แพทย์เผยของขวัญวันเด็กที่ดีที่สุดคือ “ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว” แนะพ่อแม่ยุคใหม่ รักลูกให้ถูกและเหมาะสม บ่มเพาะภูมิคุ้มกันในจิตใจ

ข่าวทั่วไป Wednesday January 23, 2013 14:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--ไอแอมพีอาร์ ในรอบปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเรื่องราวของปัญหาเด็กและเยาวชนปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในพื้นที่ของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ มากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติที่ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นไปสังคมโลกจะต้องรับมือกับสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาด้านเด็กและเยาวชนที่จะพุ่งสูงขึ้นจนถึงขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยในปัจจุบันที่เปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยวและพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น พ่อแม่ต้องออกไปทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำมาหากิน มีความเครียดในการดำรงชีวิตสูง และผู้คนในปัจจุบันให้ความสำคัญกับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่มีความสามารถหลากหลาย ทำให้ดึงความสนใจและเวลาของพ่อแม่จากตัวเด็กไป รวมทั้งตัวเด็กเองก็หันหน้า เข้าหาสิ่งเหล่านี้เช่นกันเพราะขาดการเอาใส่ใจจากผู้ปกครอง ทำให้ความรักความผูกพันระหว่างสมาชิกครอบครัวลดลง ความเป็นครอบครัวที่แท้จริงจึงถูกหลงลืมไปจากสังคมไทย โรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงร่วมกับ ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กวัยรุ่นและครอบครัว ที่ปรึกษาของโรงพยาบาลฯ ออกแบบกระบวนการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “เทคนิคสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก” (Positive Parenting) ให้กับพ่อแม่หรือผู้ปกครองเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเลี้ยงดูบุตรหลาน ให้เติบโตขึ้นอย่างมีพลังใจที่ดีและเข้มแข็ง เพราะครอบครัวไทยในปัจจุบันกำลังถูกกระแสและค่านิยมต่างๆ ในสังคมพัดพาไปจนหลงลืมเป้าหมายที่แท้จริงของคำว่าครอบครัว “เพราะการมีความสุขด้วยกันคือเป้าหมายที่แท้จริงของการมีครอบครัว แต่ส่วนใหญ่ไปหลงเข้าใจกัน ว่าการมีสิ่งนั้นสิ่งนี้คือความสุข และความสามารถในการที่จะรู้จักความสุขกำลังหายไป เพราะคำว่า หาความสุขหรือ มีความสุข นั้นต่างกัน ก็เลยเอาเวลาไปทำงานหาเงินเพื่อไปซื้อสิ่งที่คิดว่าเป็นความสุข ทั้งๆ ที่การมีความสุขด้วยกันก็คือการต้องอยู่ด้วยกัน ซึ่งนั่นหมายถึงการต้องมีเวลา” ศ.พญ.นงพงา ระบุ และเมื่อมองจากสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกหรือการกระทำในรูปแบบต่างๆ ที่สังคมไม่ยอมรับนั้น ก็ล้วนแต่มีที่มาหรือจุดเริ่มต้นจากครอบครัวทั้งสิ้น “ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เกิดจากการไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันไว้ตั้งแต่เด็ก เพราะจิตใจก็เหมือนกับร่างกาย ถ้าเติบโตมาดี มีภูมิคุ้มกันดี ก็เจ็บป่วยได้ยาก แต่พ่อแม่ในปัจจุบันรู้จักแต่การเลี้ยงลูกให้มีร่างกายที่แข็งแรง ไม่ค่อยมีความรู้ว่าจะเลี้ยงดูลูกอย่างไรให้จิตใจแข็งแรง ร่างกายต้องการอาหาร 5 หมู่ จิตใจก็ต้องการอาหารใจเหมือนกัน อาหารใจส่วนใหญ่ก็จะพูดกันถึงแต่เรื่องของความรัก ถ้าให้ความรักเด็กก็จะอบอุ่นโตมาก็น่าจะเป็นคนดี แต่จริงๆ แล้วเป็นเพียงส่วนเดียว เหมือนกับการให้สารอาหารเพียงอย่างเดียวก็จะทำให้เป็น โรคได้ง่าย ความรักก็เช่นกันต้องให้ด้วยความเหมาะสม ถ้ารักมากตามใจมากจะเป็นกลายเป็นปัญหา อย่างเด็กวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายเพราะทนไม่ได้ที่แฟนทิ้ง คือตัวอย่างง่ายๆ ของการให้ความรักมากเกินไป” อ.นงพงา ยกตัวอย่าง ดังนั้นการให้ “ความรัก” นอกจากจะต้องดูตาม “ความเหมาะสม” แล้ว พ่อแม่หรือผู้ปกครองยังต้องคำนึงถึงการให้ความรักที่เหมาะสมควบคู่ไปพร้อมๆ กับ “ความเข้าใจ” ตามช่วงวัยและการเติบโตของเด็ก ซึ่งหลายครอบครัวในสังคมไทยยังขาดความรู้และทักษะในสิ่งเหล่านี้ “เด็กบางคน 9 ขวบแล้วพ่อแม่ยังป้อนข้าวป้อนน้ำล้างก้นให้อยู่เลย นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการให้ ความรักอย่างเดียวโดยไม่เข้าใจว่าลูกต้องเติบโตตามวัย เด็กวัยรุ่นที่อยากจะไปไหนมาไหนเองได้บ้าง แต่พ่อแม่รักและหวงมากไม่ให้ไปไหนกับเพื่อนเลย ลูกก็จะเกิดความอึดอัด ซึ่งพ่อแม่ที่ดีควรที่จะรู้และเข้าใจว่า ลูกไปได้แต่ต้องไปในที่ๆ ปลอดภัย ไม่ใช่ไม่ให้ไปไหนเลย ซึ่งการไม่เข้าใจลูกยังสร้างปัญหากับเด็กอีกมากมาย และการที่เด็กได้รับความรักที่มากเกินไป ไม่ปล่อยให้เขาได้ช่วยเหลือตัวเอง จะส่งผลเมื่อเวลาไปโรงเรียนก็ จะไม่สามารถเข้ากับกลุ่มเพื่อนได้ เพราะเพื่อนไม่ได้มาคอยเอาใจเหมือนที่บ้าน บางคนก็กลายเป็นโรคซึมเศร้าผิดหวัง ท้อแท้ พ่อแม่เองก็ไม่ทันได้สังเกตเห็นปัญหาเพราะไม่มีเวลาใกล้ชิดกลับบ้านดึก นานวันเข้าเด็กก็จะไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเรียนหนังสือ ผลการเรียนตกต่ำลง” ศ.พญ.นงพงา กล่าว ถึงตรงนี้พ่อแม่ยุคใหม่หลายคนอาจจะเข้าใจว่าการเป็นพ่อแม่ที่ดีคือการให้ความรักและความเข้าใจ แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเพราะแท้ที่จริงแล้วสิ่งที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่เป็นเสมือนภูมิคุ้มกันภายในจิตใจสำหรับลูกต่อไปในอนาคตก็คือ “ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อและแม่” “ของขวัญที่ดีที่สุดที่พ่อและแม่จะมอบให้กับลูกได้ก็คือ การรู้จักที่จะมีความสุขด้วยกันเป็น หรือพูดได้ว่า ของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับลูกคือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ เพราะเมื่อพ่อแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ลูกก็จะมีความสัมพันธ์ที่ดีตามมา แต่ปัจจุบันเราไปขวนขวายสิ่งที่คิดว่าดีมาให้กับลูก หาแต่สิ่งที่อยู่ข้างนอก แต่สิ่งที่ดีสำหรับลูกที่แท้จริงนั้นกลับอยู่ข้างในตัวเรา สิ่งเหล่านี้ต่างหากจะส่งผลต่อการมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่ดี” ศ.พญ.นงพงา ระบุ แนวทางการที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ซึ่งเป็นพื้นฐานด้านจิตใจที่สำคัญของเด็ก ให้เกิดขึ้นได้นั้น ตามหลักทฤษฎีของ “ซาเทียร์” นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ค้นพบหนทางสร้างความมั่นคงภายในจิตใจอันจะนำมาซึ่งความสุขในชีวิต ระบุว่าจะต้องเริ่มจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเองก่อน “ความสัมพันธ์กับตัวเองต้องมาก่อนความสัมพันธ์กับคนอื่น ถ้าคนเรามีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับตัวเอง ไม่ชอบตัวเอง หงุดหงิดตลอดเวลา ไม่มีความสุข ก็ไม่สามารถเป็นพ่อแม่ที่ดีได้ เมื่อความสัมพันธ์กับตัวเองยัง ไม่ดีแล้วจะไปสัมพันธ์กับลูก สามีหรือภรรยาได้อย่างไร ในทฤษฎีของซาเทียร์จึงเน้นจากการเริ่มต้นพัฒนา ตนเองไปพร้อมๆ กับการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น” “เริ่มจากเราต้องเห็นคุณค่าของตัวเองว่าเราดีพอแต่ไม่ได้หมายความว่าเราดีวิเศษ เราต้องตั้งใจที่ จะเห็นความสำคัญของตนเอง เห็นคุณค่าและความดีของตนเอง เมื่อเราสามารถมองเห็นคุณค่าและความดี ในตัวของเราได้เราก็จะสามารถมองเห็นคุณค่าและความดีในตัวของลูกหรือคนอื่นได้ เวลาที่เราทำดีก็ต้องรู้จัก ที่จะชื่นชมตัวเองว่าเราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ดี พอลูกทำดีเราก็จะชื่นชมเพราะเรามองเห็นคุณค่าและความดีในตัวของลูก หรือในสิ่งที่ลูกทำ มองเห็นคุณค่าแม้สิ่งเล็กน้อยๆ สามารถชมและให้กำลังใจลูกได้ทุกเรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ แต่พ่อแม่ปัจจุบันมองเห็นแต่คุณค่าจากสิ่งภายนอก ชอบส่งลูกเข้าประกวดประชันแข่งขันกันเพียงเพื่อให้รับ คำชม แต่กำลังใจหรือความชื่นชมที่ดีล้วนอยู่ใกล้ๆ ตัวเรา” “ที่สำคัญพ่อแม่ต้องรู้จักมองลูกในแง่บวก เน้นในเรื่องของการสอนลูกให้เรียนรู้จากทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ ไม่ดี ซึ่งความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และการรับฟัง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ไม่ใช่แค่ฟังแบบพอผ่านๆ ไป แต่พ่อแม่ต้องฟังแบบให้ลึกถึงความปรารถนาข้างในจิตใจของลูกว่าลึกๆ แล้วเขาต้องการอะไร เพราะลึกๆ แล้วมนุษย์เราก็ต้องการอาหารใจ” ศ.พญ.นงพงา กล่าว ช่วงเวลาทองของชีวิตลูกคือเด็กในวัย 0-6 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการปูพื้นฐานด้านจิตใจที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต หากชีวิตในช่วงนี้บกพร่องแล้วก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ พ่อแม่หรือผู้ปกครองที่อยากจะให้ของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับลูก ก็คงต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาตนเองเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างภูมิคุ้มกันในจิตใจให้เกิดขึ้น ดังนั้นการที่จะให้เด็กไทย “รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน” ได้ตามคำขวัญในปีนี้ ก็ควรที่จะมีจุดเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ด้วยการทำให้ลูกได้รู้สึกว่าตัวเองนั้นมีคุณค่าโชคดีที่มีพ่อแม่รักและเข้าใจ จิตแพทย์ท่านเดิมกล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ