สกว.ขอเชิญสื่อมวลชนร่วมงานสัมมนาเรื่อง “การปฎิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี”

ข่าวทั่วไป Monday November 8, 2004 13:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--สกว.
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์มีสถิติของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีจำนวนมากถึง 34.87% โดยเฉลี่ย จากจำนวนผู้ต้องขังทั่วประเทศ ทั้งนี้สถิติผู้ต้องขังระหว่างอุทรณ์-ฎีกา มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากปี 2542 จำนวน 9.0% เป็น 13.48% ในปี 2546 ซึ่งระยะเวลาการถูกคุมขังของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี มีผลกระทบต่อสังคมและผู้ต้องขัง ทำให้ผู้ต้องขังสูญเสียอิสรภาพ ว่างงาน ขาดรายได้ สูญเสียโอกาสต่าง ๆ ทางสังคม ครอบครัวเดือดร้อนและหากคดียกฟ้อง ก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้ว่าปัจจุบันจะมีการชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ที่ถูกคุมขังและภายในหลังศาลยกฟ้อง เนื่องจากไม่ได้กระทำผิด แต่กฎหมายดังกล่าวยังมีข้อจำกัดอยู่มาก นอกจากนั้นระหว่างการเป็นผู้ต้องขังยังทำให้เสียโอกาสในการเลื่อนชั้นเพราะระเบียบในการเลื่อนชั้นต้องเป็นนักโทษคดีเสร็จเด็ดขาดก่อน ถึงจะพิจารณาเลื่อนชั้นได้ ซึ่งการเลื่อนชั้นเป็นมาตรการหนึ่งของเรือนจำในการให้ประโยชน์แก่ผู้ต้องขังที่ประพฤติตนดี
หากจะมองผลกระทบต่อภาครัฐ รัฐต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคล งบประมาณในการเลี้ยงดูค่าใช้จ่ายในการควบคุม ดูแล ซึ่งผู้ต้องขังระหว่างนี้ถือเป็นบุคคลที่บริสุทธิ์ยังไม่เป็นผู้กระทำผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 33 บัญญัติไว้ว่า “ในดคีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดก่อนมีคำพิพากษาอันที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฎิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” ดังนั้นการปฎิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีจึงควรแตกต่างจากการปฎิบัติต่อนักโทษเด็ดขาดตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการปฎิบัติต่อผู้ต้องขังกับข้อเสนอแนะนำในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์การสหประชาชาติ กำหนดเรื่องการแยกประเภทไว้ว่าผู้ต้องขังต่างประเภทกันพึงคุมขังไว้คนละแห่งหรือคนละส่วนของทัณฑสถาน คนต้องขังระหว่างพิจารณาพึงแยกจากนักโทษเด็ดขาด
จากสภาพการณ์ของประเทศที่มีสถิติการเกิดอาชญากรรมสูงมีจำนวนผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นจำนวนมาก ทำให้ราชทัณฑ์ต้องรับภาระด้านความแออัดของผู้ต้องขัง ซึ่งเกินความจุที่ได้รับ เจ้าหน้าที่รับภาระหนักด้านการควบคุม ทำให้การแก้ไขไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ รัฐสูญเสียงบประมาณ เกิดผลเสียต่อผู้ต้องขังและสังคม กรมราชทัณฑ์จึงได้ศึกษาวิจัยระยะเวลาการถูกคุมขังของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีเพื่อที่จะเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์หาแนวทางในการพัฒนางานยุติธรรม ตลอดจนมีการศึกษาผลกระทบของระยะเวลาการถุกคุมขังต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ปัญหาและอุปสรรคในระหว่างถูกคุมขัง ทั้งนี้เพื่อให้มีการพัฒนางานด้านการปฎิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะเป็นการเอื้ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้จากผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “ระยะเวลาการถูกคุมขังของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี” ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านอาชญาวิทยา ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ อาทิเช่น ระยะเวลาเฉลี่ยในการถูกคุมขังใช้เวลา 1 ปี 2 เดือ น ผลกระทบในด้านต่าง ๆ โดยมากจะเกิดกับผู้หญิง กลุ่มที่มีการศึกษาและสถานภาพทางสังคมสูง กลุ่มที่ต่อสู้คดีและหาทนายเอง และกลุ่มที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เป็นที่น่าสังเกตุว่าประชากรกลุ่มที่ได้ทำการศึกษาจำนวนร้อยละ 42.8 ปฎิเสธการกระทำผิดซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถรับสภาพการตกเป็นผู้ต้องขังที่ต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำรวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ทั้งในด้านความสัมพันธ์และเศรษฐกิจในครอบครัวและการที่บุคคลเหล่านี้เข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งทางด้านสถานที่ บุคลากรและงบประมาณต่าง ๆ ทำให้มีปัญหาในการปฎิบัติเนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีได้รับการปฎิบัติไม่แตกต่างจากการเป็นนักโทษเด็ดขาด รวมทั้งถูกจำกัดสิทธิประโยชน์บางประการซึ่งควรจะได้รับ เช่น การเยี่ยมญาติใกล้ชิด การเลื่อนชั้น ฯลฯ
ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของงานศึกษาวิจัยและการนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงกรมราชทัณฑ์ จึงจัดงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การปฎิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี” ขึ้น ในวันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน 2547 เวลา 09.00-13.30 น. ณ ห้องเมจิก 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ ในฐานะที่ท่านมีบทบาทโดยตรงในการเผยแพร่ความรู้ข่าวสาร ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สู่สาธารณชนในวงกว้าง จึงขอเชิญเข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าวตามวันและเวลาที่กำหนด และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
กำหนดการสัมมนาทางวิชาการ
เรื่อง “การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณคดี”
วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน 2547
ณ ห้องเมจิก 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร
08.30 — 09.30 น. ลงทะเบียน
09.30 — 10.00 น. พิธีเปิดการสัมมนาและชี้แจงนโยบายกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับการ
ปฏิบัติต่อ ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี
โดย : นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (ปลัดกระทรวงยุติธรรม)
กล่าวรายงานโดย : นายนัทธี จิตสว่าง (อธิบดีกรมราชทัณฑ์) และ
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
10.00 — 10.30 น. การนำเสนอผลการวิจัย เรื่อง “ระยะเวลาในการถูกคุมขังของ
ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี”
โดย : ผศ.ดร.เดชา สังขวรรณ (ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโท
สาขาการบริหารงานยุติธรรม MCJA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
10.30 10.45 น. พักรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่ม
10.45 -12.00 น. เปิดเวทีอภิปรายเรื่อง “การปฎิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี
ประเด็นข้อกฎหมาย สิทธิ และมาตรการต่างๆ ในการปฏิบัติต่อผู้ต้อง
ขังระหว่างพิจารณาคดี” จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนของหน่วยงานใน
กระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย
รศ.ดร.ประธาน วัฒนวาณิชย์
(อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ศาสตราจารย์จรัญ ภักดีธนากุล (เลขาธิการประธานศาลฎีกา)
นางสาวปรียาพร ศรีมงคล (รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ)
ดร.สุทิน นพเกตุ (กรรมการสิทธิมนุษยชน)
นายฐานิส ศรียะพันธ์ (ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี)
โดยมี ดร.อายุตม์ สินธพพันธุ์ (ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมราชทัณฑ์)
เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
12.00 — 12.30 น. ผู้เข้าร่วมการสัมมนาร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นและปิดการสัมมนา
12.30 — 13.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ