กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ฝรั่งเศสก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แนะผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพ-สิ่งอำนวยความสะดวก ทูตพาณิชย์เมืองน้ำหอมเผยนโยบายเศรษฐกิจยังไม่กระทบต่อการส่งออก แต่เริ่มมีแรงกดดันจากการใช้มาตรการปกป้องทางการค้าเพิ่มขึ้น
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าของฝรั่งเศส เพื่อดำเนินกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกในตลาดยุโรปว่า ฝรั่งเศสมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในยุโรปรองจากเยอรมนี และมีอัตราการใช้จ่ายต่อปีอยู่ในอันดับต้นๆ ของยุโรป ประชากรฝรั่งเศสกำลังเข้าสู่สภาวะผู้สูงอายุ โดยภายใน 25 ปีข้างหน้าคาดว่าประชากรที่มีอายุมากกว่า 50 ปีจะมีสัดส่วนสูงกว่า 40%ของจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีอยู่ 64 ล้านคน
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยของชาวฝรั่งเศสลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวฝรั่งเศสคำนึงถึงมูลค่าของเงินมากยิ่งขึ้น เกิดลักษณะการบริโภคแบบประหยัดใหม่ๆ หลายแบบ อันจะเป็นช่องทางและโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ในการเข้าทำตลาด อาทิ การที่จำนวนผู้อาศัยอยู่คนเดียวมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการค้าปลีกเขตเมือง นิยมซื้อของในร้านค้า โดยกว่า 40% ของผู้บริโภคต้องการข้อมูลผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อเป็นหลักในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า เป็นต้น
“การประชาสัมพันธ์ ณ จุดขาย สื่อสิ่งพิมพ์และการบอกกล่าวแบบปากต่อปาก เป็นช่องทางที่ชาวฝรั่งเศสนิยมใช้หาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ หรือบริการต่างๆ มีเพียง 5% เท่านั้นที่ให้ความสนใจกับการโฆษณาทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ผู้บริโภคชาวฝรั่งเศสจะหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ตนเองไม่รู้จัก ไม่มีข้อมูล หรือ มีข้อมูลแต่ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจซื้อ หรือ เปรียบเทียบราคาสินค้ากับระดับคุณภาพที่เหมาะสมเป็นสำคัญ”นางศรีรัตน์ กล่าว
นายปกายศักดิ์ สวัสดิสิงห์ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กล่าวเพิ่มเติมว่า บรรจุภัณฑ์ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าทำตลาดฝรั่งเศส โดยนอกจากจะต้องมีรายละเอียด และข้อมูลของ ผลิตภัณฑ์ที่ครบถ้วนแล้ว ยังต้องระมัดระวังในเรื่องของภาษาที่ใช้ ซึ่งบางครั้งการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ดังนั้นผู้ผลิตไทยอาจใช้ประโยชน์จากช่วงที่ผู้บริโภคชาวฝรั่งเศสมีกาลังซื้อลดลง นำเสนอสินค้าระดับกลางใน ราคาที่น่าสนใจ ซึ่งอาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวฝรั่งเศสที่มีอายุมากที่มองหาสินค้าเพื่อสุขภาพ และสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวก
“ในภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจฝรั่งเศสในปัจจุบัน ยังไม่เอื้อต่อการส่งออกของไทยเท่าที่ควร เนื่องจากมีความ ต้องการน้อย ไม่เว้นแม้แต่ความต้องการของภาคครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมาการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนถือเป็นกลไกหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจฝรั่งเศส นอกจากนี้มีความกดดันให้รัฐบาลใช้มาตรการปกป้องทางการค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอุปสรรคทั้งทางด้านกฎระเบียบและด้านบริหารจัดการการนำเข้าสินค้าจากไทย”นายปกายศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้การสนับสนุนของรัฐต่อภาคธุรกิจในฝรั่งเศส ไม่น่าจะมีผลโดยตรงต่อศักยภาพการส่งออกของไทยมายังฝรั่งเศส เพราะโดยส่วนใหญ่สินค้าไทยไม่ได้แข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในฝรั่งเศส อย่างไรก็ดีอาจมีความเป็นไปได้ที่ฝรั่งเศสจะใช้มาตรการปกป้องทางการค้า เนื่องจากฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมภายใน ท่ามกลางแนวนโยบายของผู้บริหารระดับสูงเป็นปฏิปักษ์ต่อต้านการเปิดเสรีทางการค้า และบางส่วนยึดหลักการ ต่างตอบแทนสำหรับการค้าระหว่างประเทศ
นายปกายศักดิ์ กล่าวว่า การส่งออกของอาเซียนหลายประเทศมายังตลาดฝรั่งเศสมีการเติบโตอย่างมาก แม้ในสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ นอกจากสิงคโปร์ (ซึ่งประเมินการส่งออกได้ยาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการ Re-export) เวียดนาม กัมพูชา และพม่า ซึ่งมีต้นทุนแรงงานที่ต่ำ ได้เปรียบในฐานะเป็นผู้ส่งออกสินค้าราคาถูก เพราะตลาดฝรั่งเศส ซึ่งมีกำลังซื้อลดลง รวมทั้งผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกที่ลดกำไรลดลงต้องการสินค้าราคาถูก แต่มีข้อสังเกตว่า ปี 2555 เป็นปีแรกที่มูลค่าการนำเข้าจากเวียดนามสูงกว่าการนำเข้าจากไทย เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ผู้นำเข้าฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับราคาเป็นอย่างมาก ต้นทุนที่สูงกว่าของไทย จึงส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน
สำนักประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
โทร.(02) 507-7932-34