กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ 14-18 ม.ค. 2555 น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวลดลง 0.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 106.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 110.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 94.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 1.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 119.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 0.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 126.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
ธนาคารโลกปรับลดประมาณการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปี 2555 จากเดิม 2.2% มาอยู่ที่ 1.9% ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวลง 0.1% ในปี 2556 และจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ระดับ 0.9% และ 1.4% ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในช่วงสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 12 ม.ค. 2556 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 37,000 ราย อยู่ที่ระดับ 335,000 ราย และอัตราการว่างงานในเดือน ธ.ค. 2555 ทรงตัวที่ระดับ 7.8%
American Petroleum Institute (API) รายงานปริมาณอุปสงค์น้ำมันสหรัฐฯ ในปี 2555 ลดลงจากปีก่อน 2% มาอยู่ที่ระดับ 18.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2539
สถาบันสถิติแห่งชาติของจีนรายงานอัตราเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค. 2555 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน 0.5% อยู่ที่ระดับ 2.5% สูงสุดในรอบ 7 เดือน
Reuter คาดการณ์แองโกลาส่งออกน้ำมันดิบเดือน มี.ค. 2556 อยู่ที่ระดับ 1.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยแองโกลามีแผนผลิตน้ำมันดิบในปี 2556 ที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
เยอรมนีรายงานตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)ในไตรมาสที่ 4/2555 หดตัวอยู่ที่ระดับ 0.5% และในปี 2555 เศรษฐกิจเยอรมนีมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ที่ระดับ 0.7 %
ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
Platts รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (OPEC) ในเดือน ธ.ค. 2555 ลดลงจากเดือนก่อน 0.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 30.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน
อิหร่านซ้อมรบบริเวณใกล้เคียงช่องแคบ Hormuz เพื่อเตรียมความพร้อมกำลังพล โดยนับเป็นการซ้อมรบครั้งที่ 5 ตั้งแต่เกิดความขัดแย้งกับชาติตะวันตก ทั้งนี้การซ้อมรบครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2555
โรงกลั่นน้ำมัน Gonfreville (กำลังการผลิต 350,000 บาร์เรลต่อวัน) เป็นโรงกลั่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสมีแผนจะกลับมาดำเนินการผลิตในวันที่ 25 ม.ค. 2556 ภายหลังปิดปรับปรุงไปตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. 2555
16 -19 ม.ค. 2556 กลุ่มก่อการร้ายบุกเข้ายึดโรงผลิตก๊าซธรรมชาติ Amena ประเทศแอลจีเรีย และจับพนักงานโรงแยกก๊าซเป็นตัวประกัน ล่าสุดทางการฝรั่งเศสส่งกำลังทหารเข้าปฎิบัติการช่วยเหลือตัวประกัน ส่งผลให้เกิดการปะทะกับกลุ่มก่อการร้ายมียอดรวมผู้เสียชีวิตรวมกว่า 80 ราย โดยสำนักงานพลังงานสากลกล่าวถึงเหตุการณ์การจับตัวประกันโดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในครั้งนี้ว่าเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่ส่งผลต่อกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเลียมประเทศแอลจิเรียอย่างมาก และแหล่ง Amenas ต้องหยุดดำเนินการจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้แหล่งผลิต Amena มีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 9 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/ปี หรือ 11.5 % ของกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศ และผลิตคอนเดนเสทกว่า 50,000 บาร์เรลต่อวัน
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (Natioanl Bureau of Statistics) ของจีนรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาส 4/2555 อยู่ที่ระดับ 7.9% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 7.8% ยอดค้าปลีกจีนในเดือน ธ.ค.2555 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.2% และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.3%
แนวโน้มราคาน้ำมัน
การเจรจาระหว่าง International Atomic Energy Agency (IAEA) และอิหร่านมีความคืบหน้า แม้ว่าอิหร่านจะยังไม่อนุญาติให้ IAEA เข้าตรวจเยี่อมค่ายทหาร Parchin ก็ตาม ทั้งนี้ IAEA และอิหร่านมีกำหนดเจรจาครั้งต่อไปในวันที่ 12 ก.พ. 2556 ด้านปัจจัยพื้นฐานสำนักงานพลังงานสากล International Energy Agency (IEA) กล่าวว่าตลาดน้ำมันมีความตึงตัวมากกว่าที่เคยประเมินไว้ และปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2556 จากการคาดการณ์ครั้งก่อนเพิ่มขึ้น 0.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 0.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.0% โดยให้เหตุผลถึงความต้องการใช้น้ำมันของจีน และสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ครั้งก่อนหน้า และโลกจะมีความต้องการใช้น้ำมันในปี 2556 อยู่ที่ระดับ 90.83 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านสถานะการลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ Commodity Future Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนล่าสุดในตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ม.ค. 2556 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับเพิ่มสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 11,512 สัญญา อยู่ที่ 202,874 สัญญา สูงสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 2555 ทางเทคนิค อย่างไรก็ตามอิรักมีแผนเพิ่มถังเก็บสำรองน้ำมันดิบทางตอนใต้ของประเทศจำนวน 4 ถัง ปริมาณรวม 1 ล้านบาร์เรล ทำให้ประเทศอิรักมีคลังเก็บน้ำมันดิบเพื่อการส่งออกที่ระดับ 6.5 ล้านบาร์เรล และมีแผนจะเพิ่มเป็น 8.5 ล้านบาร์เรลในช่วงปลายปี 2556 คลังเก็บสำรองน้ำมันดิบดังกล่าวจะทำให้การส่งออกน้ำมันดิบของอิรักมีเสถียรภาพมากขึ้นเพราะสามารถเก็บน้ำมันดิบเพื่อการส่งออก หากแหล่งผลิตน้ำมันดิบต้องหยุดดำเนินการจากเหตุสุดวิสัย อาทิ พายุ หรือการก่อการร้าย ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 94 - 98.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 109 -114 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
โทร. 0 2537-2568 ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
โทรสาร 0 2537-2171 21 มกราคม 2556