กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
เทคโนโลยีก้าวล้ำจะนำเราไปสู่ยุคสมัยของระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถรับรู้รูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัสได้
ไอบีเอ็มเผย 5 นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนอนาคตการทำงาน การใช้ชีวิต และการติดต่อสื่อสารของคนเราในอีก 5 ปีข้างหน้า ในรายงาน "ไอบีเอ็ม ไฟว์ อิน ไฟว์" หรือ “IBM 5 in 5” ฉบับล่าสุด
5 นวัตกรรมล้ำยุค ประกอบด้วย
การสัมผัส: คุณจะสามารถสัมผัสผ่านโทรศัพท์ของคุณ
การมองเห็น: ภาพหนึ่งพิกเซลจะมีคุณค่ามากกว่าหลายถ้อยพันคำ
การได้ยิน: คอมพิวเตอร์จะได้ยินสิ่งที่สำคัญ
การลิ้มรส: ปุ่มรับรสดิจิตอลจะช่วยให้คุณรับประทานอาหารอย่างชาญฉลาดขึ้น
การดมกลิ่น: คอมพิวเตอร์จะสามารถดมกลิ่นได้
สิ่งที่ไอบีเอ็มกล่าวไว้ในรายงาน "ไอบีเอ็ม ไฟว์ อิน ไฟว์" ปีนี้ คือ นวัตกรรมคอมพิวติ้งซึ่งไอบีเอ็มเรียกว่าระบบที่มีกระบวนการรับรู้ หรือ Cognitive Systems ที่จะทวีบทบาทและเป็นรากฐานสำคัญของคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ที่สามารถเรียนรู้ ปรับตัว รับรู้ และสัมผัสโลกของเราในแบบที่เป็นอยู่ได้ ในอีก 5 ปีข้างหน้า คอมพิวเตอร์จะสามารถเลียนแบบประสาทสัมผัสของมนุษย์ ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส
นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ทุกปี นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาของไอบีเอ็มทั่วโลกจะร่วมกันศึกษาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ และคาดการณ์แนวโน้มทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะมีอิทธิพลต่อสังคมและธุรกิจโลก โดยจัดทำเป็นรายงาน “ไอบีเอ็ม ไฟว์ อิน ไฟว์” นำออกเผยแพร่ทั่วโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 7 แล้ว สำหรับปีนี้ นักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มเน้นการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีก้าวล้ำที่จะช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวและเลียนแบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ ซึ่งเป็นย่างก้าวสำคัญสู่ยุคสมัยใหม่ของคอม พิวติ้งที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตเราในอนาคตอันใกล้นี้”
ต่อไปนี้เป็นข้อมูลคาดการณ์ของนวัตกรรม 5 ประการที่จะกำหนดอนาคตของเราใน 5 ปีข้างหน้า
การสัมผัส: คุณจะสามารถสัมผัสผ่านโทรศัพท์ของคุณ
ในอีก 5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมต่างๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยความสามารถในการ “สัมผัส” ผลิตภัณฑ์ผ่านอุปกรณ์พกพา ว่าที่เจ้าสาวจะสามารถเลือกชุดแต่งงานได้โดยสัมผัสเนื้อผ้าซาตินหรือผ้าไหมที่ใช้ตัดเย็บรวมถึงผ้าลูกไม้ที่ใช้คลุมหน้าได้จากหน้าจอแทบเล็ต ขณะที่แม่บ้านจะสามารถสัมผัสลูกปัดหรือเส้นไหมที่ใช้ถักทอผ้าห่มผืนใหญ่ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมท้องถิ่นของชนพื้นเมืองในอีกซีกโลกหนึ่งได้ เพียงแค่ลากนิ้วผ่านหน้าจอโทรศัพท์
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มกำลังใช้เทคโนโลยีการรับรู้โดยใช้แรงป้อนกลับ อินฟราเรด และความไวต่อแรงกด เพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับธุรกิจค้าปลีก การแพทย์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ วัตถุทุกประเภทจะมีชุดรูปแบบของการสั่นไหวเฉพาะ ที่มอบประสบการณ์การสัมผัสสมจริงเวลาที่ผู้บริโภคลากนิ้วผ่านภาพสินค้าบนหน้าจออุปกรณ์พกพา เช่น การสั่นไหวสั้นๆ อย่างรวดเร็ว หรือการสั่นไหวที่แรงขึ้นและต่อเนื่องเป็นเวลานาน รูปแบบการสั่นไหวนี้จะกระตุ้นประสาทสัมผัสทางกายภาพของผู้บริโภคและช่วยจำแนกความแตกต่างระหว่างผ้าไหมกับผ้าฝ้ายหรือผ้าลินิน ทำให้ผู้บริโภครู้สึกราวกับได้สัมผัสกับวัสดุนั้นจริงๆ
การใช้เทคโนโลยีนี้อย่างกว้างขวางในอนาคต จะส่งผลให้โทรศัพท์มือถือกลายเป็นเครื่องมือที่เราใช้ปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบๆ ตัว
การมองเห็น: ภาพหนึ่งพิกเซลจะมีคุณค่ามากกว่าหลายถ้อยพันคำ
ข้อมูลจาก Digital Media Analysis, Search and Management workshop, 2/27-2/28, 2012 และ You Tube ระบุว่าเราถ่ายภาพ 500,000 ล้านภาพต่อปี และทุกๆ นาที เราอัพโหลดวิดีโอ 72 ชั่วโมงไปยัง YouTube มูลค่าตลาดภาพเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ทั่วโลกก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่ทุกวันนี้ ข้อมูลส่วนใหญ่หรือเนื้อหาที่แท้จริงของภาพยังคงเป็นปริศนา เพราะคอมพิวเตอร์ยังมีเพียงความสามารถในการรับรู้จากข้อความหรือชื่อภาพที่เราตั้งให้เท่านั้น
ใน 5 ปีข้างหน้า นอกจากระบบต่างๆ จะสามารถตรวจสอบและรับรู้เนื้อหาของรูปภาพตลอดจนข้อมูลภาพได้แล้ว ยังจะสามารถแปลงพิกเซลให้กลายเป็นความหมาย และเริ่มตีความได้เหมือนที่คนเราทำเวลามองดูรูปภาพ ความสามารถที่ “เหมือนสมอง” นี้จะช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถวิเคราะห์คุณลักษณะต่างๆ เช่น สี รูปแบบพื้นผิว หรือข้อมูลบริบท และกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกจากสื่อที่เป็นรูปภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ วงการแพทย์ ธุรกิจค้าปลีก และเกษตรกรรม
ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการ “มองเห็น” และได้รับการ “ฝึกฝน” นี้ จะช่วยแพทย์วิเคราะห์และกลั่นกรองรายละเอียดที่ลึกซึ้งหรือไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในภาพถ่ายทางการแพทย์ อาทิ ภาพถ่าย MRI ภาพจาก CT Scan ฟิล์มเอ็กซเรย์ และภาพอัลตราซาวด์ โดยจะช่วยแยกแยะความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อปกติกับเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อ และเชื่อมโยงสิ่งที่ตรวจพบเข้ากับข้อมูลเวชระเบียนและเอกสารอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์จำนวนมหาศาล ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบปัญหาของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว
การได้ยิน: คอมพิวเตอร์จะได้ยินสิ่งที่สำคัญ
ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะจะตรวจจับองค์ประกอบของเสียงต่างๆ เช่น ความดันของเสียง ความสั่นสะเทือน ความอัดแน่นในเนื้อวัตถุ และคลื่นเสียงที่มีความถี่หลายระดับ ในแนวทางที่คล้ายกับกับสมองของมนุษย์ และนำ “แบบแผนข้อเท็จจริง” อื่นๆ ดังเช่นข้อมูลภาพหรือสัมผัส เข้ามาพิจารณาประกอบกันเพื่อจำแนกและแปลความหมายของเสียงเหล่านั้นตามแนวทางที่เคยได้รับรู้ ในกรณีที่ตรวจพบเสียงใหม่ๆ ระบบก็จะสรุปข้อมูลอ้างอิงที่มีอยู่ พร้อมใช้ความสามารถในการจำแนกแบบแผนต่างๆ ช่วยให้เราสามารถเข้าใจความหมายของเสียงที่ไม่ได้เอ่ยออกมาเป็นคำพูดได้
เทคโนโลยีในการตรวจจับองค์ประกอบเสียงนี้ จะทำให้เราสามารถคาดการณ์เหตุอันตรายจากดินถล่มหรือต้นไม้ล้มในป่าเพื่อเตือนภัยได้อย่างทันท่วงที ทำให้พ่อแม่สามารถเข้าใจ “เสียงพูดของทารก” ในรูปแบบของภาษา ตีความพฤติกรรมหรือความต้องการของเด็กทารก เช่น สิ่งที่เด็กทารกต้องการสื่อสารจากเสียงพูดอ้อแอ้ ความรู้สึกร้อน เหนื่อย หิว หรือเจ็บปวดจากเสียงร้องงอแง เป็นต้น โดยระบบจะเชื่อมโยงข้อมูลเสียงเหล่านั้นเข้ากับข้อมูลเกี่ยวกับความรู้สึกและสรีรศาสตร์อื่นๆ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ชีพจร และอุณหภูมิร่างกาย
ในอีก 5 ปีข้างหน้า ความสามารถในการวิเคราะห์น้ำเสียงและระดับเสียงสูง-ต่ำของคอมพิวเตอร์ จะช่วยให้เราเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก หรือแม้แต่สำเนียงที่ส่อถึงความลังเลในการสนทนาต่างๆ ช่วยให้เราสามารถปรับการสนทนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือปรับปรุงแนวทางการปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการของเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการลูกค้า หรือช่วยให้การติดต่อสื่อสารกับคนต่างชาติ ต่างภาษา และต่างวัฒนธรรมเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มได้เริ่มบันทึกระดับเสียงต่างๆ ใต้ผิวน้ำในบริเวณอ่าวกัลเวย์ ประเทศไอร์แลนด์ โดยใช้เซ็นเซอร์ใต้น้ำตรวจจับคลื่นเสียงและส่งไปทำการวิเคราะห์ที่ระบบรับข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเสียงและแรงสั่นสะเทือนของอุปกรณ์แปลงพลังงานคลื่น รวมถึงผลกระทบที่อุปกรณ์เหล่านี้มีต่อสัตว์ทะเล
การลิ้มรส: ปุ่มรับรสดิจิตอลจะช่วยให้คุณรับประทานอาหารอย่างชาญฉลาดขึ้น
ในอีก 5 ปีข้างหน้า คอมพิวเตอร์จะสามารถใช้อัลกอริธึมเพื่อระบุโครงสร้างทางเคมีที่แม่นยำของอาหาร ปฏิกิริยาที่สารเคมีต่างๆ มีต่อกัน ความซับซ้อนทางโมเลกุลของสารประกอบที่ก่อให้เกิดรสชาติ โครงสร้างที่เชื่อมโยงโมเลกุลเหล่านั้นเข้าด้วยกัน และสาเหตุที่ทำให้ผู้คนชื่นชอบรสใดรสหนึ่งเป็นพิเศษ ร่วมกับองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาที่อธิบายรสชาติและกลิ่นที่มนุษย์ชื่นชอบ จากนั้นจึงนำไปเปรียบเทียบกับสูตรอาหารหลายล้านสูตร เพื่อคาดการณ์รสชาติที่ดึงดูดใจตลอดจนสร้างส่วนผสมของรสชาติแบบใหม่ เช่น รสชาติของเกาลัดคั่วที่ปรุงร่วมกับบีทรูทต้มสุก ไข่ปลาคาเวียร์ และแฮมตากแห้ง เป็นต้น
ระบบดังกล่าวจะนำเสนอรูปแบบการจับคู่อาหารที่แปลกออกไป ทั้งยังช่วยสร้างประสบการณ์ของรสและกลิ่นที่ดีขึ้น ช่วยให้เราสามารถปรุงอาหารเพื่อสุขภาพที่มีรสชาติถูกปากและถูกโภชนาการยิ่งขึ้น การสร้างสรรค์รสชาติแปลกใหม่จะทำให้เราอยากกินผักลวกต้มมากกว่าแผ่นมันฝรั่งอบกรอบ สำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษในทางโภชนาการ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เทคโนโลยีดังกล่าวก็จะช่วยพัฒนารสชาติและสูตรอาหารที่หวานถูกปากแต่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ในขณะเดียวกัน
การดมกลิ่น: คอมพิวเตอร์จะสามารถดมกลิ่นได้
ในช่วงห้าปีข้างหน้า เซ็นเซอร์ขนาดจิ๋วในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือจะสามารถ “ดม” และจำแนกกลิ่นที่ปกติหรือผิดปกติ และวิเคราะห์ร่วมกับตัวบ่งชี้ทางชีวภาพและโมเลกุลนับพันในลมหายใจของเรา เพื่อบอกได้ว่าเรากำลังป่วยเป็นไข้หวัดหรือโรคอื่นๆ หรือไม่ เซ็นเซอร์นี้ยังจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบและวินิจฉัยอาการของโรคต่างๆ เบื้องต้นได้ อาทิ ความผิดปกติของตับและไต โรคหอบหืด โรคเบาหวาน และโรคลมบ้าหมู รวมทั้งทำให้เกษตรกรสามารถวิเคราะห์สภาพดินที่ใช้ในการเพาะปลูก ความสามารถของเทคโนโลยีในตรวจวัดข้อมูลในพื้นที่ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน จะทำให้เราสามารถเข้าตรวจสอบปัญหาชุมชนแออัด สุขอนามัย และมลภาวะ เพื่อระบุปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ก่อนที่จะลุกลามเป็นปัญหาร้ายแรง ขณะที่การใช้เครือข่าย “Mesh” ไร้สายจะช่วยให้เซ็นเซอร์สามารถรวบรวมและตรวจวัดข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีต่างๆ พร้อมเรียนรู้และปรับเข้าหากลิ่นใหม่ๆ ได้ในขณะเดียวกัน
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มได้เริ่มนำนวัตกรรมนี้ไปใช้ในการรับรู้สภาวะแวดล้อมและก๊าซเพื่ออนุรักษ์ผลงานศิลปะ และประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาสุขอนามัยในสถานพยาบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่ท้าทายที่สุดของแวดวงการแพทย์ ดังกรณีของเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus หรือ MRSA ที่มักพบทั่วไปบนผิวหนังและแพร่กระจายผ่านการสัมผัสโดยตรง เชื้อนี้สามารถต้านทานยาเมธิซิลลินและเป็นสาเหตุในการคร่าชีวิตผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลในสหรัฐฯ เกือบ 19,000 คน เมื่อปี 2548 ซึ่งต่อมาพบว่าวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ในการต่อสู้กับเชื้อนี้ในสถานพยาบาลได้ คือ การกำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนปฏิบัติตามแนวทางการรักษาสุขอนามัยในสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด แต่ในอีกห้าปีข้างหน้า เทคโนโลยีของไอบีเอ็มจะสามารถเข้ามาช่วย “ดม” พื้นผิวที่ผ่านการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และระบุว่าห้องนั้นๆ สะอาดพอแล้วหรือยัง โดยที่บุคลากรและผู้ป่วยไม่ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
สื่อมวลชนติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
ปารณีย์ เรย์มองด็อง
โทรศัพท์: 02 273 4164
อีเมล: paranee@th.ibm.com