PwC เผยผลสำรวจซีอีโอทั่วโลก ชี้ความเสี่ยงศก.โลกส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตรายได้ปี ’56 เชื่อมั่นฟื้นตัวในอีก 3 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 23, 2013 11:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--PwC PwC เผยผลสำรวจซีอีโอทั่วโลก ชี้ความเสี่ยงศก.โลกส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตรายได้ปี’56 ‘ซีอีโอทั่วโลก’ ยังมั่นใจการเติบโตของธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า แม้มองศก.โลกปีนี้ยังคงอ่อนแอ พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำประเทศตื่นตัวในเรื่องของการสร้างงานและส่งเสริมแรงงานที่มีทักษะ สร้างเสถียรภาพของภาคการเงิน และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั้งระดับภูมิภาคและโลก นอกจากนี้ ผู้บริหารตั้งเป้ากลุ่มประเทศ BRIC, อินโดนีเซียป็นตลาดน่าลงทุนปีนี้ ด้านซีอีโออาเซียนชู ‘เอเชียตอ.ใต้’ แหล่งเป้าหมายควบรวมฯ ร่วมทุน หลังได้ เออีซี หนุน PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เผยผลสำรวจล่าสุด ชี้ซีอีโอทั่วโลกกว่าครึ่งคาดทิศทางเศรษฐกิจโลกจะยังคงอ่อนแอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยมองเหตุการณ์ความไม่สงบ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกา ภัยคุกคามทางอินเตอร์เน็ต ภัยธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อแหล่งผลิต และ ความกังวลเรื่องการล่มสลายของระบบยูโรโซน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการเติบโตรายได้ทางธุรกิจ (Revenue growth) ของเหล่าบรรดาซีอีโอในปีนี้ นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร PwC ประเทศไทย กล่าวถึงผลสำรวจ Global CEO Survey ครั้งที่ 16 ที่ใช้ในการประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ณ กรุง ดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่า มีซีอีโอทั่วโลกที่ทำการสำรวจเพียงร้อยละ 36 จากจำนวนทั้งสิ้น 1,330 รายที่แสดงความมั่นใจมากต่อการเติบโตของรายได้ปี 2556 โดยความเชื่อมั่นในปีนี้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 40 ในปีก่อนและร้อยละ 48 ในปี 2554 “สิ่งที่เราพบโดยภาพรวมก็คือ ความเชื่อมั่นในหมู่ซีอีโอทั่วโลกยังไม่กลับมาในปีนี้ ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังห่วงเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่จะยังชลอตัวอยู่ บวกกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เทรนด์ในปีนี้ เป็นปีที่เราจะต้องประคับประคองการเติบโต ควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย และบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวัง,” นายศิระ กล่าว ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 52 ของซีอีโอทั่วโลกเชื่อว่าทิศทางเศรษฐกิจโลก (Global economy) ในปีนี้จะยังคงทรงตัว ในขณะที่ร้อยละ 28 มองว่าจะเห็นการปรับตัวลดลงอีก และมีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่เชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้น “ถึงแม้ว่าภาพรวมในระยะสั้นจะดูไม่สดใส แต่ซีอีโอส่วนใหญ่ยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 3 ปีข้างหน้า ยกตัวอย่าง เช่น มีซีอีโอในภูมิภาคอาเซียนถึง 57 เปอร์เซ็นต์ที่เชื่อมั่นว่าแนวโน้มการเติบโตรายได้ของตนจะปรับตัวแข็งแกร่งใน 3 ปีข้างหน้า โดยเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ เช่น ตะวันออกกลาง (56 เปอร์เซ็นต์), อเมริกาเหนือ (51 เปอร์เซ็นต์ ), เอเชียแปซิฟิก (52 เปอร์เซ็นต์) และทั่วโลก (46 เปอร์เซ็นต์) จะมีก็แต่ซีอีโอในแถบทวีปยุโรปเท่านั้น ที่แสดงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มระยะยาวน้อยที่สุดโดยอยู่ที่ราว 34 เปอร์เซ็นต์,” เขากล่าว นาย ศิระ ยังกล่าวอีกว่า “ตลาดต่างประเทศที่ซีอีโอทั่วโลกมองว่าเป็นเป้าหมายหลักของการลงทุน 5 อันดับแรกในปีนี้ อยู่ในกลุ่มประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นตลาดที่มีการเติบโต (Growth markets) ได้แก่ ประเทศในกลุ่ม BRIC ประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และ อินโดนีเซีย นอกเหนือไปจากตลาดที่พัฒนาแล้ว อย่าง สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา เยอรมนี และ ญี่ปุ่น ผลสำรวจยังพบว่า น้องใหม่อย่างอินโดนีเซียที่ติดโผรายชื่อ 10 อันดับเป็นครั้งแรกในปีนี้ เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Real GDP forecast) จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ต่อปีไปอีก 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) อื่นๆเช่น เม็กซิโก และ ไทย ก็ยังเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนที่สำคัญในสายตาซีอีโอต่างชาติอีกด้วย” ทั้งนี้ ผลสำรวจ PwC’s Annual Global CEO Survey: Dealing with disruption — Adapting to survive and thrive ถูกจัดทำขึ้นระหว่าง เดือน กันยายน ถึง ธันวาคม 2555 โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูง หรือ ซีอีโอ ทั่วโลกจำนวน 1,330 คนใน 68 ประเทศทั้งในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชียแปซิฟิก แอฟริกา ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา ครอบคลุม 20 อุตสาหกรรมชั้นนำ ผ่านการทำแบบสอบถามออนไลน์ การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ และแบบตัวต่อตัว นอกจากนี้ มีบริษัทที่ร่วมทำการสำรวจในปีนี้ถึงร้อยละ 40 ที่มีรายได้รวมมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และมีบริษัทชั้นนำจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ (21 ราย), เวียดนาม (11 ราย), มาเลเซีย (8 ราย), อินโดนีเซีย (2 ราย), ฟิลิปปินส์ (2 ราย) และไทย (9 ราย) สำหรับกลยุทธ์ในการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆในปีนี้ นายศิระกล่าวว่า เกือบครึ่งของซีอีโอทั่วโลก มุ่งเป้าไปที่การเติบโตธุรกิจตามปกติ (Organic growth) ในตลาดในและต่างประเทศของตนที่มีอยู่แล้วเป็นอันดับแรก รองลงมาคือร้อยละ 25 เน้นไปที่การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ (Product and service development) และมีซีอีโอเพียงร้อยละ 17 เท่านั้น ที่มีแผนที่จะขยายกิจการผ่านการควบรวม (Merger and acquisition) ในปีนี้ “ตลาดที่ถือเป็นเป้าหมายของการทำ M&A ของซีอีโอทั่วโลกในปี 2556 คือตลาดอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก เนื่องจากนักลงทุนต่างมองหาผลตอบแทนที่คุ้มค่า พูดง่ายๆ ก็คือ คนกำลังมองหาดีลดีๆ ราคาน่าสนใจ ในยามที่วิกฤตหนี้และความกังวลทางเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง สหรัฐฯ และ ยุโรป,” นาย ศิระกล่าว “แต่หากมาดูในระดับอาเซียนบ้านเรา สิ่งที่น่าสนใจที่เราพบก็คือ มีซีอีโอในอาเซียนถึง 56 เปอร์เซ็นต์ที่มองว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นแหล่งเป้าหมายหลักของการควบรวมกิจการ ธุรกิจร่วมทุน (Joint Ventures) และการหาพันธมิตรทางการค้า (Strategic alliances) ในปีนี้ นำหน้าภูมิภาคอื่นๆอย่าง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และอเมริกาเหนือ เพราะฉะนั้นตัวเลขที่ได้ มันสะท้อนภาพให้เห็นว่า แนวโน้มการควบรวมในภูมิภาคนี้น่าจะมีความคึกคัก โดยได้รับอานิสงส์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เป็นตัวเร่งให้เกิดกิจกรรมเศรษฐกิจและสร้างโอกาสการค้าการลงทุนใม่ๆให้แก่ภาคเอกชนในภูมิภาคอีกทางหนึ่ง,” เขากล่าว เมื่อถามถึงภัยคุกคามเชิงเศรษฐกิจและนโยบาย (Economic and policy threats) ที่ซีอีโอในภูมิภาคอาเซียนกังวลมากที่สุด ผู้บริหารมากถึงร้อยละ 87 กังวลเรื่องของความผันผวนและความไม่แน่แน่นอนของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Uncertain/ volatile economic growth) เป็นหลัก ตามมาด้วยเรื่องของการควบคุมและกำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากเกินไป (Overregulation) นอกเหนือไปจากประเด็นอื่นๆ เช่น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate volatility) และ การตอบสนองของภาครัฐต่อวินัยการคลังและภาระหนี้ (Fiscal deficit and debt burden) และหากดูในแง่ภัยคุกคามเชิงธุรกิจ (Business threats) จะพบว่าซีอีโอส่วนใหญ่ หรือ มากถึงร้อยละ 85 กังวลเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรหรือแรงงานที่มีทักษะ (Availability of key skills) นอกจากนี้ การบริหารต้นทุนค่าใช้จ่าย (Cost control) ยังกลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่บรรดาซีอีโอส่วนใหญ่นำมาพิจารณาในการดำเนินธุรกิจเพิ่มมากขึ้นในปี 2556 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะงักงัน โดยผลสำรวจพบว่า มีซีอีโอในภูมิภาคอาเซียนถึงร้อยละ 68 ที่คาดว่าจะนำมาตรการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ (Cost-cutting measures) มาใช้กับองค์กรของตนในอีก 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ร้อยละ 38 กล่าวว่า ตนได้มีการขายหุ้นของบริษัทบางส่วนออกไป หรือในบางกรณี ถอนการลงทุนในตลาดสำคัญๆเพื่อบริหารต้นทุนในปีที่ผ่านมา แต่ถึงแม้ผู้บริหารจะเพิ่มความระมัดระวังในการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่าย แนวโน้มการจ้างงานในภูมิภาคอาเซียนจะยังคงทะยานสูงขึ้นในปีนี้ โดยซีอีโอเกือบครึ่งหรือร้อยละ 47 ในภูมิภาคอาเซียนมีแผนที่จะขยายการจ้างงาน และมีเพียงร้อยละ 19 ที่ต้องการลดจำนวนพนักงาน นาย เดนนิส แนลลี่ ประธาน บริษัท PricewaterhouseCoopers International Ltd กล่าวถึงแนวโน้มโดยสรุปในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ว่า “ปี 2013 จะเป็นปีที่ซีอีโอทั่วโลกหันมาจัดการกับการบริหารความเสี่ยง เราจะเห็นภาคธุรกิจมีการปรับตัวทั้งในแง่ของเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการ ผู้บริหารจะเข้ามาดูแลในเรื่องของต้นทุนมากขึ้นในยามที่เศรษฐกิจยังไร้ทิศทาง และน่าจะเห็นการต่อยอดทางธุรกิจตามปกติ หรือในตลาดที่ตนมีอยู่แล้วมากกว่าการขยายตลาดใหม่ๆอย่างร้อนแรง แต่ในขณะเดียวกันแนวโน้มการจ้างงานจะเติบโตสวนทางกับการลดต้นทุน เพราะผู้บริหารตระหนักถึงความสำคัญของคนในองค์กรมากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง คือ ภาคธุรกิจจะหันมาคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นการพัฒนาแผนธุรกิจ การค้า โดยหามาตรการหรือแรงจูงใจ รวมทั้งนวัตกรรมใหม่ๆมาประยุกต์ใช้ในการกระตุ้น demand และทำให้เกิด loyalty ในกลุ่มลูกค้ามากขึ้น” ในท้ายที่สุด ภาระหน้าที่หลัก (Top priorities) ที่เหล่าบรรดาซีอีโอในอาเซียนเรียกร้องให้ภาครัฐฯ และผู้นำประเทศต้องมีการบริหารจัดการสามอันดับแรกในปีนี้ ได้แก่ การสร้างงานและส่งเสริมพัฒนาบุคลากรหรือแรงงานที่มีทักษะ การสร้างเสถียรภาพต่อภาคการเงิน และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ท่านสามารถ download รายงานผลสำรวจฉบับเต็มได้ทาง www.pwc.com/th เกี่ยวกับ PwC PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการทางด้านตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาทางด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก มีเครือข่ายไปใน 158 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 180,000 คน สำหรับ ประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 50 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบันมีพนักงานกว่า 1,350 คนในประเทศไทย เกี่ยวกับ World Economic Forum การประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) เป็นองค์กรอิสระระดับนานาชาติ ที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมโลกด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้นำโลก เพื่อกำหนดแนวทางด้านการพัฒนาตั้งแต่ระดับโลก ระดับภูมิภาค ลงมาจนถึงระดับกลุ่มอุตสาหกรรม โดย World Economic Forum ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2514 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ World Economic Forum ยังเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เป็นอิสระจากการเมือง กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่มีส่วนเกี่ยงข้องกับผลประโยชน์ของประเทศ วิธีการสำรวจ ผลสำรวจ Global CEO Survey ครั้งที่ 16 ดำเนินการโดย PwC’s International Survey Unit ถูกจัดทำขึ้นระหว่าง เดือน กันยายน ถึง ธันวาคม 2555 ผ่านการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูง หรือ ซีอีโอ ทั่วโลกจำนวน 1,330 คนใน 68 ประเทศทั่วโลกใน 20 อุตสาหกรรมชั้นนำ ผ่านการทำแบบสอบถามออนไลน์ การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และแบบตัวต่อตัว (Face-to-face interview) ทั้งนี้ มีบริษัทที่ร่วมทำการสำรวจถึงร้อยละ 40 ที่มีรายได้รวม (Revenues) มากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีขึ้นไป @2013 PwC. All rights reserved
แท็ก ซีอีโอ   PwC  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ