กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--เอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป
เวทีรับฟังความเห็น ครั้งแรกต่อกรอบเจรจา เอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป ส่อเค้ากลายเป็นผักชี ตัวแทนกรมฯ รับปากว่าจะเผยแพร่ในเว็บไซต์ก่อนเข้าสภาฯ แต่ไม่ยืนยันว่าจะนำความเห็นประชาชนนำเสนอต่อสภาฯหรือไม่
วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๖ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเวทีรับความความคิดเห็นต่อร่างกรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ณ สำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยไม่มีผู้บริหารสำคัญของกระทรวงเข้าร่วมรับฟัง
นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ วอช) กล่าวว่า ในบทสรุปสำหรับผู้บริหารที่ตามเอกสารของกรม โดยที่จัดทำโดยหอการค้าว่าไทยจะมีความเสียหายทางการค้าที่จะมากถึง ๓ แสนล้านบาท หากไทยเสียสิทธิพิเศษทางการค้า หรือจีเอสพี ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินความเสียหายดังกล่าวมีมูลค่าไม่ถึง ๘ หมื่นล้านบาท ข้อมูลดังกล่าวเป็นการจงใจปั้นตัวเลขความเสียหายให้สูงเกินจริง ถือเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงต่อ ครม.
ประเด็นสำคัญที่หลายภาคส่วนกล่าวถึงคือประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ข้อ ๑.๑ ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไม่เกินไปกว่าความตกลงการค้าโลก และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ด้านยาของประเทศ
นายอนันต์ เมืองมูลไชย กรรมการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่เรื่องทรัพทย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงยาของประเทศ หากรับข้อตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์ และยุทธศาสตร์ด้านยาของประเทศก็ระบุชัดว่า ความตกลงระหว่างประเทศต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงกับองค์การการค้าโลก
"ที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเรื้อรังอื่นทั้งหัวใจ และมะเร็งต่างเข้าถึงยาจำเป็นได้เพราะประเทศทำซีแอลได้ มียาชื่อสามัญเข้ามาในประเทศไทย หากครั้งนี้ไทยรับข้อตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์ ผู้ป่วยเรื้อรังก็ไม่มีทางเข้าถึงยาจำเป็นได้อีกต่อไป ประเทศก็ต้องใช้งบประมาณมากขึ้นในด้านยา ความเสียหายเฉพาะประเด็นการคุ้มครองข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) อย่างเดียวก็ทำให้ไทยต้องใช้งบประมาณมากว่า ๘ หมื่นล้านต่อปี เฉพาะด้านยา" กรรมการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าว
นายเชิญพร เต็งอำนวย รองประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศต้องคำนึงถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาภายในประเทศ หากนำกรอบเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไปเจรจา ไทยก็เสียเปรียบอย่างแน่นอน ผลของการผูกขาดสิทธิบัตรยาก็จะทำให้อุตสาหกรรมยาในประเทศถดถอย ผลิตยาชื่อสามัญได้ยากขึ้น อุตสาหกรรมในประเทศเองก็จะไม่เติบโตในขณะที่ ประเทศไทยก็จะเสียดุลย์การค้าให้กับการนำเข้ายาต่างประเทศที่มากขึ้นด้วย
ในที่ประชุมมีการซักถามถึงความชัดเจนต่อกระบวนการต่อจากเวทีนี้ว่า หลังจากนี้ ท่าทีของกรมจะทำอย่างไรต่อข้อเสนอที่นำเสนอในเวทีนี้ จะนำความเห็นจากเวทีนี้ไปปรับในกรอบเจรจา หรือจะทำความคิดเห็นของกรมฯนำเสนอต่อสภาหรือไม่ นายรัชวิทย์ ปิยะปราโมทย์ นักวิชาการชำนาญการ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผู้ดำเนินการบนเวทีรับฟังความเห็นกล่าวต่อที่ประชุมว่า ความคิดเห็นจากเวทีนี้ อาจจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนกรอบเจรจาก็ได้ ตนไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ ต้องนำเรื่องเสนอต่อผู้ใหญ่ในกระทรวงให้พิจารณาก่อน
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำร่างกรอบการเจรจามาเปิดเผยต่อสาธารณชน และเปิดเวทีให้แสดงความคิดเห็น จากข้อมูลที่กรมฯ ให้ต่อ ครม.ว่ามีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นมาหลายครั้ง นับจากปี ๒๕๕๒ นั้น ไม่ถือว่าเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น เพราะไม่มีกรอบการเจรจาใดใดมาก่อนเลย ซึ่งการลงมติ ครม. ผ่านร่างกรอบเจรจาเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๕ นั้นสุ่มเสี่ยงว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดมาตรา ๑๙๐ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐
นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า "ภาคประชาชนไม่ได้มีเขา และไม่อยากให้งานนี้เป็นพิธีกรรม พวกเราพูดมาแล้วหลายเวที ทุกจังหวัด ไม่ให้นำแอลกอฮอล์ และบุหรี่เข้าในกรอบเจรจา แต่ก็ยังไม่เป็นผล และหวังว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้จะไม่เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น ต้องรับฟังแล้วตอบเราว่าถ้าแก้จะแก้อย่างไร เพราะอะไร หรือถ้าไม่แก้เพราะอะไรจึงไม่แก้ ประชาชนหวังว่าเสียงประชาชนที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ จะมีผลมากกว่าเสียงพ่อค้าที่ปกป้องประโยชน์ของตนเอง"
สำหรับข้อห่วงกังวลของประชาชนว่ากรมฯจะดำเนินการอย่างไรต่อ จะนำความเห็นของเวทีครั้งนี้ รวบรวมและนำเสนอความเห็นต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ หรือจะมีความเห็น มีข้อเสนอแนะจากกรมฯประกอบกรอบการเจรจา ผู้ดำเนินการบนเวทีไม่สามารถให้ความชัดเจนได้ว่าหลังจากนี้จะทำอย่างไรต่อไป เพียงแต่รับปากต่อข้อเสนอว่าให้นำความเห็นทั้งหมด ประมวลผลเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกรม ก่อนนำเข้าสภาฯ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ ๒๒ มกราคมนี้