ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิต “โกลว์ เอสพีพี” และหุ้นกู้ที่ “A-” เท่าเดิม พร้อมแนวโน้ม “Stable”

ข่าวทั่วไป Friday November 5, 2004 09:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ COCO#1, GLOW089A, GLOW09OA และ GLOW10DA ของ บริษัท โกลว์ เอสพีพี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” โดยสะท้อนการมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว การใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลาย และคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์จากบริษัทแม่คือ Tractebel S.A. รวมทั้งยังสะท้อนความเสี่ยงในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าและความไม่แน่นอนของการแปรรูปกิจการไฟฟ้าในอนาคตด้วย ในขณะที่ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable”หรือ “คงที่” สะท้อนถึงกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอของบริษัทจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม และคาดว่าบริษัทจะสามารถบรรลุผลการดำเนินงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้และจะยังคงรักษาสถานะทางการเงินให้อยู่ในระดับที่ดีได้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า กลุ่มบริษัทโกลว์ เอสพีพี เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำปราศจากแร่ธาตุโดยใช้เทคโนโลยีโคเจเนอเรชั่นเพื่อป้อนให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัทโกลว์ เอสพีพี และบริษัทลูกซึ่งได้แก่ บริษัทโกลว์ เอสพีพี 2 และบริษัทโกลว์ เอสพีพี 3 มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 814 เมกะวัตต์ มีกำลังการผลิตไอน้ำ 770 ตันต่อชั่วโมง ผลิตน้ำบริสุทธิ์ 2,010 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และผลิตน้ำปราศจากแร่ธาตุ 660 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอของบริษัทเป็นผลมาจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) อายุ 21-25 ปีกับ กฟผ. และมีสัญญาอายุระหว่าง 6-17 ปีกับลูกค้าอุตสาหกรรม ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รายได้จากค่าไฟฟ้าจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายคงที่ซึ่งรวมถึงเงินลงทุนผ่านค่าพลังไฟฟ้า (Capacity Payment) และค่าใช้จ่ายผันแปรอันได้แก่ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษาผ่านค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment) โดยค่าพลังไฟฟ้ามีกลไกที่ช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการปรับอัตราแลกเปลี่ยนตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อสะท้อนอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทโกลว์ เอสพีพี ทำสัญญาซ่อมบำรุงระยะยาวกับผู้จัดหาชิ้นส่วนอุปกรณ์หลักเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับผลการดำเนินงานและความมั่นคงของโรงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม บริษัทจะยกเลิกสัญญาซ่อมบำรุงระยะยาวในปัจจุบันและจะจัดทำสัญญาซ่อมบำรุงระยะยาวใหม่กับ Wood Group โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 โรงไฟฟ้าถ่านหินช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องการจัดหาวัตถุดิบโดยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติของบริษัทลดลงจาก 100% ของเชื้อเพลิงทั้งหมดเป็น 87% หลังจากที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเริ่มดำเนินการผลิตเต็มกำลังในปี 2543 นอกจากนั้น สัญญาการจัดหาเชื้อเพลิงระยะยาวทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหินยังช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องการขาดแคลนเชื้อเพลิงอีกด้วย ณ เดือนมิถุนายน 2547 Tractebel ถือหุ้นบริษัทโกลว์ เอสพีพี ในสัดส่วน 99% Tractebel ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานของ Suez Group ติดอันดับผู้จำหน่ายไฟฟ้ารายใหญ่ 10 รายแรกของโลก และจัดอยู่ในอันดับ 5 ของยุโรป โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 55,000 เมกะวัตต์ครอบคลุมใน 3 ทวีป และมียอดขายเกือบ 40,000 ล้านยูโรในปี 2546 หลังจากที่เข้าถือหุ้นในบริษัทโกลว์ เอสพีพี Tractebel ได้แต่งตั้งผู้บริหารชุดใหม่ที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงานระหว่างประเทศ ณ เดือนมิถุนายน 2547 Tractebel มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าในประเทศไทยรวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 1,674 เมกะวัตต์
ทริสเรทติ้งยังกล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัทโกลว์ เอสพีพี ในปี 2546 น่าพอใจ บริษัทสามารถรักษาระดับความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าให้อยู่ที่ระดับ 95% การหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าโดยรวมในปี 2546 ลดลงเป็น 44 วันเมื่อเทียบกับ 52 วันในปี 2545 และอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยดีขึ้นในปี 2546 คือคิดเป็น 9,098 บีทียูต่อหน่วยโดยเทียบเท่า ซึ่งดีขึ้นจาก 9,169 บีทียูต่อหน่วยโดยเทียบเท่าในปี 2545 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายลดลงจาก 34.1% ในปี 2545 เหลือ 29.5% ในปี 2546 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการจัดหาเงินกู้ใหม่ในปี 2546 อัตราส่วนดังกล่าวยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 28.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 เนื่องผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่เพิ่มขึ้น
สำหรับธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทยจะมีการนำรูปแบบ Enhanced Single Buyer หรือ ESB มาใช้ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวคาดว่าจะมีผลกระทบต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมน้อยกว่าระบบตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าเนื่องจาก กฟผ. ยังคงเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของโครงสร้างดังกล่าว ตลอดจนผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และบทบาทของ กฟผ. ในอนาคตยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ