สศอ. จัดทัพแผนพัฒนาอุตฯ ปี ’56 ทุ่มงบกว่า 225 ล้านบาท เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเชื่อมโยงความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างบูรณาการรอบด้านรองรับเข้าสู่เออีซี

ข่าวทั่วไป Monday January 21, 2013 15:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เผยแผนปี 2556 เตรียมทุ่มงบ 225 ล้านบาท เร่งจัดทัพเสริมแกร่ง โฟกัสงานวิจัยและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยเชื่อมโยงความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับจัดทำนโยบาย แผนและมาตรการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม และการให้บริการข้อมูลสารสนเทศด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เตรียมพร้อมรับเข้าสู่เออีซี นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กระแสโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้โลกเกิดการแข่งขันกันในด้านต่างๆ มากขึ้น ทำให้ประเทศไทยต้องใช้ศักยภาพความได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และศักยภาพของภูมิภาคต่างๆ ของประเทศมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก อีกทั้งในปี พ.ศ. 2558 นี้ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือที่เรียกว่าเออีซี ซึ่งจะมีการเปิดการค้าเสรี การเคลื่อนย้ายการบริการ การลงทุน การเงิน และแรงงานฝีมือกับอีก 9 ประเทศสมาชิก ในปี 2556 นี้ สศอ. ได้เตรียมงบประมาณ 225,500,000 บาท ในการจัดทำโครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การจัดทำนโยบาย แผน และมาตรการด้านอุตสาหกรรม โดยใช้งบประมาณ 172,000,000 บาท อาทิ 1. โครงการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อศึกษาจัดทำยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการ กลยุทธ์และข้อเสนอแนะในเชิงลึกที่เหมาะสมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย เชื่อมโยงการผลิต การค้า และการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในกลุ่มรอบมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจที่มีความสำคัญและศักยภาพในอนาคต นอกจากนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงก็คือ แนวทางความเป็นไปได้และความพร้อมในการย้ายฐานการผลิต หรือขยายการลงทุนของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพื้นฐาน อุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้องไปยังประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งเสนอแนะเป้าหมายอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและขีดความสามารถ และการจัดลำดับความสำคัญของอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันของไทยเพื่อเชื่อมโยงการผลิตการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงศึกษาเส้นทางการคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ด้วย 2. โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ฝั่งตะวันตก ตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก : East-West Economic Corridor ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศกลุ่มเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub Region: GMS) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแนวพื้นที่เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ GMS ให้เป็นศูนย์กลางทางการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อขยายผลประโยชน์ของการพัฒนาการเชื่อมโยงการขนส่งไปยังภูมิภาคอื่น เป็นการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีศูนย์กลางการเจริญเติบโตสำหรับพื้นที่ใกล้เคียง และเปิดให้มีการลงทุนทั้งภายในและภายนอก ซึ่งปัจจุบันการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ถือได้ว่าเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ ของแผนพัฒนา GMS เนื่องจากเป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน โดยกำหนดรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยที่เชื่อมโยงการพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ตลอดจนการกำหนดขอบเขตและกิจกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่ อีกทั้งทำการศึกษาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ และจัดลำดับความสำคัญของอุตสาหกรรมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่สามารถเชื่อมโยงการผลิต การค้า และการลงทุนในพื้นที่ของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) และแผนบริหารจัดการในการผลักดันและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ฝั่งตะวันออก-ตะวันตก เพื่อเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 3. โครงการยกระดับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและขยายเครือข่ายการผลิตในภูมิภาคอาเซียน จากการที่ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ AEC ในปี พ.ศ. 2558 โดยมีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน และเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีการค้าโลก ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม การค้า และการบริการ ดังนั้น สศอ. จึงได้ทำการศึกษาการยกระดับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและขยายเครือข่ายการผลิตในภูมิภาคอาเซียน ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และผลักดันไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้ นอกจากนี้ เพื่อจะทำการวิเคราะห์และเสนอแนวทางการพัฒนาและเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน โดยจะทำการศึกษา 2 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมนำร่อง ซึ่งจะเป็นกรณีตัวอย่างในการศึกษาแนวทางการพัฒนาเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและเครือข่ายการผลิตในภูมิภาคอาเซียนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป 4. โครงการเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมภายใต้นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย เพื่อใช้ประกอบการวางแผนและนโยบายเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรม และใช้ในการเจรจาแก้ไขทบทวนความตกลงฯ ในรอบต่อไป รวมทั้งศึกษาถึงผลของ FTA ที่เกิดขึ้นต่อการปรับโครงสร้างการผลิตและการลงทุนในไทย และการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายการผลิต โดยเฉพาะผลจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้น และใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทางการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างทันท่วงที 5. โครงการศึกษาการกำหนด Positioning และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยกับ AEC และภูมิภาคอื่นๆ ที่สำคัญ เพื่อให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยมีทิศทางที่ชัดเจนว่าด้านใดที่ไทยมีความได้เปรียบในการเป็นผู้นำใน AEC และภูมิภาคอื่นๆ จะได้มีการดำเนินการเชิงรุกที่จะผลักดันและขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ ส่วนด้านใดที่ไทยจะต้องป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะได้มีการเตรียมพร้อม และเสริมสร้างให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และส่วนใดที่จะต้องร่วมมือกันกับ AEC ในการแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ จะได้ดำเนินการสร้างให้เกิดความร่วมมือกันต่อไปให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยในส่วนของงบประมาณการจัดทำนโยบาย แผนและมาตรการด้านอุตสาหกรรมของ สศอ. ปี พ.ศ. 2556 นั้นยังมีเพิ่มเติมอีก 18 โครงการ อาทิ การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพ ด้านการเพิ่ม Productivity และพัฒนามาตรฐาน ISO 13485, การศึกษามาตรการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฏระเบียบของสหภาพยุโรป, การศึกษาแนวทางการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน, การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราสู่มาตรฐานสากล และการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมภายใต้กรอบโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) เป็นต้น สำหรับในส่วนที่ 2 สศอ. จะเน้นในการให้บริการด้านข้อมูลสารสนเทศและการแจ้งเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยใช้งบประมาณ 53,500,000 บาท ดำเนินงานในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการการเตือนภัยภาคอุตสาหกรรมไทยและสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อบ้านภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การสร้างระบบข้อมูลและองค์ความรู้ด้านมาตรฐานระบบการจัดการและการเตือนภัย การจัดทำแบบจำลองเพื่อการวิเคราะห์การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไทยในอาเซียน การจัดทำศูนย์วิเคราะห์รายงานสภาวะและผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม การจัดคลังข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ