กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สืบเนื่องจากนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ได้มีนโยบายในการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ตามแนวพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบรมราชินีนาถ โดยได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รับผิดชอบโครงการในพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งทช. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการสงวน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนให้มีความสมดุลยั่งยืน โดยประชาชนมีส่วนร่วม จึงได้จัดทำโครงการหมู่บ้านป่าชายเลนแผนใหม่ตามแนวพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินีขึ้น ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการฯ
นายสำราญ รักชาติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า โครงการหมู่บ้านป่าชายเลนแผนใหม่ตามแนวพระราชดำริฯ นี้ ทช.โดยสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนผู้รับผิดชอบโครงการฯ
มีแนวคิดในการบูรณาการกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่เดิมในโครงการปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสพระชนมายุ 72 พรรษา ทั้งการจัดการเชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของชุมชนซึ่งอาศัยติดกับพื้นที่ป่า ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน โดยแนวทางการจัดการจะเป็นไปตามกรอบแนวคิดการพัฒนาคน ชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน สมดุลและยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการให้ชาวบ้านรวมกันเป็นหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ และแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เกี่ยวกับแนวทางป่ารักษ์น้ำ และบ้านเล็กในป่าใหญ่
โครงการหมู่บ้านป่าชายเลนแผนใหม่ฯ นี้ทาง ทช. มีเป้าหมายที่จะดำเนินการในหมู่บ้านซึ่งมีเขตการปกครองครอบคลุมเขตพื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 918 หมู่บ้าน ใน 21 จังหวัด โดยโครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงาน ตั้งแต่ปี 2548 - 2551 ใช้งบประมาณในการดำเนินงาน 214.96 ล้านบาท ซึ่งวิธีการดำเนินงานของหมู่บ้านป่าชายเลนแผนใหม่ฯ นี้ คือ การวางผังพื้นที่หมู่บ้านโดยจัดแบ่งเป็น เขตที่อยู่อาศัยชุมชน เขตที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในป่าชายเลน และเขตพื้นที่ป่าชายเลน
นายสมศักดิ์ พิริยโยธา ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กล่าวว่า ในการดำเนินงานบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนตามโครงการหมู่บ้านป่าชายเลนแผนใหม่ฯ นั้น จะจัดการตามสภาพพื้นที่รวมถึงการใช้ประโยชน์ คือ พื้นที่ป่าชายเลนที่เปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง เช่น เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยซึ่งยากแก่การคืนสภาพป่า จะจำกัดขอบเขตไว้ไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม ส่วนพื้นที่ป่าชายเลนที่เป็นเอกสารสิทธิ์ของเอกชนให้ส่งเสริมการปลูกป่าชายเลนและสนับสนุนการพัฒนาอาชีพในป่า
ขณะที่เขตพื้นที่ป่าชายเลน จะมีการจำแนกเขตตามกิจกรรมต่างๆ ในแผนงานโครงการปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติฯ คือ เขตพื้นที่ปลูกป่าชายเลน เขตพิทักษ์ป่าชายเลนรักษ์สัตว์น้ำ ซึ่งทาง ทช. ได้กำหนดกิจกรรมเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ การพัฒนาคน และชุมชน รวมทั้งเป็นไปตามหลักวิชาการ เช่น ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร บริเวณบ้านคลองโคน ซึ่งราษฎรมีอาชีพจับหอยแครงตามธรรมชาติในดินเลนงอกใหม่ก็จะไม่กำหนดแผนงานฟื้นฟูป่าในที่ดินเลนงอกใหม่ เพื่อไม่ให้ขัดกับวิถีชีวิตของชุมชน
ส่วนในพื้นที่เขตพิทักษ์ป่าชายเลนรักษ์สัตว์น้ำ ก็จะมีการจัดทำแผนงานอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลและชายฝั่ง เพื่อพัฒนาบุคลากรของชุมชนให้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการดูแลและรักษา รวมทั้งเฝ้าระวังป่าชายเลนไม่ให้มีการบุกรุก พร้อมกันนี้จะมีการจ้างแรงงานในท้องถิ่นมาร่วมดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดการสร้างงานและสำนึกร่วมในการเป็นเจ้าของทรัพยากรป่าชายเลน
นอกจากนี้ ทช. จะเข้าไปส่งเสริมให้มีการจัดตั้งองค์กรชุมชน และสร้างเครือข่ายอาสาสมัครทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน เพื่อร่วมกำหนดระเบียบในการบริหารจัดการหมู่บ้านป่าชายเลนแผนใหม่ ตลอดจนกติกาในการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนร่วมกันอย่างเสมอภาคและพอเพียง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน สมดุลของระบบนิเวศป่าชายเลน
ซึ่งในการดำเนินโครงการหมู่บ้านป่าชายเลนแผนใหม่ให้บรรลุเป้าหมายนั้น ทาง ทช. ได้คัดเลือกหมู่บ้านต้นแบบซึ่งมีการจัดการในเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชายเลนอย่างยั่งยืนมาเป็นตัวอย่างให้แก่หมู่บ้านอื่นๆ ในโครงการนั่น คือ บ้านทุ่งไพร จ.ตรัง โดยชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำเกษตรกรรมและประมงพื้นบ้าน-ชายฝั่ง จึงได้รับผลกระทบจากการที่ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง เพราะการใช้เครื่องมือทำประมงแบบทำลายล้าง ตลอดจนป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำถูกทำลาย ชาวบ้านจึงได้มีการรวมกลุ่มกัน เพื่อทำการป้องกันการทำประมงที่ผิดระเบียบและกฎหมาย ด้วยการลาดตระเวนในพื้นที่หมู่บ้าน รวมทั้งร่วมมือกับหมู่บ้านใกล้เคียงช่วยกันดูแลด้วย
“ชาวบ้านแถบนี้จะมีความสัมพันธ์ในแบบเครือญาติระหว่างชุมชนชายฝั่งทะเลที่มีพื้นที่ติดต่อกัน ทำให้แกนนำชุมชนบ้านทุ่งไพร ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง และเผยแพร่แนวคิดสู่ชาวบ้านให้มีความต้องการและพยายามที่จะจัดการป่าชายเลน ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดป่า มีความพร้อม มีความต้องการในการดูแลปกป้องป่า ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่าชายเลนอย่างเต็มที่
จนทำให้พื้นที่ป่าชายเลนชุมชนบ้านทุ่งไพร 3,500 ไร่ ได้รับการอนุรักษ์และจัดการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม
เป็นแหล่งอาหารของทั้งคนและสัตว์น้ำที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกันอย่างยั่งยืน” นายสมศักดิ์ กล่าว
และในเดือนธันวาคมนี้ ทาง ทช. จะมีการจัดเปิดตัวโครงการหมู่บ้านป่าชายเลนแผนใหม่ตามแนวพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินีขึ้น ที่บ้านทุ่งไพร อ.กันตัง จ.ตรัง โดยจะเรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวลล้อมเป็นประธาน--จบ--