดีขึ้นเป็น 6.0 เท่า ณ สิ้นปี 2546 แต่ถ้ารวมดอกเบี้ยค้างชำระที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงกำหนด (Zero Coupon Bond) ซึ่งดอกเบี้ยค้างชำระเหล่านี้จะเป็นมูลหนี้ที่บริษัทจะต้องชำระในอนาคตแล้ว หนี้สินสุทธิของบริษัทจะเพิ่มเป็นประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หรือเท่ากับ 8.6 เท่าของ EBITDA ของปี 2546 ถึงแม้ว่าสถานะทางการเงินของ เอสโซ่ (ประเทศไทย) จะปรับตัวดีขึ้น อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทยังคงสูงอยู่
หนี้สินรวมของ เอสโซ่ (ประเทศไทย) ณ สิ้นปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็น 6.44 หมื่นล้านบาทเนื่องจากดอกเบี้ยค้างชำระจาก Zero Coupon Bond ซึ่งประมาณ 87% ของหนี้สินรวมเป็นเงินกู้จากบริษัทในเครือของ ExxonMobil และเป็นเงินกู้ระยะยาว ส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงิน ในส่วนของเงินกู้จากบริษัทในเครือของ ExxonMobil จำนวน 5.62 หมื่นล้านบาท เอสโซ่ (ประเทศไทย) มีเงินกู้ในรูปของ Zero Coupon Bond จำนวน 3.75 หมื่นล้านบาทซึ่งบริษัทที่ให้กู้ไม่สามารถจะเรียกคืนเงินกู้ได้ก่อนครบกำหนดในปี 2552-2555 นอกจากจะมีการตกลงร่วมกันทั้ง 2 ฝ่ายในการชำระคืนก่อนกำหนด เอสโซ่ (ประเทศไทย) ยังมีหนี้สินจำนวน 1.67 หมื่นล้านบาทเป็นสัญญาเช่าทางการเงินกับบริษัทในเครือของ ExxonMobil โดยมีระยะเวลาการเช่าถึงปี 2555 ซึ่งจะมีการจ่ายค่าเช่าคงที่เป็นรายปี ซึ่งสัญญานี้ไม่สามารถยกเลิกก่อนกำหนดได้นอกเหนือจากมีการตกลงร่วมกันทั้ง 2 ฝ่ายในการยกเลิกสัญญา และในส่วนที่เหลืออีก 1.8 พันล้านบาทเป็นเงินกู้จากบริษัทในเครือของ ExxonMobil ภายใต้สัญญาวงเงินสินเชื่อสำรองหมุนเวียน ซึ่งจะหมดอายุในเดือนมิถุนายน 2549 ถึงแม้ว่าสถานะทางการเงินของ เอสโซ่ (ประเทศไทย) จะค่อนข้างอ่อนแอ การจัดโครงสร้างของโปรแกรมการออกตั๋วแลกเงินในครั้งนี้ ซึ่งมีการจัดเตรียมวงเงินสินเชื่อสำรองให้เพียงพอกับมูลค่าตั๋วแลกเงินตลอดอายุของตั๋วแลกเงิน ประกอบกับหนี้สินส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นหนี้สินระยะยาวและเป็นเงินกู้จากบริษัทในเครือของ ExxonMobil ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยผ่อนคลายความกังวลที่เกิดจากสถานะทางการเงินที่อ่อนแอของ เอสโซ่ (ประเทศไทย)
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เอสโซ่ (ประเทศไทย) ได้รับผลประโยชน์จากการที่ค่าการกลั่นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่สูงขึ้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงและอุปทานส่วนเกินที่ลดลงของน้ำมันที่กลั่นภายในประเทศถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ค่าการกลั่นสูงขึ้น ค่าการกลั่นโดยเฉลี่ยในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1.72 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2545 เป็น 2.92 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2546 และ 4.41 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันและค่าการกลั่นน่าจะมีแนวโน้มที่ลดลงหลังปี 2548 อันเป็นผลจากกำลังการกลั่นน้ำมันในประเทศที่คาดว่าจะสูงขึ้น เอสโซ่ (ประเทศไทย) คาดว่าอัตราการบริโภคน้ำมันในประเทศที่สูงอย่างต่อเนื่องและผลประกอบการที่ดีขึ้นจากสายธุรกิจปิโตรเคมีน่าจะช่วยลดทอนผลกระทบจากค่าการกลั่นที่อาจจะปรับลดลงได้
สำหรับรายงานฉบับสมบูรณ์ของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หาได้จาก www.fitchratings.com หรือ ติดต่อ
เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, ผู้ช่วยกรรมการ ภาคอุตสาหกรรม
+662 655 4760
วสันต์ ผลเจริญ, นักวิเคราะห์ ภาคอุตสาหกรรม
+662 655 4763
Vincent Milton, กรรมการผู้จัดการ
+662 655 4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้--จบ--