สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ เปิดเวทีสาธารณะระดมความคิดเห็นจากนักวิจารณ์สังคมและประชาชน วิพากษ์นโยบายและผลงานของรัฐบาลในทุกมิติ

ข่าวทั่วไป Friday November 5, 2004 10:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--VISAGE
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 6 — 9 พฤศจิกายนนี้ สำนักงานฯ จะเปิดเวทีประชาชนเพื่อให้นักวิจารณ์สังคมและประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมวิพากษ์นโยบายของรัฐบาลอย่างรอบด้าน ตั้งแต่นโยบายทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายสาธารณสุขที่รู้จักกันในชื่อ “โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค” การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านแห่งละ 1 ล้านบาท ธนาคารประชาชน หนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล และบ้านเอื้ออาทร ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้มีจุดมุ่งหมายยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้ดีขึ้น
นอกจากนี้จะให้มีการเปิดโอกาสในการตรวจสอบนโยบายการเปิดเสรีการค้า การทำข้อตกลงเอฟทีเอ นโยบายการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน นโยบายอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ นโยบายคู่ขนาน Dual Track และมาตรการแก้ปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มาตรการคลังเพื่อสังคมและการลดหย่อนภาษี นโยบายการปราบปรามยาเสพติดและนโยบายทางสังคมอื่นๆ การประกันการ ว่างงาน เป็นต้น
“เวทีสัมมนาครั้งนี้ใช้ชื่อว่า “เวทีประชาชน เสียงประชาชน คือ เสียงสวรรค์” มีจุดมุ่งหมายต้องการให้เกิดการพูดคุยกันโดยตรงระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ดังนั้นรูปแบบการสัมมนาจึงจัดให้มีการพบปะกันระหว่างรัฐมนตรีที่กำกับนโยบายกับนักวิจารณ์สังคมและประชาชนโดยตรง เป็นประชาธิปไตยทางตรง โดยการสัมมนาในนโยบายแต่ละด้าน จะเริ่มด้วยการชี้แจงการทำงานตามนโยบายในช่วงเวลาเกือบ 4 ปี ภายใต้ รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร หลังจากนั้นจะเปิดให้นักวิจารณ์สังคมและตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนรวมทั้งผู้แทนจากสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมวิพากษ์นโยบายรัฐบาล ก่อนที่จะเปิดให้ประชาชนที่ร่วมสัมมนาได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและพูดคุยกับรัฐมนตรีได้โดยตรง” ดร.อนุสรณ์ กล่าว
เวทีประชาชนจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 6—9 พฤศจิกายน ณ ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี คู่ขนานไปกับงานเหลียวหลังแลหน้าจากรากหญ้าสู่รากแก้ว ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 6—10 พฤศจิกายน 2547 โดยรายละเอียดกำหนดการ เวทีประชาชนมีดังนี้
6 พฤศจิกายน 2547
13.00 — 13.55 น. เปิดใจนายกรัฐมนตรี เบื้องลึกเบื้องหลังการบริหารประเทศ
14.05 — 17.00 น. ครม.พบประชาชน นายกรัฐมนตรีร่วมกับคณะรัฐมนตรีเปิดใจ
กับประชาชน
เปิดโอกาสให้ซักถามถึงผลงานและการทำงานในช่วงเกือบ 4 ปี
7 พฤศจิกายน 2547
13.00 — 13.55 น. ปาฐกถ “เหลียวหลังแลหน้า นโยบายรากหญ้า”
โดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี
14.05 —15.25 น. “เหลียวหลังแลหน้า นโยบายรากหญ้า”
โดย นายสุวิทย์ คุณกิตติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
15.35 — 17.00 น. ตรวจสอบนโยบายรากหญ้า
โดย นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม
ดร.สนั่น อินทรประเสริฐ
น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป
8 พฤศจิกายน 2547
13.00 — 13.55 น. ปาฐกถ “เหลียวหลังแลหน้าเศรษฐกิจไทย”
โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
14.05 — 15.25 น. “เชื่อมไทยสู่โลก”
โดย นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
15.35 — 17.00 น. “ไทยแกร่ง แข่งทั่วโลก”
โดย นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่ง
ประเทศไทยดร.อาชว์ เตาว์ลานนท์ ประธานสภาหอการค้า
แห่งประเทศไทย
นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการ บมจ.ธนาคาร
กรุงเทพ
9 พฤศจิกายน 2547
13.00 — 13.55 น. ปาฐกถา “เหลียวหลังแลหน้า คุณภาพชีวิตไทย”
โดย นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
14.05 — 15.25 น. “เหลียวหลังแลหน้า นโยบายคุณภาพชีวิตไทย”
โดย นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ดร.อดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม
และทรัพยากรมนุษย์
15.35 — 17.00 น. “ตรวจสอบนโยบายคุณภาพชีวิต”
โดย นางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภา
นายมนตรี สินทวิชัย สมาชิกวุฒิสภา
นายจอน อึ้งภากรณ์ สมาชิกวุฒิสภา
สำหรับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการสัมมนาและแสดงความคิดเห็น
สามารถสำรองที่นั่งได้ที่
โทร 0-2642-7781-5 และ 0-2203-9712-6 ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ เปิดเผยว่า คำแนะนำและประเด็นวิพากษ์วิจารณ์จาก “เวทีประชาชน” จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการหรือนโยบายที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อคนยากคนจน ผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทย นอกจากนี้ทางสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะยังได้ประสานงานไปยังสำนักงานสถิติแห่งชาติเพื่อจัดทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนรวมทั้งได้ขอความเห็นบรรดานักวิชาการ ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งหลาย เพื่อนำมาปรับปรุงนโยบายและการดำเนินงานให้นโยบายสาธารณะตอบสนองต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น เวทีเสียงประชาชนในงานเหลียวหลังแลหน้าจากรากหญ้าสู่รากแก้วนี้ จะเป็นโอกาสที่ทางสำนักงานพัฒนา นโยบายสาธารณะจะได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอของประชาชนและกลุ่มต่างๆ ในสังคม เป็นข้อมูลใช้ในการวิเคราะห์ ศึกษาวิจัย เพื่อสร้างทางเลือกทางด้านนโยบายที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะเป็นหน่วยงานใหม่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยรายงานตรงต่อคณะรัฐมนตรี มีภารกิจหลัก 5 ประการ ภารกิจที่หนึ่ง การวิจัยและพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสร้างทางเลือกให้กับฝ่ายนโยบายในการตัดสินใจ เน้นการมีส่วนร่วมสามฝ่ายคือ ภาครัฐ (Public) ภาคเอกชน (People) และเน้นการบูรณาการนโยบาย ลักษณะการทำการวิเคราะห์จะจัดทำเป็น Quick Analysis พร้อมกับงานวิจัยเชิงลึกเฉพาะเรื่องเชิงนโยบาย
2. การพัฒนานักพัฒนานโยบายสาธารณะ (Policy Entreprenuer Development) เป็นการสร้างนักพัฒนานโยบายสาธารณะที่สามารถสอดประสานแนวคิดของยุทธศาสตร์และวาระแห่งชาติไปสู่การผลักดันให้เกิดการปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยสรรหาบุคคลจากภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นทั้งนักคิดเชิงกลยุทธ์ มีภาวะผู้นำ เป็นผู้รับฟังความคิดเห็นและเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ ประมาณ 20-30 คน มารับการฝึกอบรมในลักษณะ Class Learning / Action Learning / Policy Proposal เป็นเวลารวม 18 เดือน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้วยการแลกเปลี่ยน และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 3Ps
3. การให้คำปรึกษานโยบายสาธารณะ (Policy Consulting Service) เพื่อลดช่องว่างระหว่างการกำหนดนโยบาย (Policy Formulation) และการนำนโยบายไปปฏิบัติ (Policy Implementation) โดยให้บริการคำปรึกษาแก่ภาคราชการ ภาคเอกชน ชุมชน และผู้ว่าราชการจังหวัด
4. การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนโยบายสาธารณะ (Policy Exchange & Dialogue) เป็นการสร้างเครือข่ายและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะสู่สาธารณชนในลักษณะ Two way communication โดยจัดเวทีสาธารณะ จัดทำวารสาร จัดทำเว็บไซด์เพื่อถ่ายทอดความรู้นโยบายสาธารณะ และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ
5. การผลักดันนโยบายสาธารณะ (Policy Advocacy) เป็นการถอดรหัสแนวความคิดของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลงมาสู่ยุทธศาสตร์และนโยบายให้เกิดการยอมรับของประชาชน เกิดความร่วมมือของประชาชนและภาคเอกชน และมีการนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผลโดยภาคราชการ การดำเนินงานจะมีลักษณะทั้งจากระดับการตัดสินใจสู่ฐานล่าง และจากฐานล่างสู่ระดับการตัดสินใจ--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ