กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--ไอแอมพีอาร์
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) สลัดภาพพิพิธภัณฑ์แบบเดิมๆ จัด "Muse Mobile มิวเซียมติดล้อ" ส่งความรู้สู่ท้องถิ่นทั่วไทย ล่าสุดจอดเทียบ ณ จังหวัดมุกดาหาร พร้อมจับมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ “กลองมโหระทึก 3 พันปี” สร้างกระบวนการเรียนรู้สู่เยาวชน ให้ฮู้จักเพื่อนไทย เข้าใจตัวตน คนอีสาน
นิทรรศการ "Muse Mobile มิวเซียมติดล้อ" เป็นพิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ ที่จัดทำขึ้นภายใต้ปรัชญาการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน คือ Play + Learn = Plearn (เพลิน) เพื่อผลักดันองค์ความรู้ให้แผ่กระจายไปทั่วประเทศ ด้วยเทคนิคการนำเสนอในแบบอินเตอร์แอ๊กทีฟ ที่ช่วยเปลี่ยนโลกพิพิธภัณฑ์ให้ดูมีชีวิต ตื่นเต้นน่าสนใจ กระตุ้นความต้องการที่จะเรียนรู้ของผู้เข้าชม ทั้งยังเพิ่มความคล่องตัวในการติดล้อให้เคลื่อนที่ได้ เพื่อกระจายความรู้ไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น ล่าสุดได้ติดล้อความรู้มุ่งสู่จังหวัดมุกดาหาร ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 — วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อให้เยาวชนไทยแถบจังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงได้รับโอกาสในการเรียนรู้ที่สนุกสนานและเพลิดเพลิน
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) เปิดเผยว่า โครงการมิวเซียมติดล้อ จังหวัดมุกดาหาร จัดขึ้นภายใต้ชื่อตอน “ฮู้จักเพื่อนไทย เข้าใจตัวตน คนอีสาน” โดยเป็นการผสมผสานเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับภาคอีสานเข้าไปกับเนื้อหาหลัก เนื่องจากในปัจจุบันชาวอีสานมีแนวโน้มในการย้ายถิ่นเข้าไปศึกษาต่อ หรือทำงานในกรุงเทพมหานครมากที่สุดในประเทศไทย การที่สพร.นำนิทรรศการนี้ติดล้อไปสู่ชุมชนจะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมทั้งปลูกฝังความรักความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเองด้วย
“สพร.ได้ปรับปรุงเนื้อหานิทรรศการเรียงความประเทศไทย ที่จัดแสดงอยู่ที่มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ ให้มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับชาวอีสาน โดยได้เพิ่มข้อมูลวิชาการในบริบทของท้องถิ่นลงไป โดยบอกเล่าที่มาที่ไปของดินแดนที่ราบสูง เพื่อให้เนื้อหาของนิทรรศการมีความใกล้ชิดกับผู้ชมมากยิ่งขึ้น และความพิเศษในครั้งนี้คือการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยกันบูรณะ กลองมโหระทึก ซึ่งเป็นวัตถุหลักฐานสำคัญด้านโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 3,000 ปี ที่ค้นพบในแม่น้ำโขง เพื่อนำมาเป็นสื่อการเรียนรู้ให้เยาวชนได้รู้ถึงประวัติความเป็นมาของกลอง ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเชื่อร่วมกันของคนในดินแดนสุวรรณภูมิ และยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นเห็นคุณค่าและมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสมบัติที่เป็นของท้องถิ่นและของคนไทยทั้งประเทศ” ผอ.สพร.กล่าว
“กลองมโหระทึก” ที่นำมาเป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้ ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2481 บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดมุกดาหาร ตรงข้ามบ้านนาทาม ประเทศลาว มีลักษณะเป็นกลองสำริดหน้าเดียว เส้นผ่าศูนย์กลาง 86 เซนติเมตร สูง 90 เซนติเมตร หน้ากลองเป็นลายนูนรูปดวงอาทิตย์ 14 แฉก มีกบติดอยู่ตรงขอบบนหน้ากลอง 4 ตัว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของกลองสำริดในวัฒนธรรมดองซอนที่พบในเวียดนาม ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลองมโหระทึกได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดมัชฌิมาวาส ต.ดอนตาล อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร โดยได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
นางจิราภรณ์ อรัณยะนาค ที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์ สพร. อธิบายว่า กลองมโหระทึกชิ้นนี้ เป็นวัตถุหลักฐานสำคัญด้านโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ามหาศาล เพราะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ไม่มีเส้นแบ่งพรหมแดน ชนเผ่าใดที่มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก็มักจะมีการแลกเปลี่ยน แผ่อาณาเขตวัฒนธรรมของตนให้ไกลออกไป จนกลายเป็นหลักฐานด้านโบราณคดีปรากฏอยู่ในสถานที่ต่างๆ
“กลองมโหระทึกในวัฒนธรรมดองซอน ถูกค้นพบในหลายพื้นที่โดยเฉพาะประเทศในเส้นทางลุ่มน้ำโขง อาทิ ลาว เวียดนาม ไทย จีนตอนใต้ และหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงถึงการแผ่ขยายของวัฒนธรรม รวมไปถึงระบบการติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายสินค้าทางไกลในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังนั้นสพร. จึงได้ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์กลองชิ้นนี้ โดยเฉพาะการให้ความรู้เชิงวิชาการและคำแนะนำในการอนุรักษ์แก่บุคคลากรของท้องถิ่น ให้เข้าใจวิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง เพื่อให้กลองมโหระทึกเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ของชุมชน และขยายไปการเป็นแหล่งเรียนรู้ในระดับอาเซียน” นางจิราภรณ์กล่าว
โดยกระบวนการที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และจดจำสิ่งรอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องทำให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกสนานและมีความสุข สพร.จึงได้จัดโปรแกรมการเรียนรู้ “มโหระทึก : กลองศักดิ์สิทธิ์ 3,000 ปี” ขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้ โครงการมิวเซียมติดล้อ จังหวัดมุกดาหาร โดยให้นักเรียนระดับประถมศึกษา ได้มีโอกาสเข้าถึง กลองมโหระทึก อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกสนาน มีความสุข และมีประสิทธิภาพ
ด.ช.ธีรภัทร พงษ์เสนา และ ด.ญ.ศศิธร เย็นสิริ นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนชุมชนดอนตาล กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมโปรแกรมการเรียนรู้ฯ ว่า ที่ผ่านมาเคยเห็นกลองที่วัด รู้เพียงว่าบรรพบุรุษตีกลองเพื่อขอให้ฝนตก แต่เมื่อได้ลองใช้แว่นขยายส่องดูลวดลายต่างๆ บนกลอง พร้อมกับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกลองที่พี่ๆ มาให้ความรู้ ตอนนี้กลับมีความภาคภูมิใจที่ชุมชนได้เป็นผู้ดูแลรักษากลองชิ้นนี้ เพราะเป็นวัตถุโบราณที่มีคุณค่ามาก แสดงถึงประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
ทางด้าน นายเอกอมร ศรีลาศักดิ์ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลดอนตาล กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการค้นพบกลองมโหระทึกชิ้นนี้ นำความภาคภูมิใจมาสู่ชาวมุกดาหารเป็นอย่างมาก จนได้รับการบรรจุเป็นคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า หอแก้วสูงเสียดฟ้า ภูผาเทิบแก่งกะเบา แปดเผ่าชนพื้นเมือง ลือเลื่องมะขามหวาน กลองโบราณล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดลำผญา ตระการตาชายโขง เชื่อมโยงอินโดจีน
“ชาวมุกดาหารหวงแหนและเชิดชูกลองชิ้นนี้มาก ในอดีตหากมีงานใหญ่ระดับจังหวัด กลองจะถูกนำไปตีโชว์ในงาน เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์สายตาแก่ผู้ชมโดยเฉพาะเด็กๆ และเยาวชน หวังให้เด็กอยากเรียนรู้และติดตามค้นคว้าหาข้อมูล เมื่อใช้เสร็จแล้วจะนำไปแสดงไว้ที่ศาลาวัดมัชฌิมาวาส ซึ่งต้องใช้ลูกกรงเหล็กครอบไว้ ป้องกันการถูกขโมย ทำให้กลองเปรอะเปื้อนมูลนก และผู้คนนิยมโยนเศษเหรียญและเทียนเข้าไปที่กลอง เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้โชคดี แต่เมื่อสพร.ได้มาพบและให้ความรู้เกี่ยวกับกลองอย่างลึกซึ้งแล้ว จึงได้เกิดแนวคิดใหม่ในการอนุรักษ์กลองอย่างจริงจัง โดยเตรียมจัดทำพิพิธภัณฑ์ สำหรับจัดแสดงกลองและวัตถุโบราณอื่นๆ ให้ถูกต้องและเป็นระบบ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ทุกๆ คนต่อไป” นายกเทศมนตรีกล่าวสรุป
ปัจจุบัน สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ได้เข้าบูรณะซ่อมแซมกลองมโหระทึก โดยทำความสะอาด ซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย พร้อมประสานงานกับท้องถิ่นเพื่อหาพื้นที่สำหรับจัดแสดงที่มีความเหมาะสมต่อไป