กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กสอ. ปักธงปี 56 ดัน 40โครงการตั้งเป้าส่งเสริมผู้ประกอบการกว่า 30,000รายทั่วประเทศพร้อมโชว์กลยุทธ์เพิ่มผลิตภาพในสถานประกอบการรับมือ ค่าแรง 300 บาท
- กสอ. งัดกลยุทธ์ช่วยผู้ประกอบการรับมือค่าแรง ดีด 30% ผ่านมาตรการเพิ่มผลิตภาพการผลิตหวังยกระดับสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมเผยแผนการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ประจำปี 2556 ตั้งเป้าจัดกิจกรรมกว่า 40โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ โดยในปีนี้มุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพให้กับสถานประกอบการโดยคาดว่าสิ้นปี 2556 จะสามารถพัฒนาผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ให้ได้กว่า 27,000 ราย รวมถึงช่วยเหลือสถานประกอบการอีกกว่า 3,000 กิจการทั่วประเทศ โดยกสอ. ได้จัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อช่วยผู้ประกอบการ “มองวิกฤติเป็นโอกาส” ผ่านโครงการที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพในสถานประกอบการ ตอบรับการขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน อาทิ โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) โครงการ LEAN และโครงการ MDICP เป็นต้นเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการให้มากขึ้น โดยเป้าหมายให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้อย่างมีกลยุทธ์ สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้ารับบริการของ กสอ. ได้ โดยสามารถสอบถามข้อมูลที่ โทรศัพท์ 02 2202 4414 — 16 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th
นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่าในปัจจุบัน อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม มีสัดส่วนเป็น99.8% ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ และเป็น 78.2% ของการจ้างงานของตลาดอุตสาหกรรมในประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้มีการพัฒนาโครงการต่างๆเพื่อสอดรับกับความต้องการและอัตราการเติบโต ด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีการดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลาปีที่ผ่านมา มีโครงการสนับสนุนและส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภายใต้การดูแลของ กสอ.กว่า 40 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (CLUSTER) เพื่อสร้างกลไกการบริหารจัดการกลุ่มอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม จำนวนทั้งสิ้น 460 วิสาหกิจ โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) เพื่อผลักดันให้เกิดวิสาหกิจใหม่และเพิ่มความเข้มแข็งแก่วิสาหกิจขนาดเล็ก โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) โดยมีเป้าหมายหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรม SMEs ของไทยให้เข้าสู่ระบบการค้าสากลและสามารถเพิ่มสมรรถนะในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยปี 2555 มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 75 ราย ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้ต้นทุนแรงงานของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 11.85 เป็นร้อยละ 16.11 ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตรวมทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.35 ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งหลาย SMEs คงมีความวิตกกังวลในเรื่องของการปรับนโยบายดังกล่าว แต่สิ่งที่จะสามารถช่วยผู้ประกอบการได้นั้น คือ การวางนโยบายเสริมหรือเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ ซึ่งทาง กสอ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริม สนับสนุนกลุ่ม SMEs ให้สามารถสร้างและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างถูกต้อง จึงหาแนวทางบรรเทาผลกระทบในแต่ละอุตสาหกรรม จนกว่าระบบเศรษฐกิจไทยจะสามารถปรับสู่สมดุลใหม่ที่ค่าจ้างแรงงานปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวันได้ โดยการให้คำปรึกษาเชิงลึก หรือการแนะแนวทางผู้ประกอบการในการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เช่นจากเดิม ต่อแรงงาน 1 คน สามารถสร้างจีดีพีได้ 119,110 ต่อปี ต้องเปลี่ยนเป็น 128,640 ต่อปี นายโสภณฯกล่าวเพิ่มเติม
โดยมาตรการเร่งด่วนที่ กสอ. จะดำเนินงานในปีนี้ เพื่อช่วยเหลือส่งเสริมผู้ประกอบการรายเก่าและรายใหม่ รวมถึงสถานประกอบการต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นภายใต้การจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 ต่อวัน ซึ่ง กสอ. จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของผู้ประกอบการ เพื่อลดต้นทุนการผลิตพร้อมกับชดเชยต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น ผ่านมาตรการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันหรือ MDICP ซึ่งเป็นโครงการที่ให้คำปรึกษาเชิงลึกในด้านการปรับปรุงระบบการผลิต การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดการด้านการเงินและบัญชี การจัดการด้านตลาด และการพัฒนาบุคลากร โครงการบริการเงินสมทบจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงการผลิตการจัดการ การตลาด และการบริการ (Consultancy Fund : CF)โครงการการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม (Total Energy Management: TEM) ด้วยแนวคิดในการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าที่สุด โครงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ : Enhancing SMEs Competitiveness Through IT (ECIT)โดยการนำระบบ IT มาช่วยในการบริหารจัดการภายในโรงงาน กิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ SMEs ด้วยระบบ LEANซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นภายในองค์กร รวมถึงลดต้นทุนในการผลิตสินค้าให้ลดต่ำลงมากที่สุด ซึ่งเป็นระบบการเพิ่มประสิทธิภาพโดยลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิต Lean Manufacturing ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกเป็นต้น
ผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจเข้าร่วมโครงการกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2202 4414 — 6 หรือเว็บไซต์ www.dip.go.th