กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “เด็กและเยาวชนกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC)” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9 — 11 มกราคม 2556 จากเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ จำนวน 1,232 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค เกี่ยวกับ เด็กและเยาวชนกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC)ในปี พ.ศ. 2558 และเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556
จากการสำรวจ พบว่า อาชีพที่เด็กและเยาวชนใฝ่ฝันอยากจะเป็นมากที่สุด ร้อยละ 13.47 แพทย์ พยาบาล รองลงมา ร้อยละ 12.01 อยากเป็นครู อาจารย์ ร้อยละ 11.04 อยากเป็นวิศวกร สถาปนิก นักออกแบบ ร้อยละ 10.15 อยากทำอาชีพส่วนตัว เช่น ค้าขาย เสริมสวย และร้อยละ 7.06 อยากรับราชการ (ข้าราชการทั่วไปที่ไม่ระบุอาชีพ)
สำหรับการกระทำหรือพฤติกรรมที่ไม่ดีของผู้ใหญ่ที่เด็กและเยาวชนไม่ชอบมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 44.72 การไม่ซื่อสัตย์สุจริต ขี้โกง ทุจริตคอร์รัปชั่น รองลงมา ร้อยละ 22.16 เป็นการทะเลาะกัน การใช้ความรุนแรง ร้อยละ 16.56 การติดเหล้า บุหรี่ ยาเสพดิต และร้อยละ 6.82 การเล่นการพนัน
เมื่อถามถึงนักการเมืองที่เด็กและเยาวชนรู้จักและชื่นชอบมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 38.77 ระบุว่า ไม่มีนักการเมืองที่ตัวเองชื่นชอบ รองลงมา ร้อยละ 26.66 เป็นนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และร้อยละ 15.37 เป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ท้ายสุด เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.43 รับรู้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 มีเพียงร้อยละ 6.57 ที่ไม่ทราบ ทั้งนี้เด็กและเยาวชนมีการเตรียมความพร้อมตัวเองเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 โดยร้อยละ 49.35 หมั่นฝึกฝนการใช้ทักษะภาษาเพิ่มมากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 24.51 จะตั้งใจและเอาใจใส่ในการศึกษาเล่าเรียนให้มากขึ้น ร้อยละ 14.45 จะศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ร้อยละ 4.30 มีทัศนคติที่ดีต่อความเป็นไทย ภูมิใจในศิลปะและวัฒนธรรมไทย และร้อยละ 7.39 ไม่ได้เตรียมตัว รู้สึกเฉยๆ
อาจารย์ ดร. วิชัย รูปขำดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการปฏิรูประบบราชการและการประเมินผลโครงการของภาครัฐ ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลสำรวจในครั้งนี้ว่า “เด็กและเยาวชนทุกวันนี้ได้รับอิทธิพลจากสื่อต่างๆ และสิ่งใกล้ตัวจากสังคมเป็นหลัก เช่น อาชีพหรืออนาคตที่เด็กอยากจะเป็นนั้น เกิดจากการที่เด็กใกล้ชิดในปัจจัยแวดล้อมที่เห็นอยู่ประจำ หรือตามกระแสสังคม เช่น อาชีพแพย์ พยาบาล อาชีพครู เป็นต้น เช่นเดียวกันกับพฤติกรรมตัวอย่างที่ไม่ดีจากผู้ใหญ่ ที่ยังขาดคุณธรรม ศีลธรรมอันดีงาม เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้ความรุนแรง การทะเลาะกัน เด็กจึงเกิดการลอกเลียนแบบ เพราะขาดตัวแบบ (Model) หรือตัวอย่างที่ดี สอดคล้องกับความคิดเห็นของเด็กที่ระบุว่า ไม่มีนักการเมืองคนไหนที่ชื่นชอบ สูงถึง ร้อยละ 38
ส่วนความรู้ความเข้าใจในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) นั้น มองว่าเด็กยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจน เด็กทราบเพียงแต่ว่าจะมีการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี พ.ศ. 2558 โดยสื่อและกระแสมุ่งเน้นไปในมิติด้านเศรษฐกิจ (Economic) มากกว่าด้านมิติวัฒนธรรม มิติภูมิปัญญา และมิติการเมือง จึงมองข้ามในประเด็นบางส่วน เช่น การรับรู้เกี่ยวกับผู้นำในอาเซียนบางประเทศที่ดี (มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย) ดังนั้นเด็กจึงยังจัดลำดับความสำคัญในการปรับตัวหรือเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ยังไม่ถูกต้องเท่าที่ควร กล่าวคือ อันดับแรกเด็กต้องศึกษาหาความรู้ ข้อมูลเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนให้เข้าใจเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาปรับตัวหรือเตรียมความพร้อมในรายละเอียดที่ลึกลงไปในขั้นต่อไป เช่น การฝึกฝนทักษะด้านภาษา การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ควรมีนโยบายในการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้องผ่านสื่อต่างๆ ด้วย