กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) โชว์ผลการดำเนินโครงการ “เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย” โดยโครงการนี้อันมีเป้าหมายในการเสริมสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ตลอดจนการได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของบุคลากรทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันสำปะหลังและเกิดเป็นเครือข่าย ระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมกับที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญจาก องค์กรภาครัฐ โดยการดำเนินการในปี 2555 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นปีแรกของโครงการมีโรงงานแป้งมันสำปะหลังเข้าร่วมโครงการจำนวน 10 กิจการ และสามารถลดต้นทุนรวมกว่าถึง 168 ล้านบาท
นายวีรนันท์นีลดานุวงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่าโครงการ “เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย” เป็นโครงการระยะเวลา 3 ปี นับจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกัน ระหว่าง กสอ. กับ สวทช. เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2554โดยเป้าหมายตลอดโครงการตั้งเป้าส่งเสริมโรงงานแป้งมันสำปะหลังจำนวน 30กิจการ โดยการดำเนินการในปี 2555 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นปีแรกของโครงการมีโรงงานแป้งมันสำปะหลังเข้าร่วมโครงการจำนวน 10 กิจการ และได้ดำเนินการเสริมสร้างประสิทธิภาพต่างๆ ให้กับโรงงานแป้งมันสำปะหลังในด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มศักยภาพให้กับพนักงานในหน่วยสกัดแป้ง หน่วยแยกแป้ง หน่วยอบแห้ง และหน่วยบำบัดน้ำเสีย การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านเทคนิคการผลิตและด้านการจัดการเพื่อลดการสูญเสียแป้ง ลดการใช้น้ำ ลดการใช้กำมะถัน ลดการใช้ไฟฟ้า ลดปริมาณของปลอมปน ลดปริมาณน้ำเสีย การประหยัดพลังงานจากการขนส่งในห้องบรรจุลดการเกิดฝุ่นและมลพิษ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง จนทำให้โรงงานที่เข้าร่วมโครงการเกิดผลการประหยัดสูงสุด เกิดนวัตกรรมด้านเทคนิคการผลิต นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการกระบวนการผลิต และสามารถลดต้นทุนรวมกว่าถึง 168 ล้านบาท
โดยในปี 2556 นี้ กสอ. ได้มอบรางวัลโรงงานโรงงานที่เข้าาร่วม 3 ประเภทอันได้แก่ ประเภทผลการประหยัดสูงสุด ประเภทนวัตกรรมด้านเทคนิคการผลิต และประเภทนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการกระบวนการผลิตรวม
นายวีรนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่าการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรม มันสำปะหลังให้เพิ่มมากขึ้น โดยการลดการใช้พลังงานและทรัพยากร การใช้ประโยชน์จากของเสียในกระบวนการผลิต ตลอดห่วงโซ่คุณค่า กสอ. พร้อมด้วย ผู้เชี่ยวชาญที่มากด้วยประสบการณ์จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกันให้คำปรึกษาแนะนำที่ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการการผลิตได้เป็นอย่างดี นำองค์ความรู้ที่เกิดจากการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปใช้ปรับปรุงระบบการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการแป้งมันสำปะหลังไทย ทั้งในเรื่องกระบวนการผลิต เทคโนโลยีที่เหมาะสม แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดนวัตกรรมและการประหยัดต้นทุนการผลิตเป็นการ เพิ่มรายได้และสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่เกษตรกรและภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเปิดโอกาสการแข่งขันทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนได้ผู้ประกอบการจะได้รับความรู้เพื่อต่อยอดธุรกิจแป้งมันสำปะหลังดิบเป็นแป้งมันสำปะหลังดัดแปรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่น
อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยผลผลิตหัวมันกว่าร้อยละ 60 ถูกใช้ในการผลิตแป้งมันและแป้งมันมากกว่าร้อยละ 56 เป็นสินค้าส่งออก นอกจากนี้ แป้งมันที่ใช้ภายในประเทศยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมดัดแปรหลายประเภท เช่น กระดาษ อาหาร สารเคมี และปัจจุบันมีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังประมาณ 70 โรงงาน มีกำลังการผลิตแป้งรวม 3.5-4 ล้านตันต่อปี โดยปัญหาของอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลังประสบปัญหาหลายอย่าง อาทิ ราคาหัวมันที่ไม่แน่นอน ต้นทุนการผลิตที่เนื่องมาจากประสิทธิภาพการใช้น้ำและพลังงาน และยังมีปัญหาคุณภาพของแป้งมันที่ถูกควบคุมด้วยข้อบังคับต่าง ๆ ดังนั้นการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังประเทศไทย ด้วยการบูรณาการงานวิจัยและการพัฒนาในหลากรูปแบบเพื่อแก้ไขปัญหาตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ตั้งแต่การผลิตโดยภาคการ เกษตรการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าของภาคอุตสาหกรรมตลอดจนลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อลดการสูญเสียและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมแป้ง อุตสาหกรรมต่อเนื่องและอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานทดแทน รวมไปถึงการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน การสร้างผู้เชี่ยวชาญ โดยผ่านการปฏิบัติงานจริง จึงเป็นสิ่งที่ กสอ. ดำเนินการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ นายวีรนันท์ กล่าวสรุป
ผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจเข้าร่วมโครงการกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2202 4414 — 6 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th