กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--พม.
เมื่อวันที่ ๑๙ ม.ค.๕๖ เวลา ๑๐.๓๐ น. นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน เปิดงาน “สืบสานวัฒนธรรมประเพณีปีใหม่ม้ง ๒๕๕๖” พร้อมพบปะผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ งาน “พม.สร้างสรรค์ ชาติพันธุ์รวมใจ ประเทศไทยพัฒนา” และเปิดศูนย์พัฒนาสังคมชาติพันธุ์จังหวัด ณ พิพิธภัณฑ์ชาวเขากลางแจ้ง ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานพัฒนาวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าม้ง “ผานกกกโมเดล” พร้อมคณะเดินทาง ณ บ้านผานกกก ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสสังคมโลกได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงความเท่าเทียมกันของศักดิ์ศรี บนความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และบัญญัติเรื่องชาติพันธุ์ไว้ อีกทั้ง ได้รับรองปฏิญญาสหประชาติว่าด้วยสิทธิชนพื้นเมือง ในปี ๒๕๕๐ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการขับเคลื่อนงานชาติพันธุ์ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี มาตั้งแต่ ปี ๒๕๐๖ ภายใต้ชื่อ “กรมประชาสงเคราะห์” จนถึงปัจจุบัน กระทรวงฯได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการพัฒนาคุณภาพชีวิต คุ้มครองสิทธิ เสริมสร้างความเสมอภาคเป็นธรรมในสังคม ดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ และการยอมรับซึ่งกันและกันในสังคม ซึ่งสอดรับกับแนวนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล New Growth เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมีนโยบายในการทำงาน ๕ ด้าน คือ ๑) ด้านระบบข้อมูล (Data Collection) เป็นการสำรวจจัดทำข้อมูล เพื่อให้ประเทศไทยได้มีระบบข้อมูลด้านชาติพันธุ์ เพื่อการพัฒนาที่สมบูรณ์ ๒) ด้านสิทธิ (Rights) เน้นการส่งเสริมความรู้และให้ความคุ้มครองในเรื่องของ สิทธิ ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ และปฏิญญา อนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้รับรอง ๓) ด้านอัตลักษณ์ (Identity) โดยการเสริมสร้างความเข้มแข็ง และดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ๔) ด้านการพัฒนา (Development) เพื่อให้เกิดความสมดุล เป็นธรรม และยุติธรรมทางสังคม และ ๕) การก้าวสู่ระดับนานาชาติ (International Levels) การร่วมกันเป็นหนึ่งในสังคมอาเซียน และ ASEAN + ๖ ประเทศ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยมีการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ผ่านศูนย์พัฒนาสังคมชาติพันธุ์จังหวัด
นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า งาน “พม.สร้างสรรค์ ชาติพันธุ์รวมใจ ประเทศไทยพัฒนา” เป็นกิจกรรมที่กระทรวงฯได้มีส่วนร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ และให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสเรียนรู้และยอมรับในอัตลักษณ์และการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย โดยกระทรวงฯ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เป็นการเปิดพื้นที่และเติมเต็มศักยภาพที่ทุกชนเผ่ามีอยู่ ในรูปแบบของการสนับสนุนกิจกรรมชาติพันธุ์ เช่น วันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล จ.ภูเก็ต , ประเพณีวัฒนธรรมชนเผ่าขมุ , งานประเพณีปีใหม่ม้ง , การเปิดตัวพิพิธภัณฑ์และลานกลางแจ้ง หรือหอแดง ที่คนทางภาคเหนือคุ้นเคย โดยอยู่ระหว่างการปรับปรุงและจะเปิดใช้งานได้ใน ๖ เดือนข้างหน้า เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์และเป็นพื้นที่เปิดสำหรับการเผยแพร่วิถีชุมชน อัตลักษณ์ และผลงาน ของกลุ่มชาติพันธุ์ , การจัดประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้แทนชนเผ่าทั่วประเทศ และการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านชาติพันธุ์กับประเทศเวียดนาม และประเทศลาว นอกจากนี้ จะมีการจัดมหกรรมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ระดับประเทศ ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖ อีกด้วย
นายวิเชียร กล่าวเพิ่มว่า สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานพัฒนาวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าม้ง “ผานกกกโมเดล”เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการดำเนินงานพัฒนาวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าม้ง ตั้งแต่สมัยเป็น กรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งกระทรวงฯ จะขยายผลโมเดลแห่งการพัฒนาภายใต้ความหลากหลายของอัตลักษณ์ไปในทุกพื้นที่ทุกชนชาติพันธุ์ต่อไป
“วันนี้ นับเป็นการก้าวเดินร่วมกันระหว่างกระทรวงฯกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีจุดแรกเริ่มในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ดั้งเดิมในการทำงานของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ที่กระทรวงฯนำองค์ความรู้และทักษะเหล่านั้นมาพัฒนาให้เกิดศูนย์ที่มีชีวิต ภายใต้ชื่อ “ศูนย์พัฒนาสังคมชาติพันธุ์จังหวัด” ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มชาติพันธุ์ ดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตนเอง และนำพาประเทศสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” นายวิเชียร กล่าว.