กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ปภ.
ฤดูกาลการเกิดไฟป่าของประเทศไทยอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เมษายนของทุกปี โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายนมีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่ามากที่สุด เนื่องจากมีสภาพอากาศแห้ง ทำให้เกิดไฟป่าได้ง่าย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คาดว่า สถานการณ์ไฟป่าในปี 2556 จะรุนแรงมากกว่าปกติส่งผลให้เกิดปัญหาหมอกควันตามมา โดยเฉพาะในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และตาก
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ตามหลัก 2P 2R ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ดังนี้
ด้านการป้องกัน (Prevention) มุ่งเน้นการป้องกันมิให้ประชาชนจุดไฟในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงรณรงค์ส่งเสริมการจัดการขยะมูลฝอยโดยการฝังกลบ และใช้ประโยชน์ จากเศษวัชพืชในการเกษตรแทนการเผา โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ห้ามจุดไฟหรือประกอบกิจกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าอย่างเด็ดขาดควบคู่กับการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ทำให้เกิดไฟป่า
ด้านการเตรียมความพร้อม (Preparation) ประสานให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับจังหวัด อำเภอและตำบล เป็นศูนย์กลางปฏิบัติการควบคุมไฟป่า หมอกควัน ในพี้นที่ พร้อมสำรวจ จัดทำบัญชีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า หมอกควัน รวมถึงจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และระดับความรุนแรงในแต่ละพื้นที่ตลอดจนจัดเตรียมกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการดับไฟป่า
ด้านการรับมือ/เผชิญเหตุ (Response) ใช้หลัก Single Command ในการสั่งการ แก้ไขปัญหา ควบคุมและบัญชาการณ์เหตุการณ์กรณีเกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันในแต่ละระดับ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ หากสถานการณ์วิกฤตรุนแรงเกินการรับมือของจังหวัด ให้ปรับศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ เป็นศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า เพื่อเชื่อมโยงการบริหารจัดการ
สั่งการและแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานส่วนกลาง สำหรับการดับไฟป่า ให้สนธิกำลัง อปพร. ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้านการฟื้นฟู (Recovery) เน้นการบูรณาการทุกภาคส่วนในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน หากสถานการณ์รุนแรงให้จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ไฟป่า/หมอกควัน) และเร่งช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบของทางราชการอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมซักซ้อมแนวทางการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหา ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ในวันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2556 ณ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้การเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับลักษณะเชิงภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ รวมถึงบรรลุเป้าหมายที่กำหนดอย่างเป็นรูปธรรม