กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลศึกษาจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกับเมืองคู่แฝด (สปป.ลาว สหภาพเมียนมาร์ และกัมพูชา) ว่า ได้คัดเลือกพื้นที่เมืองคู่แฝดจำนวน 2 พื้นที่ ระหว่างเมืองคู่แฝดจังหวัดมุกดาหารกับแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว และเมืองค่แฝดอำเภอแม่สอด จังหวัดตากกับเมืองเมียวดี สหภาพเมียนมาร์เหมาะที่สุด โดยผลักดัน 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมระหว่าง 2 พื้นที่เมืองคู่แฝด ระบุควรมุ่งเน้นในอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับวัตถุดิบหลักในแต่ละพื้นที่ และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มก่อนเป็นลำดับแรก
ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการศึกษาการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกับเมืองคู่แฝดของประเทศเพื่อนบ้านในครั้งนี้ ได้กำหนดพื้นที่ศึกษาไว้ในเบื้องต้นทั้งสิ้น 6 คู่ จำนวน 12 เมืองคู่แฝด ได้แก่ 1. จังหวัดมุกดาหาร — แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว 2. จังหวัดนครพนม — แขวงคำม่วน สปป.ลาว 3. อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย — แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว 4. อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว - อำเภอศรีโสภณ ประเทศกัมพูชา 5. อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก — เมืองเมียวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และ 6. บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี-เมืองทวาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยได้ทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย โดยการเปรียบเทียบสถานภาพและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ พร้อมกับการจัดทำการวิเคราะห์ SWOT Analysis ในแต่ละด้าน โดยยึดหลักการวิเคราะห์ตามโมเดลความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ตามเกณฑ์ที่ที่ปรึกษาโครงการและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านกำหนดไว้ จึงได้ข้อสรุปผลการคัดเลือกพื้นที่ศึกษาตามข้อ 1. และ ข้อ 5. ในที่สุด
ทั้งนี้ การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมระหว่างเมืองคู่แฝดจังหวัดมุกดาหารกับแขวงสะหวันนะเขต และเมืองคู่แฝดอำเภอแม่สอดกับเมืองเมียวดีนั้น ได้ศึกษาและวิเคราะห์การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ทั้งในระดับชาติ ระดับองค์กร หน่วยงาน และระดับพื้นที่ประกอบด้วยการพัฒนาในระดับภูมิภาค ระดับกลุ่มจังหวัด และแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมร่วมระหว่างพื้นที่ชายแดนเมืองคู่แฝด ตามกรอบความร่วมมือ ACMECS (Ayeyawady - Chao Phraya — Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก พร้อมทั้งส่งเสริมความเจริญอย่างยั่งยืนในภูมิภาค ซึ่งโครงการเมืองคู่แฝด (Sister Cities) นี้ ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่กำหนดขึ้น เพื่อให้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจบรรลุตามวัตถุประสงค์
โดยผลการศึกษาของเมืองคู่แฝดระหว่างจังหวัดมุกดาหารกับแขวงสะหวันนะเขต ได้ข้อสรุปเป็นยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ แผนงาน และโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมระหว่างพื้นที่เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 ยุทธศาสตร์ 13 กลยุทธ์ 18 แผนงาน 30 โครงการ ขณะที่ผลการศึกษาของเมืองคู่แฝดระหว่างอำเภอแม่สอดกับเมืองเมียวดีนั้น ได้ข้อสรุปเป็นยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ แผนงาน และโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมระหว่างพื้นที่เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 ยุทธศาสตร์ 16 กลยุทธ์ 21 แผนงาน และ 33 โครงการ และผลการศึกษาของเมืองคู่แฝดทั้งสองคู่ได้กำหนดยุทธศาสตร์อันจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมระหว่างเมืองคู่แฝดให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมไว้ 5 ยุทธศาสตร์
โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 เป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของเมืองคู่แฝด โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาปัจจัยที่สร้างขีดความสามารถให้แก่อุตสาหกรรมเป้าหมาย อันประกอบด้วย วัตถุดิบ แรงงาน ทุน ผู้ประกอบการ การตลาด และเทคโนโลยี
ในส่วนของยุทธศาสตร์ที่ 2 มุ่งเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญ กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ให้เอื้ออำนวยต่อการรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในพื้นที่เมืองคู่แฝด และเพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค
สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 เป็นการเชื่อมโยงฐานการผลิตอุตสาหกรรมเป้าหมายระหว่างเมืองคู่แฝด เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงระดับภูมิภาค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญ การพัฒนาฐานการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อรองรับ และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในพื้นที่เมืองคู่แฝด
ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่ 4 เป็นการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมด้านสิทธิประโยชน์ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับการปรับปรุง/แก้ไข กฎระเบียบและสิทธิประโยชน์ ตลอดจนการสร้างกลไกการบริหารจัดการปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมภายในพื้นที่เมืองคู่แฝด
และยุทธศาสตร์ที่ 5 การบริหารจัดการด้านสังคมสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผลกระทบของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตทั้งในด้านบวก และด้านลบของพื้นที่เมืองคู่แฝดเป้าหมาย และพื้นที่ข้างเคียง
โดยมีโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวซึ่งควรจะดำเนินการทันทีเนื่องจากเป็นโครงการสำคัญที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือ และการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในเมืองคู่แฝด ซึ่งในส่วนของเมืองคู่แฝดระหว่างจังหวัดมุกดาหารกับแขวงสะหวันนะเขต มีโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและส่งเสริมการเข้าถึงฐานข้อมูลการผลิตและการตลาดของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ครบวงจร โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาเส้นทางเซโน-ไชยบัวทอง เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของเมืองคู่แฝด โครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดมุกดาหาร โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดระบบและระเบียบแรงงานต่างด้าวโดยใช้บัตร Green Card เมืองคู่แฝด และโครงการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่เมืองคู่แฝด สำหรับเมืองคู่แฝดระหว่างอำเภอแม่สอดกับเมืองเมียวดี มีโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ภายในพื้นที่เมืองคู่แฝด (อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร พืชไร่ พืชผัก และผลไม้) โครงการศึกษาการพัฒนาเส้นทางแม่สอด-จังหวัดตาก เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของเมืองคู่แฝด โครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 เพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตอุตสาหกรรมของเมืองคู่แฝด โครงการศึกษาแนวทางปรับปรุง กฎระเบียบและสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการลงทุนด้านอุตสาหกรรม และโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบการอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การจะผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกับเมืองคู่แฝดใดๆ ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น จะต้องบูรณาการความร่วมมือให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน ทั้งนี้ การพัฒนาในแต่ละอุตสาหกรรมนั้น จะต้องคำนึงถึงผลิตภาพ(Productivity) ของปัจจัยการผลิตและปัจจัยแวดล้อมอย่างรอบด้าน มุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับวัตถุดิบของเมืองคู่แฝดในประเทศเพื่อนบ้าน โดยสนับสนุนการเกษตรแบบข้อตกลง (Contact Farming) และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มคุณค่า (Value Added) มากกว่าการผลิตสินค้าที่เป็นปฐมภูมิ เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่เมืองคู่แฝด รวมถึงต้องพิจารณากฎ ระเบียบ ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนทั้งสองเมือง ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิต เช่น การรักษาพยาบาล การพัฒนาทรัพยากรบุคคลร่วมกัน และการเพิ่มความสะดวกในการเดินทางไปมาระหว่างพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือและก่อให้เกิดความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกันของเมืองคู่แฝดในอนาคต