ม.อ. เปิดประชุมสัมมนาวิชาการนานาชาติอิสลามศึกษา ดึงตัวแทนสถาบัน-นักวิชาการ 40 ประเทศทั่วโลกร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้

ข่าวทั่วไป Monday January 14, 2013 11:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดการประชุมสัมมนาวิชาการอิสลามนานาชาติ ในหัวข้อ ‘อิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย Islamic Studies in Changing World: Challenges and Opportunities 2012’ ระหว่างวันที่ 14-16 มกราคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สานต่อความร่วมมือด้านวิชาการอิสลามศึกษาตามข้อตกลงปฏิญญาปัตตานี โดยมีรัฐมนตรีจากประเทศมุสลิม ตัวแทนสถาบันการศึกษาด้านอิสลามศึกษา คณาจารย์และนักวิชาการอิสลามศึกษาทั่วโลกจาก 40ประเทศ เข้าร่วมประชุมครั้งนี้กว่า 500 คน โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานสัมมนา รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) (Assoc. Prof. Dr.Chusak Limsakul, Prince of Songkla University) เปิดเผยว่า การจัดประชุมสัมมนาวิชาการอิสลามนานาชาติ เรื่อง อิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง: โอกาสและสิ่งท้าทาย (Islamic Studies in Changing World: Challenges and Opportunities 2012) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14-16 ม.ค. 2556 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีในครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ด้านอิสลามศึกษาในประเทศไทย ที่จะได้รับรู้แนวคิดและประสบการณ์จากนักวิชาการด้านอิสลามศึกษานานาชาติจาก 40 ประเทศ และนักวิชาการอิสลามทั่วโลก รวมถึงนักวิชาการจากไทย จำนวนกว่า 500 คน ที่จะร่วมกำหนดแนวทางพัฒนาอิสลามศึกษาในประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้มแข็งในหลักสูตรอิสลามศึกษาให้เท่าเทียมกับนานาชาติ สำหรับการประชุมดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกที่จัดการเรียนการสอนทางด้านอิสลามศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์ ประเทศอียิปต์ มหาวิทยาลัยนานาชาติอัฟริกัน ประเทศซูดาน และมหาวิทยาลัยอัลบัยต์ ประเทศจอร์แดน ซึ่งล้วนเป็นมหาวิทยาลัยอิสลามศึกษาชั้นนำของโลกและเป็นมหาวิทยาลัยที่มีแนวคิดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาที่มีลักษณะทางสายกลาง สอดคล้องกับบริบทของมุสลิมในประเทศไทย มาร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย “การจัดประชุมสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นการสานต่อปฏิญญาปัตตานี ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาที่เป็นตัวแทนจากประเทศต่างๆ ได้แก่ อียิปต์ การ์ต้า จอร์แดน ซูดาน ตุรกี ปากีสถาน จีน ซาอุดิอารเบีย โมร็อคโค ตูนีเซีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และนักวิชาการไทย ได้เห็นชอบร่วมกันในการสนับสนุนการศึกษาอิสลามศึกษาในประเทศไทย โดยให้มีการจัดประชุมทุกๆ 2 ปี เพื่อเป็นเวทีร่วมกันระดมความคิดเห็นทางวิชาการอิสลามศึกษา เพื่อใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความร่วมมือพัฒนาการศึกษาด้านอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ” รองศาสตราจารย์ ดร. ชูศักดิ์ กล่าว อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการงานสัมมนาครั้งนี้ จะมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับอิสลามศึกษาจากทั่วโลกกว่า 20 หัวข้อทั้งจากนักวิชาการต่างประเทศและนักวิชาการไทย ตลอดจนการวิพากษ์และเสนอแนะโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอิสลามศึกษาในกลุ่มประเทศแอฟริกา ยุโรป อเมริกาและเอเชีย รวมถึงการจัดประชุมโต๊ะกลมโดยผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอิสลาม การประกาศข้อสรุปและการจัดทำข้อตกลงร่วมกัน นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมสัมมนาครั้งนี้เยี่ยมชมและศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของชาวมุสลิมในภาคเหนืออีกด้วย “ขณะนี้เรามีความพร้อมด้านการจัดประชุม ที่คาดว่าจะมีรัฐมนตรี นักวิชาการ สถาบันการศึกษาด้านอิสลามศึกษาเข้าร่วมประชุมสัมมนาครั้งนี้กว่า 500 คน โดยจะร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับอิสลามศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะช่วยยกระดับวิทยาลัยอิสลามศึกษาของ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานีให้ก้าวสู่สถาบันการศึกษาอิสลามศึกษาระดับนานาชาติ และสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียน หรือ Asean Education Hub อีกด้วย” รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ