กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--ซิลเลเบิล
เอกอัครราชทูตไทยประจำปักกิ่งปลื้มผู้บริโภคจีนเปิดรับวัฒนธรรมไทยเร่งส่งเสริม “ซอฟท์พาวเวอร์” เชื่อมั่นผลักดันมูลค่าการค้า-การลงทุนกระฉูด
เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน นายวิบูลย์ คูสกุล เผยผู้บริโภคชาวจีนมีกำลังซื้อสูงและให้ความนิยมในสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งสนใจในวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก ย้ำไทยต้องมุ่งสร้าง “ซอฟต์พาวเวอร์” หรือการรุกตลาดโดยใช้มิติทางวัฒนธรรม และส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-จีนให้แน่นแฟ้น มั่นใจจะช่วยผลักดันการขยายตัวมูลค่า การค้า การลงทุนจนทะลุเป้าแน่นอน
เอกอัครราชทูต วิบูลย์ ได้ให้สัมภาษณ์ ณ ทำเนียบฯเนื่องในโอกาสที่สถานทูตไทยได้จัดเทศกาลอาหารไทย ที่ โรงแรม เจ.ดับบลิว แมริออท ณ กรุงปักกิ่งเมื่อเร็วๆนี้ว่า “ตลาดจีนในปัจจุบันนี้มีกำลังซื้อสูงมาก และภายในปี 2020 ประเทศจีนจะมีผู้มีฐานะอันจะกินจำนวนกว่า 500 ล้านคน ผู้บริโภคเหล่านี้แทบไม่สนใจเรื่องราคาแต่จะเน้นสินค้าที่มีคุณภาพ ที่สำคัญประชาชนชาวจีนได้หันมาสนใจสินค้าไทย ทั้ง ข้าว ผลไม้ รวมไปถึงภาพยนตร์และโทรทัศน์ไทยอีกด้วย ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้จุดประกายให้ทางสถานทูตฯ ริเริ่มจัดเทศกาลไทยในรูปแบบต่างๆ ในหลายเมืองทั่วประเทศจีน”
ตลอดปี 2555 ที่ผ่านมานี้ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่งได้ร่วมมือกับหน่วยราชการและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจัดงานส่งเสริมสินค้าไทยในเมืองสำคัญๆ อาทิ เซียงไฮ้ คุนหมิง เซินหยาง และอื่นๆ ทั้งในรูปแบบการโปรโมทผลไม้ไทย ภาพยนตร์ไทย และอื่นๆ โดยล่าสุดคือการจัดเทศกาลอาหารไทย ที่โรงแรม เจ ดับลิว แมริออท ปักกิ่ง และยังจะมีแผนการรุกตลาดอย่างต่อเนื่องในปี 2556 นี้และปีต่อๆไป
“การรุกตลาดผ่านมิติทางวัฒนธรรม หรือการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศ จะไม่ถูกจำกัดโดยสถานการณ์ เนื่องจากไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ผู้ที่ชอบก็คือชอบอยู่ดี และเมื่อชอบก็พร้อมที่จะจ่ายเพื่อซื้อหามาให้ได้ ต่างจากเรื่องการเมือง ที่อาจแปรผัน หรือหยุดชะงักไปตามสถานการณ์” ท่านเอกอัครราชทูตอธิบายพร้อมเผยว่า ในปริมาณมูลค่าการค้าระหว่างจีนและไทยปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 800,000 ล้านบาทนั้นเป็นส่วนของผลไม้อยู่ถึงประมาณ 200,000 ล้านบาท และผลไม้จากเมืองไทยที่กำลังเป็นที่นิยม ได้แก่ ทุเรียน กล้วยไข่ ลำไย มังคุด ส้มโอ และมะขาม
กลยุทธ์ดังกล่าวสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งผลักดันมูลค้าการค้า ไทย-จีนให้ขยายตัวสู่ระดับ 120,000 ล้านดอลลาร์ (3,600,000 ล้านบาท) ในเวลา 5 ปี หลังจากที่ทั้งสองประเทศได้มีการเซ็นสัญญาข้อตกลง 3 ฉบับ เมื่อเดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมา ระหว่างที่นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและคณะ เดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งประกอบด้วย
1. แผนพัฒนาระยะ 5 ปี ว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน รวมถึง โครงการการค้าระหว่างประเทศ ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการก่อสร้างพื้นฐาน
2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคของการนำเข้า - ส่งออก ตลอดจนถึงการกระตุ้นและส่งเสริมสินค้าเกษตรกรรม
3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยกับสำนักงานบริหารงานภาครัฐเพื่อภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของจีน เพื่อออกกฏหมายกระตุ้นการค้าของทั้ง 2 ประเทศ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การจดทะเบียนธุรกิจ ตลอดถึง เวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้าระหว่างประเทศ
“เราเลือกที่จะนำเสนอประเทศไทยในรูปแบบต่างๆ ในด้านวัฒนธรรม นอกเหนือจากทางด้านการเมือง เพราะมันถึงจุดที่เราต้องมาเน้นเรื่องซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เช่นการจัดเทศกาล ที่เน้นวัฒนธรรมไทยให้มากขึ้น เผยแพร่โดยมุ่งในมิตินี้ให้มากขึ้น ซึ่งตลอดความสัมพันธ์ 30 ปีที่ผ่านมา บางทีเราไปมุ่งความสัมพันธ์ด้านอื่น” นายวิบูลย์ย้ำก่อนสรุปว่า
“สภาพการณ์ความสัมพันธ์ไทย-จีนในปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นยุคที่ดีที่สุดยุคหนึ่งทีเดียว การพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้นในอนาคตจะช่วยผลักดันขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนได้อีกนับไม่ถ้วน”