กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--โดยกระทรวงการต่างประเทศ
ในระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2547นี้ ประเทศไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพการจัดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องทางเลือกในการพัฒนา: เศรษฐกิจพอเพียง (The Ministerial Conference on Alternative Development: Sufficiency Economy) โดยมีการเชิญรัฐมนตรีจากประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ จำนวน 25 ประเทศ ในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก แอฟริกา และลาตินอเมริกาเข้าร่วม
การประชุมระดับรัฐมนตรีในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐมนตรีและผู้แทนจากแต่ละประเทศที่เข้าร่วม ได้รับทราบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในแต่ละประเทศอย่างยั่งยืน
กระทรวงการต่างประเทศตั้งเป้าหมายว่า นานาประเทศจะได้ประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นผู้นำในทางเลือกในการพัฒนาประเทศมาอย่างช้านาน ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศและของโลกพัฒนาดีขึ้น และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนมุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัย และวิกฤตต่างๆ โดยปรัชญาเศรษฐกิจเน้นการปฏิบัติที่เป็นสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
“เศรษฐกิจพอพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้ไกลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี และสามารถลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติหรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่างๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี รวมถึงการสร้างเครือข่ายและพันธมิตรแห่งความร่วยมมือตามแนวทางเศรษฐกิจ พอเพียง การสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็ง รักษาความสมดุลของทุนและทรัพยากรในมิติต่างๆ ตลอดจนสามารถปรับตัวพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้อย่างรู้เท่าทัน
นอกจากนี้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลด้านต่างประเทศในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรวมถึงการเพิ่มบทบาทความเป็นผู้นำด้านการพัฒนาของไทยในเวทีโลก และสนับสนุนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของรัฐบาลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อเนื่องในระยะยาวต่อประเทศกำลังพัฒนา ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่อยู่ในความสนใจของไทยได้พัฒนาควบคู่ไปกับประเทศไทย อีกทั้งช่วย แก้ไขปัญหาความยากจนและเสริมสร้างศักยภาพในการกินดีอยู่ดีในภูมิภาค
ทั้งนี้ เมื่อคราวที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ฯพณฯ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงว่า เป็นแนวคิดของการช่วยเหลือตัวเองกลายมาเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปพร้อมๆกับการเพิ่มการแข่งขันกับต่างชาติ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจจากปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เรียกว่า “เศรษฐกิจที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า โดยเฉพาะในระดับรากฐานของประเทศด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี
สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีในครั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีการประชุม ณ วิเทศสโมสร กระทรวงต่างประเทศในวันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2547 เวลา 08.00 น. และหลังจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ จะนำคณะผู้เข้าร่วมไปเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และบ้านเกษตรกรตัวอย่างที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์ศึกษาการพัฒนา ภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่จังหวัดสกลนคร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่จังหวัดเชียงใหม่ และเยี่ยมชมบ้านเกษตรกรตัวอย่างที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งในแต่ละที่จะเน้นการพัฒนาในด้านที่แตกต่างกัน และมีผู้ทรงคุณวุฒิคอยบรรยายในรายละเอียดต่างๆ
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ จะเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลในวันจันทร์ ที่ 8 พฤศจิกายน 2547 และเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน ในวันพุธที่ 10 พฤศจิกายน 2547 ด้วย
ทางด้าน ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุถึงผลที่คาดว่าจะได้รับจากการประชุมระดับรัฐมนตรีในครั้งนี้ว่า รัฐมนตรีด้านต่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจหรือด้านวางแผนพัฒนาจากประเทศกำลังพัฒนาต่างๆที่เข้าร่วมการประชุมได้รับทราบข้อมูล ได้เห็นประจักษ์ด้วยตนเอง ได้สอบถามและแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อเกิดความเข้าใจในผลงานที่เผยแพร่พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันจะเกิดประโยชน์ในการนำพระราชดำรัสเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตน นอกจากนั้น การมาประเทศไทยละได้เยี่ยมชมจังหวัดต่างๆ อย่างน้อย 4 จังหวัด จะทำให้เห็นภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างชัดเจน ได้เห็นความสมานฉันท์ของชาติ (national harmony) ที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นจุดศูนย์รวมพลังและจิตใจของคนไทย รวมทั้งได้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะในฐานะผู้นำประเทศและพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณและชื่อเสียงของประเทศให้แก่รัฐมนตรีจากประเทศต่างๆอย่างคุ้มค่า--จบ--