กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
ผู้ป่วยมะเร็ง-ไหลตาย-ออทิซึม เตรียมเฮ เวทีประชุมนานาชาติด้านเภสัชพันธุศาสตร์และการรักษาเฉพาะบุคคล ระดมสมองถอดรหัสพันธุกรรมหายีนผิดปกติก่อโรคและยีนก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา เตรียมเดินหน้าศึกษาต่อเนื่องแบบจัดเต็ม ขณะที่ อิเหนารับเป็นภาพจัดประชุมปีหน้า ชูไทย แม่งานใหญ่ในฐานะเป็นประเทศแรกที่นำผลวิจัยไปใช้อย่างได้ผลจริงก่อนใคร
จากการประชุมนานาชาติด้านเภสัชพันธุศาสตร์ครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพ โดยความร่วมมือของ 5 หน่วยงานหลักคือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ หรือ TCELS กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิจัยจีโนมริเก้น ประเทศญี่ปุ่น โดยในปีนี้ มีการหยิบยก การวิจัยเภสัชพันธุศาสตร์และพันธุกรรมระดับจีโนมทางการแพทย์เพื่อการรักษาเฉพาะบุคคล มาเป็นประเด็นหลักในการประชุม
ดร. นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ด้วยเพราะที่ประชุมมีฉันทามติให้ประเทศไทยเป็นแกนนำในการผลักดันเรื่องเภสัชพันธุศาสตร์ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน โดยได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินโครงการศึกษาพันธุกรรมผู้ที่ประสบปัญหาการแพ้ยาอย่างรุนแรงในชาติสมาชิกอาเซียน โดยสถาบันวิจัยจีโนมริเก้น ประเทศญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนการด้านการทำจีโนทัยป์หรือการตรวจวิเคราะห์ตำแหน่งพันธุกรรมตลอดทั้งจีโนม ตั้งเป้าการรายงานผลความก้าวหน้าในการประชุม นานาชาติด้านเภสัชพันธุศาสตร์ 2014 ที่ประเทศอินโดนิเชียรับเป็นเจ้าภาพ
“ที่น่าสนใจคือ ที่ประชุมได้มีการนำเสนอการรักษาเฉพาะบุคคลโดยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของยีนมนุษย์ประมาณ 20,000-25,000 ยีนเพื่อหาตำแหน่งที่ผิดปกติในยีนซึ่งส่งผลให้เกิดโรคทางพันธุกรรมและโรคมะเร็งเพื่อหาทางรักษาต่อไป เช่นกลุ่มผู้ป่วยโรคไหลตาย ในกลุ่มเด็กออทิซึม และโรคมะเร็งอีกหลายชนิด ซึ่งถือเป็นข่าวดีที่ต่อไปนี้โรคร้ายหลายชนิดที่เคยรักษาไม่หายมีหนทางรักษาให้หายได้ด้วยเภสัชพันธุศาสตร์และรักษาเฉพาะบุคคล” นายนเรศ กล่าว
ศ. ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ ผู้อำนวยการโครงการเภสัชพันธุศาสตร์และการรักษาเฉพาะบุคคลซึ่ง TCELS ให้การสนับสนุนกล่าวว่า ที่ประชุมได้นำเสนอข้อมูลจากบรรดาแพทย์ผู้ประสบปัญหาจากผลข้างเคียงจากการใช้ยากับผู้ป่วย อาทิกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี กลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา กลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาอาการทางจิตประสาทและอาการออทิสติก พร้อมไปกับความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาด้วยการตรวจวินิจฉัยเภสัชพันธุศาสตร์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อมาใช้เป็นข้อมูลในการปรับเปลี่ยนยาหรือการปรับปริมาณยาที่ใช้อย่างได้ผล นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอ ข้อมูลกลุ่มยีนที่มีความผิดแผกทางพันธุกรรมเป็นผลให้สร้างเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงยา (metabolism) ผิดปรกติไปซึ่งที่มีความจำเฉพาะในกลุ่มประชากรทั้งสี่ภาคจำนวน 190 คน ซึ่งจะเป็นตัวแทนประชากรในแต่ละภาค ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงระดับพันธุกรรมในกลุ่มยีนเหล่านี้จะส่งผลต่อการดูดซึมไปใช้และการเปลี่ยนแปลงรูปของยา โดยมีการนำเสนอข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์ระดับประชากรไทยดังกล่าวต่อตัวแทนผู้จัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อในอนาคตเราสามารถคัดเลือกยาที่เหมาะสมต่อประชากรไทยส่วนใหญ่สามารถใช้ยาที่ผ่านการคัดสรรได้ผลดีและลดปัญหาหรือไร้ปัญหาด้านผลข้างเคียงจากการใช้ยา นอกเหนือไปจากเกณฑ์การคัดเลือกจากราคายา
ดร. นเรศ กล่าวว่า หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ก้าวกระโดดของ TCELS ทางด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คือโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ โดย TCELS ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบันจนเกิดองค์ความรู้การวิจัยและพัฒนาทางเภสัชพันธุศาสตร์ และผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศมากมายจนสามารถจัดตั้งเป็นศูนย์ตรวจวินิจฉัยและให้คำปรึกษาด้านเภสัชพันธุศาสตร์และการรักษาเฉพาะบุคคลขึ้นที่โรงพยาบาลรามาธิบดีในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในประเทศและระหว่างประเทศ
“จากข้อมูลที่ได้ระหว่างงานประชุม ครั้งนี้ พบว่าโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ของเราก้าวหน้าไปมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อบ้านในภูมิภาคเอเซียนที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ อาทิ สิงคโปร์ อินโดนิเชีย และมาเลเชีย กล่าวคือ เราเป็นประเทศแรกในอาเซี่ยนที่สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบกับผู้มาใช้บริการหรือผู้ป่วยของโรงพยาบาลทั้งทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์ซึ่งเป็นการเปลี่ยนชนิดหรือปรับขนาดของยาที่ใช้ตามพันธุกรรมของบุคคลและการสืบค้นตำแหน่งพันธุกรรมที่ผิดปกติ อันเป็นสาเหตุของโรคทางพันธุกรรมและโรคมะเร็งเพื่อหาทางรักษาเฉพาะบุคคลต่อไป” ผอ.TCELS กล่าว
ติดต่อ:
www.tcels.or.th, 02-6445499