กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--สภาที่ปรึกษาฯ
สภาที่ปรึกษาฯ เร่งหาทางออก ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ค้างในสภาฯหลายปี ด้านผู้เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับร่างฯ ดังกล่าว พร้อมอยากผลักดันให้มีการพิจารณาอย่างจริงจัง
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภคด้านการบริการ จัดสัมมนาเรื่อง “ร่าง พรบ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....” เพื่อติดตามความก้าวหน้า ร่าง พรบ. ดังกล่าว และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้อง โดยการสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ตัวแทนจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น และจะนำข้อมูลที่ได้มาเป็นส่วนประกอบในการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 10 ชั้น 2 สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพะเกียรติ 80 พรรษาฯ แจ้งวัฒนะ
จากปัญหาการฟ้องร้องระหว่างผู้รับบริการสาธารณสุขกับบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้มีการร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เสนอสภาผู้แทนราษฎรโดยกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ต่อมาร่างกฎหมายดังกล่าวได้มีการปรับปรุงแก้ไขและยื่นเสนอโดยหน่วยงานอีกหลายแห่ง ได้แก่ ร่างของภาคประชาชน ร่างของกลุ่มวิชาชีพทางการแพทย์ และร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ แต่ในปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่ได้เข้าสู่วาระเพื่อพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากวิปรัฐบาลได้มีมติให้ชะลอการพิจารณาไว้ก่อน และให้กระทรวงสาธารณสุขนำกลับไปหารือกับทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกของความขัดแย้ง ซึ่งนับจากวันที่มีการเสนอร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขครั้งแรกจนถึงปัจจุบันนั้น รวมเวลาได้ 7 ปี
ขณะเดียวกันแพทยสภาได้เคยยื่นข้อเสนอให้แก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 โดยหวังจะขยายเพดานเงินที่ต้องใช้และให้ครอบคลุมผู้ได้รับความเสียหายมากขึ้น เนื่องจากหลักการในกฎหมายเดิมเป็นการช่วยเหลือแค่เบื้องต้น ซึ่งทำให้วงเงินไม่เพียงพอต่อการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหายได้
การสัมมนาในครั้งนี้ ดร.ยุพดี ศิริสินสุข สมาชิกคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขฯ เป็นผู้นำเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ เกี่ยวกับ ร่าง พรบ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... โดยมีสาระสำคัญคือ เห็นด้วยกับการมี พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 41 ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากหลักการเดิมเป็นเพียงการช่วยเหลือเบื้องต้น และไม่ครอบคลุมผู้รับบริการที่ไปใช้สิทธิจากโรงพยาบาลเอกชนโดยจ่ายเงินเอง หากกำหนดให้ครอบคลุมผู้ใช้บริการดังกล่าว อาจเป็นการนำเงินแผ่นดินมาจ่ายโดยมิชอบ และการจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้เสียหายนั้นไม่สามารถจ่ายได้ตามความเสียหายจริง ซึ่งหากจะปรับหลักการเดิม จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวก่อน
นอกจากนี้ สภาที่ปรึกษาฯ โดยคณะทำงานเกี่ยวเนื่องสาธารณสุขฯ ยังเสนอให้มีสาระสำคัญใน ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... ใน 4 ประเด็น คือ (1)ให้มีการครอบคลุมผู้ป่วยทุกรูปแบบรวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามารับบริการ (2)การกำหนดความเสียหายไม่ควรนำเกณฑ์ของการให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพมากำหนด (3)ให้มีหลักการเรื่องการจ่ายเงินสมทบจากหน่วยบริการต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน และ (4)ให้มีหลักการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายและกำหนดให้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยกำหนดให้สถานพยาบาลที่ก่อให้เกิดความเสียหายต้องส่งรายงานเพื่อปรับปรุงแก้ไข และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำแผนพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหาย เพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วย
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการสัมมนามีความคาดหวังว่า สภาที่ปรึกษาฯ จะสามารถเป็นเวทีกลางที่จะผลักดัน ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ให้มีการประกาศใช้และสามารถลดความขัดแย้งระหว่างผู้เสียหายกับบุคลากรทางการแพทย์ลงได้ โดยหลังเสร็จสิ้นการสัมมนา สภาที่ปรึกษาฯ โดยคณะทำงานเกี่ยวเนื่องสาธารณสุขฯ จะจัดเวทีการสัมมนาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปในการจัดทำเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องดังกล่าว และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป