กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--สวก.
เมื่อวันที่ 8 — 10 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการวิจัยการเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ โดยโครงการและผลงานวิจัยที่ สวก. นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมในครั้งนี้เป็นโครงการและผลงานวิจัยที่มีศักยภาพสูงที่จะเร่งผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่นและระดับประเทศต่อไป ซึ่งการจัดกิจกรรมโครงการสื่อมวลชนสัญจรเพื่อเยี่ยมชมโครการวิจัยของ สวก. ได้มีการดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี โดยครั้งนี้ สวก. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนและพัฒนางานวิจัยจาก สวก.มากถึง 19 โครงการ รวมทั้งสถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน และ บริษัท เทพวงศ์ ออร์คิด จำกัด นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการวิจัยคุณภาพถึง 5 โครงการ
ดร. พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการ สวก. เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. มุ่งพัฒนาเพื่อเป็นหน่วยงานที่เป็น R&D Arms ที่จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และระบบการวิจัยการเกษตรของประเทศอย่างยั่งยืน โดยใช้กลไกหลักที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1. การสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยการเกษตรทั้งการให้ทุนเพื่อพัฒนางานวิจัยการเกษตรในเชิงพาณิชย์ งานวิจัยการเกษตรเชิงสาธารณะที่จะช่วยก้ปัญหาด้านการเกษตรที่มีผลกระทบในวงกว้าง และงานวิจัยการเกษตรเชิงนโยบายเพื่อใช้เป็นแนวทางหรือข้อมูลในการกำหนดนโยบายการเกษตรของประเทศ
2. การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการวิจัยเกษตรทั้งการให้ทุนเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาและทุนฝึกอบรมและปฏิบัติงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3. การสนับสนุนการเผยแพร่องค์วามรู้ด้านการเกษตรเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาวงการเกษตรของประเทศ
การจัดกิจกรรมนำคณะสื่อมวลชนสัญจรในครั้งนี้ของ สวก. ได้มีการคัดเลือก 5 โครงการวิจัยที่มีศักยภาพที่จะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรหลักที่สำคัญของไทย คือ ข้าว ลำไย กล้วยไม้ ฯ รวมทั้งสินค้าเกษตรบางตัวที่ศักยภาพสูงและมีโอกาสที่จะผลักดันให้เป็นสินค้าหลักของประเทศต่อไปในอนาคต ทั้งในด้านผลผลิต ด้านคุณภาพ ด้านการส่งออก ซึ่งนับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งแห่งความสำเร็จของนักวิจัยไทย ดร. พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการ สวก. กล่าว
ทึ่ง!! นักวิจัยไทยสุดเจ๋ง แค่ 1 ปี สร้างองค์ความรู้ใหม่ ผลิต “เจลยาชาทาเฉพาะที่ จากข้าวไทย” สำเร็จ
ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยและเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวลำดับสำคัญของโลกมาหลายปี แต่ปัจจุบันมูลค่าข้าวที่ส่งออกในรูปข้าวสารกลับมีราคาต่ำกว่าผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ได้จากการพัฒนาและแปรรูปข้าวทั้งในเชิงการแพทย์และความงาม
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงค้นหาวิธีการเพิ่มมูลค่าข้าวด้วยการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง โดยพบว่าในเมล็ดข้าวมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นคาร์โบไฮเดรท ซึ่งเป็นสารประกอบที่เป็นโพลิเมอร์ตามธรรมชาติที่ดี นั่นคือไม่มีพิษและสลายตัวได้ในร่างกาย สามารถปรับหรือดัดแปลงโครงสร้างได้ จึงนำสารโพลิเมอร์ที่ได้จากข้าวมาดัดแปลง เพื่อให้ได้สารก่อเจลที่เหมาะสม และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เจลบรรจุยาชาสำหรับใช้ทาเฉพาะที่ภายในช่องปาก ภายใต้ผลิตภัณฑ์ “เจลยาชาใช้ทาเฉพาะที่” สำหรับใช้ทาก่อนฉีดยาชา ช่วยระงับความเจ็บปวด โดยเฉพาะผู้ป่วยทางทันตกรรม ซึ่งงานวิจัยนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายๆ กลุ่มด้วยกัน อาทิ เภสัชกรรม ทันตกรรม ภาคเอกชนผู้ผลิตแป้งข้าว ผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาโดยทันตกรรมที่ต้องใช้ยาชา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาวนาผู้ปลูกข้าวเนื่องจากงานวิจัยนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบทางการเกษตร รวมทั้งจะช่วยลดการสูญเสียเงินตราในการนำเข้าเวชภัณฑ์ชนิดนี้จากต่างประเทศ อีกทั้งคนไทยได้ยังได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและราคาถูก
ลำไยอนาคตสดใส!!... นักวิจัยไทยคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพิ่มมูลค่า ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร เตรียมเจาะกลุ่มคนรักสุขภาพทั่วโลก
“ลำไย” ผลไม้ที่ปลูกมากบริเวณภาคเหนือตอนบน ซึ่งปัญหาที่เกษตรกรผู้ปลูกลำใยต้องประสบมาโดยตลอด คือ ผลผลิตล้นตลาดทำให้ราคาตกต่ำรวมทั้งสถานการณ์ส่งออกที่อยู่ในภาวะทรงตัว ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้หาทางช่วยเหลือโดยการส่งเสริมให้ประชาชนเพิ่มปริมาณการบริโภคด้วยมาตรการต่างๆ เนื่องจาก ลำใย เป็นผลไม้ที่มีรสหวานและมีปริมาณน้ำตาลสูง นักวิจัยไทยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเกิดแนวคิดพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ “ฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์จากน้ำเชื่อมลำไย” ด้วยวิธีทางเอนไซม์ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าลำไยได้สูงถึง 6 - 50 เท่า ภายใต้ผลิตภัณฑ์ sc-FOS เป็นผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกส์ ที่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากให้พลังงานต่ำ ช่วยระบบทางเดินอาหาร ที่ใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด เหมาะสำหรับผู้ต้องการควบคุมน้ำหนัก ใช้ชงเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือให้กลิ่นและรสของลำไยอย่างแท้จริง ตลอดจนมีอายุการเก็บยาวนาน โดยมีต้นทุนการผลิตเพียง 2,000 - 2,500 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าผลิตภัณฑ์ sc-FOS ที่นำเข้าจากต่างประเทศถึง 3 เท่า!! คาดว่าจะได้รับความนิยมจากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 จากมูลค่าการส่งออกลำไยที่สูงถึง 13,500 ล้านบาท นอกจากจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังสอดรับกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มในการใส่ใจรักษาสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชนิดใหม่ ที่อยู่ในกระบวนการผลิตอาหารและเครื่องดื่มอีกด้วย
“น้ำตาลลำไย” มาแรงแซงโค้ง เตรียมผงาดในตลาดแปรรูป หนึ่งเดียวด้วยรสชาติลำไยแท้ แก้ปัญหาลำไยล้นตลาดอย่างชาญฉลาด
นอกจากนี้ ในสภาวะที่ลำไยล้นตลาด ทำให้ลำไยสดราคาตกต่ำ เกษตรกรจึงนิยมขายลำไยร่วงมากกว่า เพราะต้นทุนถูกกว่า แต่ก็ไม่ใช่เงินที่เป็นกอบเป็นกำ หากสามารถนำลำไยสดร่วง มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ อาทิ ลำไยกระป๋อง ลำไยอบแห้ง ลำไยแช่แข็ง “น้ำตาลลำไย” ก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากปัจจุบันตลาดแปรรูปมีบทบาทมากขึ้น นักวิจัยไทยจึงมีแนวคิดที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งช่วยลดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำของลำไยสดร่วงอีกทางหนึ่ง จึงสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ “ชุดระเหยสูญญากาศ และเครื่องหมุนเหวี่ยงแยกผลึกน้ำตาล” ที่สามารถผลิต “ผลึกน้ำตาลลำไยสำเร็จรูป” ในเชิงพาณิชย์ โดยใช้ลำไยสดร่วงเป็นวัตถุดิบ ด้วยกระบวนการใช้สารล่อผลึก (น้ำตาลซูโครส) ที่ร้อยละ 10 ต่อน้ำหนักก่อนนำไปอบสุญญากาศที่ 60 องศาเซลเซียส ซึ่งสุดท้ายจะได้ผลึกน้ำตาลลักษณะเม็ดเล็ก มีสี กลิ่น รสหวานของลำไยแบบธรรมชาติ และได้ผ่านการทดสอบต่าง ๆ จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจทั้งในเชิงคุณภาพ สุขภาพ ความเป็นพิษ และเชิงพาณิชย์ ฯลฯ เป็นต้น รวมทั้งการทดสอบทางการตลาดจากผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่าง บริเวณภาคเหนือและภาคกลางกว่า 2,000 คน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ต่อไป ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การศึกษาตลาด ราคาและช่องทางการจำหน่าย ฯลฯ เพื่อขยายผลไปสู่ภาคธุรกิจในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะเป็นผลงานวิจัยที่จะให้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะเวลาอันสั้น และในขณะเดียวกัน ก็สามารถชี้ให้เห็นถึงทิศทาง แนวโน้ม และศักยภาพของอุตสาหกรรมเกษตร ที่สามารถทำควบคู่กับไปอุตสาหกรรมน้ำตาลว่า สามารถเกิดขึ้นได้ และทั้งสองอุตสาหกรรมนี้กำลังก้าวไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นแน่นอน
กาแฟอราบิก้าชั้นเลิศ เตรียมหยั่งรากลึกบนดอย ตั้งเป้าเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่จะสร้างรายได้มั่นคงพร้อมลงสนามแข่งขัน ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมบนที่ราบสูงอย่างยั่งยืน
อย่างที่ทราบกันว่า เชียงใหม่ มีชาวเขาเผ่าต่าง ๆ อาศัยอยู่บนพื้นที่ราบสูงจำนวนมากเกือบสองแสนคนบนเทือกเขาที่มีระดับสูงประมาณ 1000 - 1200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ทำให้ต้องทำการเพาะปลูกแบบไร่เลื่อนลอย ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่อย่างมาก จากการประเมินของกรมป่าไม้ พบว่า พ.ศ. 2512 ป่าไม้ถูกทำลายจากการทำไร่เลื่อนลอยถึงปีละประมาณ 2 - 3 ล้านไร่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สูญเสียดินและเกิดอุทกภัย นอกจากนี้ เกษตรกรบนที่ราบสูงมักนิยมปลูกไม้ยืนต้น ที่แม้จะให้ผลผลิตสูงและราคาดี แต่ก็มีอายุการเก็บเกี่ยวยาวนานหลายปี ทำให้ขาดรายได้หมุนเวียน คณะนักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาโครงการในเขตพื้นที่สูงดังกล่าว ด้วยแนวคิดนำร่องโครงการทดลอง ศึกษาวิจัยและคัดเลือกพันธุ์กาแฟอราบิก้าที่เหมาะสมกับพื้นที่สูงของไทยขึ้นมาเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดี มีความต้านทานโรคและแมลง และผลผลิตมีคุณภาพในระดับดีมาก สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตภายในเวลาอันสั้น เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ที่สำคัญสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งหากกาแฟสายพันธุ์นี้ได้ทดลองปลูกเป็นผลสำเร็จ คาดว่าต่อไปจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มสดใสและมีราคาสูง และจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังทำให้ชาวเขาได้ใช้ประโยชน์จากการใช้ที่ดินอย่างถาวร พร้อมมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ไม่จำเป็นต้องมีวิถีชีวิตที่ทำไร่เลื่อนลอยเหมือนเดิมอีกและไม่ต้องรอเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีอายุยาวนานเกินไป จึงเป็นการช่วยยกระดับเกษตรกรและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านนี้อย่างยั่งยืน ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีความสนใจที่จะส่งข้อเสนอโครงการวิจัยดังกล่าวเพื่อขอรับทุนวิจัยจาก สวก.
งานวิจัยสร้างชาติ “ชุดกำจัดศัตรูกล้วยไม้แบบง่าย ๆ” ทราบผลภายใน 3-5 นาที ถูกใจเกษตรกรชาวกล้วยไม้
ตลาดส่งออกกล้วยไม้ของประเทศไทยมีถึงร้อยละ 60 ส่วนใหญ่จะเป็นสกุลหวาย โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น ประเทศในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2550 คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 6,000 ล้านบาท แม้ปัจจุบันตลาดส่งออกกล้วยไม้จะมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากมีความต้องการสูง แต่ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง คือ คุณภาพของดอกและต้นกล้วยไม้ที่เกิดจากเพลี้ยไฟ และไวรัสที่ทำให้คุณภาพของดอกและต้นด้อยลง จึงเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสำคัญ และยังทำให้ถูกกีดกันทางการค้าอย่างมาก ทีมนักวิจัยจากกรมวิชาการเกษตร จึงหาแนวทางป้องกันกำจัดศัตรูกล้วยไม้แบบง่าย ๆ ที่เกษตรกรสามารถทำเองได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว เป็นผลสำเร็จ โดยเฉพาะโรคไวรัสที่ทำให้กล้วยไม้พันธุ์ที่อ่อนแอ มีลักษณะต้นทรุดโทรม ออกดอกน้อยลง ใบและดอกด่าง เกิดใบเหลืองเป็นปื้น ฯลฯ โดยสร้างผลิตภัณฑ์งานวิจัยภายใต้ที่ชื่อ “ชุดตรวจสอบไวรัสอย่างง่าย POCy kit” ชุดตรวจภาคสนามที่สามารถตรวจเชื้อไวรัสอันเป็นสาเหตุของโรคใบด่างและจุดประดำของกล้วยไม้ที่เกิดจากเชื้อ PhCSV, ORSV และ CyMV วิธีใช้ เพียงแค่บดตัวอย่างกล้วยไม้ด้วยสารละลายบัฟเฟอร์ในถุงพลาสติกบดตัวอย่าง แล้วหยดน้ำคั้นพืชลงในช่องรับน้ำคั้นของตลับ 3 หยด อ่านผลภายใน 3-5 นาที ก็สามารถวินิจฉัยการเป็นโรคได้ในเวลาอันรวดเร็ว และทำให้สามารถตัดสินใจเลือกต้นพันธุ์ปลอดเชื้อไวรัสไปขยายพันธุ์ได้ทันที เป็นการควบคุมการแพร่ระบาดโรคไวรัสทั้งสามชนิดนี้ในกล้วยไม้ และนำไปใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองการปลอดเชื้อให้กับเกษตรกรผู้ส่งออกกล้วยไม้ เป็นการสนับสนุนการส่งออกต้นกล้วยไม้และยังเป็นการยกระดับคุณภาพของวงการกล้วยไม้ของประเทศไทย ให้มีเทคโนโลยีด้านการผลิต และด้านการอารักขากล้วยไม้ที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สวก. ได้ประสบความสำเร็จโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดตรวจสอบไวรัสกล้วยไม้ POCy kit ให้กับ บริษัท ซีแพค อินเตอร์ จำกัด ดำเนินการผลิตในรูปแบบธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะสะดวกกับเกษตรกรในการซื้อผลิตภัณฑ์ไปใช้ในการขยายพันธุ์กล้วยไม้ในรังของตนเองได้ และบริษัท เทพวงศ์ ออร์คิดจำกัด ได้เป็นต้นแบบที่ดีในการใช้ชุดตรวจสอบต้นพันธุ์กล้วยไม้ที่ปราศจากโรคไวรัสก่อนการขยายพันธุ์เพื่อการส่งออกอย่างจริงจัง
สำหรับ 5 โครงการวิจัยดังกล่าวข้างต้น นับเป็นโครงการวิจัยที่สามารถผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่นและระดับประเทศต่อไป ซึ่งมีข้อมูลและสาระสำคัญดังนี้
1. “เจลยาชาทาเฉพาะที่จากข้าวไทย” นวัตกรรมสุดล้ำ ด้วยฝีมือคนไทย
โครงการวิจัยการดัดแปรข้าวไทยเพื่อใช้ประโยชน์ทางทันตกรรม โดย รศ.เภสัชกรหญิง ดร.ศิริพร โอโกโนกิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. sc-FOS น้ำตาลลำไยดัดแปลง พรีไบโอติกส์ ดีต่อสุขภาพ พลังงานต่ำ ช่วยระบบทางเดินอาหาร
โครงการวิจัยการพัฒนาการผลิตฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ผงจากน้ำเชื่อมลำไยด้วยวิธีทางเอนไซม์ โดย ผศ. ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. “น้ำตาลลำไย” หนึ่งเดียวด้วยรสชาติลำไยแท้ ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค
โครงการวิจัยการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลยำไยและคุณสมบัติเชิงคุณภาพ สุขภาพและศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดย ผศ.ดร.ชรินทร์ เตชะพันธุ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4. กาแฟอราบิก้า พืชเศรษฐกิจตัวใหม่บนดอย ที่จะสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
โครงการวิจัยการคัดเลือกพันธุ์กาแฟอราบิก้าเพื่อรับรองสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่สูงของไทย โดย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5. “POCy kit” ชุดตรวจสอบไวรัส ยาสามัญประจำสวนกล้วยไม้ของเกษตรกร
โครงการวิจัยการพัฒนาชุดตรวจสอบไวรัสอย่างง่ายและเทคนิคการผลิตกล้วยไม้ปลอดโรคไวรัส โดย นางสุรภี กีรติยะอังกูร นักวิชาการโรคพืชเชี่ยวชาญ กรมวิชาการเกษตร
สวก. ได้จัดกิจกรรมโครงการสื่อมวลชนสัญจรขึ้น ระหว่างวันที่ 8 - 10 มกราคม 2556 เพื่อเข้าเยี่ยมชมและติดตามความก้าวหน้าและการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย 5 โครงการดังกล่าว นำทีมโดย ดร. พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการ สวก./ นางสาววีร์สุดา ธีรเดช ผู้อำนวยการ กลุ่มงานผู้อำนวยการ สวก./ นางสาวเกษชฏา มีความสุข ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเทคโนโลยีและเพิ่มมูลค่า สวก. ที่จะมาให้การต้อนรับ สำหรับผู้สนใจโครงการวิจัยต่าง ๆ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) - สวก. ที่หมายเลข 02-579-7435 แฟกซ์ 0-2579-8413 หรือคลิกเข้าไปดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.arda.or.th