กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--พม.
วันนี้ (๑๘ ม.ค.๕๖) เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่ห้องพิมานทิพย์ โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน เปิดโครงการ “ฝึกอบรมแนวทางการคัดแยกเพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการประสานความร่วมมือกับทีมสหวิชาชีพในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย จากการค้ามนุษย์” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ องค์ประกอบเรื่องการค้ามนุษย์ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการทำงานร่วมกันในลักษณะทีมสหวิชาชีพ
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ปัญหา การค้ามนุษย์เป็นปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์และความมั่นคงของประเทศ มีผู้คนนับแสน นับล้านคนโดยเฉพาะเด็กและสตรี ต้องถูกแสวงหาประโยชน์และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย ต้องสูญเสียและได้รับความเสียหาย ทั้งทางร่างกาย จิตใจ โอกาส อนาคต ความปลอดภัย และความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งเกิดความสูญเสียและเสียหายต่อบุคคลรอบข้าง ชุมชน และสังคม ซึ่งไม่สามารถประเมินมูลค่าเป็นตัวเงินได้ ประเทศไทยได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด มีการผลักดันให้มีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๑ เป็นต้นมา โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว มีความสำคัญในแง่ที่มุ่งให้เกิดการคุ้มครองสวัสดิภาพแก่บุคคลทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง หรือผู้ชาย รวมทั้งมีการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำการประเมินผลการดำเนินการของประเทศต่างๆ ๑๗๗ ประเทศทั่วโลก และได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่อันดับสองที่ต้องเฝ้าจับตามอง (Tiers 2 Watch List) ติดต่อกันเป็นเวลา ๓ ปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ เป็นต้นมา โดยรัฐบาลได้เสนอแผนเป็นลายลักษณ์อักษรต่อสหรัฐอเมริกา เพื่อขอยกเว้นจากการถูกลดระดับให้อยู่ในระดับ ๓ ซึ่งหากมีการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอย่างจริงจังตามที่เสนอ จะถือว่าไทยได้แสดงความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะปฏิบัติตามมาตรฐาน ขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์
นายวิเชียร กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปราม การค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๙ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เสนอต่อ ครม. และ ครม.ได้มีมติเห็นชอบนโยบายดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และภาค ประชาสังคมใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ร่วมกัน ซึ่งมีประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญ ๕ ประเด็น คือ ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการป้องกัน ด้านการดำเนินคดี ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ ด้านการพัฒนากลไกเชิงนโยบายและการขับเคลื่อน และประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและบริหารข้อมูล ดังนั้น เพื่อเป็นการดำเนินตามมาตการให้สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ โดยการพัฒนาสมรรถนะของผู้ให้บริการและพัฒนาองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองช่วยเหลือให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ที่ถือเป็นหลักฐานตัวบุคคลที่สำคัญในการนำไปสู่การปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก จึงร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัด “โครงการฝึกอบรมแนวทางการคัดแยกเพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการประสานความร่วมมือกับทีมสหวิชาชีพในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์” ขึ้น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย มีทักษะความรู้ ความเข้าใจที่ตรงกัน ในนิยามความหมายผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามแบบฟอร์มการคัดแยกผู้เสียหาย พัฒนาทักษะนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในด้านเทคนิค และวิธีการในการสัมภาษณ์ผู้เสียหายฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและชัดเจนมากที่สุด และเพื่อให้บุคลากรเข้าใจความสำคัญและแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันของทีมสหวิชาชีพ ในด้านการช่วยเหลือและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
“การจัดโครงการฝึกอบรมในครั้งนี้ นอกจากจะมุ่งประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งทางด้านผู้บังคับใช้กฎหมาย และเจ้าหน้าที่ด้านสังคมแล้ว จุดมุ่งหมายอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นการแสดงให้นานาชาติ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เห็นถึงความพยายามและความมุ่งมั่นตั้งใจเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ไม่ใช่ภารกิจหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันในการต่อต้านการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป” นายวิเชียร กล่าว.