กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ เครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network) จัดงานประชุมใหญ่ประจำปี ครั้งที่ 9 เดินหน้าชูเป้าหมายการทำงาน Admission Rate Near Zero และทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่สดใสของผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกโรงพยาบาลกว่า 900 แห่งเข้าร่วมโครงการ เน้นการลดจำนวนผู้ป่วยต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลซึ่งคาดว่าในอนาคตจำนวนผู้ป่วยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จนไม่มีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เผย จำนวนผู้ป่วยลดลงได้มากถึง 40% จาก 13% ในปีพ.ศ. 2553 และลดลงเหลือ 8% ในปีพ.ศ. 2554 ซึ่งคาดว่าในอนาคตจำนวนผู้ป่วยจะลดลงเรื่อยๆ จนถึงไม่มีผู้ป่วยเนโรคนี้อีกต่อไป
รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิคโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network ) กล่าวว่า โครงการเครือข่ายคลินิกโรคหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network) ในปีนี้ถือเป็นปีที่ 9 ของการจัดประชุมใหญ่ประจำปี นับตั้งแต่ได้มีการจัดทำโครงการเครือข่ายคลินิกโรคหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network) ซึ่งได้รับการสนับสนุนหลักจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ให้แก่โรงพยาบาลที่ร่วมโครงการ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการจัดเก็บข้อมูลแบบออนไลน์ ทำให้การติดตามประเมินผลผลการรักษาผู้ป่วยเป็นระบบและสะดวกมากยิ่งขึ้น นำข้อมูลไปพัฒนารูปแบบการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นการวางรากฐานระบบสาธารณสุขของประเทศที่สำคัญอีกทางหนึ่งด้วย
รศ.นพ.วัชรา กล่าวว่า เพื่อให้โครงการฯ เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง การประชุมใหญ่ประจำปีนี้ จึงได้ชูเป้าหมายการทำงาน Admission Rate Near Zero และ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่สดใสของผู้ป่วย เพื่อให้เครือข่ายมีเป้าหมายและแนวทางการรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพไปในทิศทางเดียวกัน โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหอบรุนแรงเฉียบพลัน ลดลงได้มากถึง 40% จาก 13% ในปีพ.ศ. 2553 เหลือ 8% ในปีพ.ศ. 2554 ซึ่งคาดว่าในอนาคตจำนวนผู้ป่วยจะลดลงเรื่อยๆ จนถึงไม่มีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลและผู้ป่วยสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษา โดยผู้ป่วยโรคหืดทุกคนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงการรักษาดังกล่าว รวมถึงได้รับการดูแลรักษาโรคหืดตามมาตรฐานสากล ส่งผลให้การควบคุมอาการของโรคดีขึ้น ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันได้มากขึ้นกว่าเดิม ปราศจากข้อจำกัดอันเนื่องมาจากอาการกำเริบของโรค
“โรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคที่คุกคามชีวิตคนไทยอย่างน่ากลัว ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในอดีตจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากโรคหืดเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น ปี 2538 มี 66,679 คน พอถึงปี2554 เพิ่มเป็น 112,961 คน ขณะที่ในปี 2540 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหืด 806 คน ปี 2546 เสียชีวิต 1,697 คน โดยมีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่ต้องรับการรักษาฉุกเฉินปีละกว่า 1 ล้านคนและแนวโน้มจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากชีวิตความเป็นอยู่ มลภาวะ ฝุ่นในอากาศ ควันพิษส่งผลให้ผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีโอกาสที่จะเป็นโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ซึ่งแนวโน้มจะขยายเข้าสู่วัยเด็กมากขึ้น” รศ.นพ.วัชรากล่าว
ทางด้าน พญ.เขมรัสมี ขุนศึกเม็งราย ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกล่าวว่า “จากความร่วมมือที่ สปสช. กับโครงการเครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ ได้ทำร่วมกันนั้น ทำให้มีการพัฒนาระบบการให้บริการผู้ป่วยโรคหืดตามรูปแบบโปรแกรม Easy Asthma Clinic สำหรับหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่ปี 2551 ที่ สปสช. สนับสนุนให้โรงพยาบาลในพื้นที่รับผิดชอบของ สปสช.เขต7 จัดตั้งคลินิกโรคหืดแบบง่ายขึ้น ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ สปสช ให้การสนับสนุนให้โรงพยาบาลทั่วประเทศจัดตั้งคลินิคโรคหืดแบบง่ายขึ้น สนับสนุนยาพ่นเสตียรอยด์ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้รักษาโรคหืดแก่โรงพยาบาลเครือข่าย ในปี 2554 ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลน้อยที่สุดจนถึงไม่มีเลยในอนาคต และในปี2555 เริ่มสนับสนุนการจัดตั้งคลินิกโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ตั้งเป้ายกระดับมาตรฐานการรักษา เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยและลดจำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล”
ทั้งนี้ ความร่วมมือโครงการฯ ดังกล่าว เริ่มต้นจากโรงพยาบาลที่สนใจเข้าร่วมโครงการส่งตัวแทนจาก 3 ฝ่ายคือ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรเข้าร่วมอบรม เพื่อให้เข้าใจในแนวทางการรักษาโรคหืดอย่างง่ายที่ถูกต้อง การทำงานที่เป็นระบบ ประสานกันเป็นทีม และบุคลากรของทีมมีความรู้ความเข้าใจการรักษาโรคหืดในแนวทางเดียวกันซึ่งกระบวนการรักษาดังกล่าว ทำให้การรักษาโรคหืดของไทยได้มาตรฐานและมีคุณภาพตามที่ สปสช. กำหนด คือมีการซักประวัติผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ มีการตรวจร่างกายร่วมกับการประเมินสมรรถภาพปอด เพื่อให้การรักษาตามแนวทางการรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง มีระบบการบันทึกข้อมูลการดูแลผู้ป่วยโรคหืดที่มีมาตรฐาน สามารถสืบค้นและให้การดูแลต่อเนื่องในเครือข่ายได้ มีฐานข้อมูลผู้ป่วยโรคหืด เพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหืดให้ได้รับบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ป่วยโรคหืดในประเทศไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง มีการให้ยาและใช้ยาได้อย่างถูกต้อง สามารถควบคุมโรคหืดของตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเฉกเช่นคนปกติธรรมดา ส่งผลให้อัตราการนอนโรงพยาบาลด้วยอาการหอบของผู้ป่วยลดลง
นอกจากนี้ ภายในงานประชุมใหญ่ ยังจัดให้เป็นเวทีการประกวดผลงานการพัฒนาแนวทางการรักษาของโรงพยาบาล และคลินิกเครือข่ายฯ ทั้งโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภายใต้ชื่อ EACC Excellence Award 2012 โดยผลงานที่เข้าประกวดเป็นการนำเสนอถึงแนวทางบริหารจัดการของคลินิก และผลงานการรักษาผู้ป่วยเชิงคุณภาพของ Easy Asthma Clinic ของแต่ละโรงพยาบาล เพื่อยกระดับคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ให้ได้ตามเป้าหมายแนวทางปฏิบัติบริการสาธารณสุขการดูแล เน้นจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนและเปิดโอกาสให้แต่ละโรงพยาบาลที่เป็นสมาชิกได้ส่งผลงานและแนวทางในการรักษาผู้ป่วย เข้าร่วมประกวดในรูปแบบบอร์ดนิทรรศการ และ Presentation เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ และช่วยสร้างเสริมกำลังใจให้กับบรรดาสมาชิกที่ได้ร่วมกันสละเวลาจัดตั้งคลินิกขึ้นสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคหืด และ COPD