กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--ส.อ.ท.
สภาอุตสาหกรรมฯ เผยแนวทางช่วยผู้ประกอบการ SMEs ให้รับมือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ ด้วยโครงการ “SMEs We Care” ยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือ SMEs พร้อมเดินหน้าผลักดันข้อเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการปรับค่าขึ้นค่าแรง 300 บาท ทั่วประเทศ ที่มีผลไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือ SMEs ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระต่อไปได้เนื่องจากต้นทุนการประกอบการที่สูงขึ้น อาทิ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นในกระบวนการผลิต จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้ผลตอบแทนลดลง เนื่องจากไม่สามารถขึ้นราคาขายได้ กอปรกับราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งแรงงานขาดทักษะ (แรงงานยังด้อยฝีมือไม่เหมาะสมกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น) รวมถึงการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกปรับขึ้นราคาได้ยากกว่า ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเกิดข้อได้เปรียบเนื่องจากไม่ได้มีต้นทุนแรงงานที่สูงเท่าประเทศไทย ซึ่งค่าแรงไทยสูงกว่าเวียดนามประมาณ 1.5 เท่า และสูงกว่าประเทศกัมพูชาประมาณ 3.1 เท่า
ด้วยเหตุดังกล่าว สภาอุตสาหกรรมฯ ซึ่งได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2555 ก่อนการปรับขึ้นค่าแรงครั้งแรก โดย ส.อ.ท. ได้จัดระดมความคิดเห็นในส่วนของผู้ประกอบการ SMEs ที่จะได้รับผลกระทบหลังการปรับขึ้นค่าแรง ซึ่ง ส.อ.ท. ได้จัดทำข้อแสนอการบรรเทาผลกระทบเพื่อเสนอต่อภาครัฐผ่านการผลักดันของ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.พร้อมประชุมหารือร่วมกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ซึ่งมาตรการที่ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐจำนวน 5 มาตรการนั้น ยังเป็นมาตรการที่ยังไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs และเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด อาทิ มาตรการทางด้านภาษี และสินเชื่อที่ออกมานั้น ให้ประโยชน์เพียงผู้ประกอบการที่สามารถผ่านวิกฤติได้ด้วยตนเอง โดยที่มาตรการภาษีจะส่งเสริมให้มีความสามารถในการทำกำไรได้เพิ่มขึ้น มีรายได้มากขึ้น หรือหากสามารถกู้ยืมเงินเพื่อขยายงาน ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การเปลี่ยนเครื่องจักร เปลี่ยนอุปกรณ์ เป็นต้น ซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายที่
สภาอุตสาหกรรมฯ เสนอไป คือ ต้องการให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลาง และเล็ก หรือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งอาจจะเกิดจากการมองเห็นปัญหาในมุมมองที่แตกต่างกัน โดยภาครัฐอาจเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันเรื่อง การชดเชยส่วนต่างค่าแรง ที่เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ จะร่วมกับ กกร. ผลักดันอย่างต่อเนื่อง
นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว และมีความประสงค์ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงได้จัดทำโครงการ “SMEs We Care” เพื่อช่วยยกระดับผู้ประกอบการ ให้สามารถต่อสู้กับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำผ่านการพัฒนาศักยภาพและการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ โดยโครงการ “SMEs We Care” เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นภายใต้การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชน และภาครัฐ ซึ่งมีแนวคิดร่วมกันในการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้สามารถยืนหยัดแข่งขันในตลาดต่อไปได้ รายละเอียดกิจกรรมภายใต้โครงการ “SMEs We Care” มีดังนี้
1. ส่งเสริม SMEs เพื่อพัฒนานวัตกรรม Creative SMEs
2. โครงการเพิ่มผลิตภาพและพัฒนาประสิทธิภาพในธุรกิจ SMEs ด้านการผลิต (ProductivityImprovement)
3. โครงการลดต้นทุนทางด้านโลจีสติกส์ภานในองค์กร Internal Logistic Improvement
4. ส่งเสริมพัฒนาและผลิตเครื่องจักรในประเทศลดการนำเข้า
5. การสร้างความรู้กับความเข้าใจด้าน Productivity Improvementกับผู้ประกอบการ
6. การจัด Focus Group เพื่อรับฟังประเด็นปัญหา/ความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs
7. พัฒนาสินค้า SMEs ให้ได้มาตรฐาน
8. เพิ่มศักยภาพฝีมือแรงงาน
9. ส่งเสริม Venture Capital ซึ่งเป็นแหล่งทุนที่สำคัญของ SMEs อีกทางหนึ่ง
10. ผลักดันรูปแบบความช่วยเหลือทางด้านการเงินต่างๆ สำหรับ SMEs (Financial Package) อาทิ Productivity Improvement Loan
11. การสร้างเครือข่ายในกลุ่ม ASEAN และ สนับสนุนการการค้า / ลงทุนระหว่าง SMEs ไทยกับ SMEs ASEAN
12. F.T.I Factory Outlet ส่งเสริมช่องทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการ SMEs
13. ให้คำปรึกษาสร้างยุทธศาสตร์เชิงรุก AEC ให้กับผู้ประกอบการ
นอกเหนือจากโครงการ “SMEs We Care” ที่จะช่วยเหลือ SMEs ไทยโดยตรงแล้ว สภาอุตสาหกรรมฯ ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือผลักดันมาตรการที่เหลืออยู่ต่อภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังดำเนินการหาแนวทางการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาศักยภาพเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถปรับตัว อีกทั้งมีภูมิคุ้มกัน และยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการได้