กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เผยเตรียมจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเพื่อเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน หลังวิกฤตอียูทรุดหนัก หวังกระตุ้นเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย
ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์สภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรปที่ทวีความความรุนแรง ได้ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และแนวโน้มวิกฤตไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววัน ดังนั้นจึงส่งผลให้ประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบหันมาให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาตลาดภายในประเทศ และตลาดระดับภูมิภาค โดยมุ่งเน้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดอาเซียนที่มีแนวโน้มสดใส
นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน (AEC) ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งจะส่งผลให้ไทยและประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มสมาชิกมีเขตการผลิตเดียวและตลาดเดียว ทำให้เกิดการย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรี สามารถที่จะดำเนินการผลิตที่ไหนก็ได้โดยใช้ทรัพยากรจากแต่ละประเทศสมาชิกทั้งวัตถุดิบและแรงงานร่วมในการผลิต รวมทั้งการมีมาตรฐานสินค้า กฎระเบียบเดียวกัน โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ เนื่องจากมีพื้นที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพในหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านทางฝั่งตะวันตกหรือทางฝั่งทะเลอันดามัน โดยประเทศไทยมีพื้นที่ติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ซึ่งเป็นประเทศที่มีความพร้อมในด้านทรัพยากรธรรมชาติ
โดยขณะนี้เมียนมาร์มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนภายในประเทศ ทำให้เมียนมาร์ต้องเร่งรัดการพัฒนาโครงการพื้นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะการขนส่งทางทะเล เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ที่สามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งในอนาคตจะเป็นเส้นทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญของโลกอีกแห่งหนึ่ง ดังนั้นการเชื่อมโยงชายแดนระหว่างเมียนมาร์ทางฝั่งตะวันตกหรือฝั่งทะเลอันดามัน จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในการพัฒนา
ภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นเส้นทางในการเชื่อมโยงปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ วัตถุดิบ และแรงงาน ฯลฯ ที่สนับสนุนต่อภาคการผลิตที่สำคัญของไทยแล้ว ยังเป็นเส้นทางการเชื่อมโยงกลุ่มประเทศที่สาม ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง บังกลาเทศ อินเดีย และจีนตอนใต้ โดยผ่านทางเมียนมาร์ ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สามารถรองรับสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้อีกมาก
“สศอ. ได้เล็งเห็นความสำคัญและโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม และแสวงหาผลประโยชน์ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในบริบทของการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ จึงได้จัดทำ “โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน” ขึ้น เพื่อจะนำไปสู่การจัดทำยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการ กลยุทธ์ และข้อเสนอแนะในเชิงลึกที่เหมาะสมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันของไทยเพื่อเชื่อมโยงการผลิต การค้า และการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเสนอแนะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ และจัดลำดับความสำคัญของอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย นอกจากนี้จะทำการศึกษาและกำหนดรูปแบบทางเทคนิค และวิศวกรรม (Conceptual Design) ของเขตการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการที่บ่งบอกถึงการใช้ที่ดินและระบบกิจกรรมภายในพื้นที่ (Land Use) โดยมุ่งเน้นสร้างความสมดุลของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างยั่งยืน รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) และแผนบริหารการจัดการในการผลักดันและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมในภูมิภาคและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในพื้นที่
ดร. ณัฐพลกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมมีกรอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในการกำหนดกระบวนทัศน์ และทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคของไทยที่สอดคล้องกับทิศทาง กลยุทธ์การพัฒนาของประเทศ และสอดคล้องกับศักยภาพการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการ ผู้สนใจ/นักลงทุนทั่วไปสามารถนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการดำเนินธุรกิจหรือทิศทางการลงทุน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายและกำหนดทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรม และผลักดันให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในอนาคตต่อไป ทั้งนี้คาดว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2556