กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--สรอ.
กระทรวงไอซีทีและสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จัดเต็ม เดินหน้าตามแผนนายกฯ ล่าสุด ดันแผน Smart Government in Action สานต่อกลยุทธ์ Smart Thailand เต็มสูบ พร้อมดัน 7 แผนใหม่ หวังใช้ EGA เป็นฐานเชื่อมโครงข่ายทั้งหน่วยงานรัฐ และระบบไอทีทั้งประเทศ สรอ.เชื่อสร้างสาธารณูปโภคพร้อมแล้ว ถึงปีนี้ฟันธงแอพสโตร์ภาครัฐเกิดแน่
นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายสำหรับขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศโดยต้องการเชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน โดยเน้นที่ 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2. ลดความเหลื่อมล้ำ และ 3.การเติบโตที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อมเน้นในเกิดความสมดุล 4.การสร้างสมดุลและปรับระบบบริหารจัดการภายในภาครัฐ โดยการปรับการบริหารจัดการ ทั้งระบบ กำลังคน และงบประมาณ โดยหากมองในส่วนภารกิจ ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก็เป็นการปรับสมดุลผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ICT ของประเทศเพื่อรองรับที่ต่างๆที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการต่อไป
ดังนั้นนโยบายการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กรอบแนวทาง และทิศทางการปฏิบัติงาน ปี 2556 หรือ “Smart Government in Action” เป็นการกำหนดแนวทางที่สอดรับกับนโยบายสำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) ในครั้งนี้ กระทรวงไอซีทีจะเน้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และการพัฒนาบริการภาครัฐผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาประเทศไปสู่ "Smart Thailand" ซึ่งกระทรวงฯ ได้ดำเนินงานหลักๆ ใน 4 ส่วน คือ Smart Network, Smart Government Smart Business และ Smart People
SMART NETWORK เป็นการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยมีเป้าหมายในการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 80 ภายใน ปี พ.ศ.2558 และร้อยละ 95 ภายในปี พ.ศ.2563 แผนการดำเนินการขยาย โครงข่าย SMART NETWORK แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2555 - 2558 เป็นการปรับเปลี่ยน อุปกรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของ โครงข่ายที่มีอยู่เดิมให้มีความพร้อมในการรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยไม่ต้องลงทุนลากสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเพิ่มเติม และระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2559 - 2563 จะเป็นการลงทุนลากสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเพิ่มเติมไปยังตำบลที่ยังไม่มีโครงข่ายฯ เพื่อให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 95 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
SMART GOVERNMENT เป็นการส่งเสริมการให้บริการผ่านโครงข่าย SMART NETWORK ทำให้เกิดการเติบโตของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ไปพร้อมๆ กับการผลักดันบริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของภาครัฐ โดยในขั้นแรกเป็นการผลักดันบริการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประชาชนในเขตเมืองและชนบท กระทรวงฯ ได้วางแผนร่วมกับกระทรวงต่างๆ ในการพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ โดยระยะแรกเน้นเรื่องการส่งเสริมให้มีบริการของภาครัฐที่เป็นบริการพื้นฐานหลัก และก่อให้เกิดประโยชน์ ในวงกว้างแก่ประชาชนคนไทย ซึ่งได้แก่
1. บริการ Smart - Education การพัฒนาและส่งเสริมการขยายโครงข่าย การให้บริการการศึกษาไปยังโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 2. บริการ Smart - Health โครงการพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลทางไกลผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3. บริการ Smart - Government การเพิ่มช่องทางการให้บริการทะเบียนราษฎร์ออนไลน์ โดยขยายการให้บริการภาครัฐผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และ 4. บริการ Smart - Agriculture โครงการพัฒนาระบบศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการเกษตร โดยให้บริการข้อมูลทางการเกษตรที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ (Kiosk) ตามแหล่งชุมชนของแต่ละตำบล และการพัฒนาฐานข้อมูลภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) เพื่อส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ รวมถึงการส่งเสริมการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมกับการเพาะปลูก
SMART BUSINESS เป็นการกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อกระตุ้นประชาชนให้นำ ICT มาใช้ทำธุรกิจ โดยกระทรวงไอซีทีได้เห็นปัญหาในการติดต่อสื่อสาร การทำธุรกิจ หรือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลในการทำธุรกรรมเชิงธุรกิจ ระหว่างบุคคล องค์กร หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ซึ่งยังไม่มีความเป็นมาตรฐานสากลในลักษณะของ Supply Chain ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ จึงได้จัดทำระบบทะเบียนกลางทางธุรกิจ (National e-Business Registry) โดยใช้มาตรฐาน UN/CEFACT ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กร และส่งเสริมให้ใช้มาตรฐานเป็นพื้นฐานร่วมในหน่วยงานธุรกิจต่างๆ เพื่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการป้องกันภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งผลักดัน การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและรองรับการทำการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย
ในส่วนสุดท้าย Smart People กระทรวงไอซีทีให้ความสำคัญ และผลักดันให้เกิดมาตรฐานวิชาชีพด้านไอซีทีเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้บุคคลากรด้านนี้ให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ รวมถึงความพยายามในการสร้างสถาบันการศึกษาด้านไอซีที เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านไอซีทีของประเทศ
ในปี 2555 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีแห่งการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อต่อยอดระบบใหญ่ที่กำลังตามมา เช่น การสร้างระบบ Government Cloud Service หรือ ระบบ G-Cloud ขึ้นมา การปรับระบบเครือข่ายข้อมูลภาครัฐ Government Information Network หรือ GIN ให้มีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการข้อมูลภาครัฐ โดยมีการวางโครงของข้อมูลเพื่อเอื้อต่อการเชื่อมโยงทุกรูปแบบเอาไว้
ในปี 2556 และต่อเนื่องจากนี้ไป นั้นจะถือเป็นที่เกิดการต่อยอดและสร้างโครงข่ายออกไป โดยงานหลักใหญ่ๆ 7 ด้านของ Smart Thailand ที่จะริเริ่มในปีนี้จะประกอบไปด้วย 1. Smart Network ซึ่งจะขยับขยายจากเครือข่าย GIN ไปสู่ระบบ Super GIN 2. Smart Cloud ที่แม้ช่วงแรกจะมีหน่วยงานเข้ามาใช้บริการระบบ IaaS หรือ Infrastructure as a Service แต่ปีนี้จะเกิดบริการแบบเต็มที่คือไปสู่ SaaS หรือ Software as a Service มากขึ้น
3. Data Center Consolidation โครงการใหม่เพื่อการบูรณาการศูนย์ข้อมูลภาครัฐให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น 4. Cyber Security ที่จะเกิดมาตรฐานด้านระบบรักษาความปลอดภัยใหม่ๆ ที่ช่วยให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีความมั่นคงมากขึ้น 5. Th e-GIF เฟรมเวิร์คหรือกรอบการเชื่อมโยงบูรณาการข้อมูลภาครัฐในด้านต่างๆ จะลงตัวและพร้อมใช้งาน 6. Smart e-Service for Government จะเกิดการบริการระบบ e-Service ที่ลงไปสู่ภาคประชาชนให้จับต้องได้ โดยหน่วยงานหลักๆ ของภาครัฐ 7. ICT Academy แผนการรวบรวมองค์ความรู้ด้าน ICT ของประเทศ ทั้งผ่านระบบการศึกษา และองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
สำหรับ Smart Network ในรอบปีที่ผ่านมา กระทรวงไอซีทีได้บริหารงานโครงการ GIN ผ่านสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ซึ่งถือว่าเกิดมิติใหม่ จากโครงข่ายที่มีอยู่เดิมได้ต่อยอดทางด้านการบริการที่ให้ความน่าเชื่อถือมากขึ้น มีหน่วยงานรัฐจำนวนมากปรับเปลี่ยนระบบการจัดซื้อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาใช้ระบบนี้แทน รวมถึงมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายภาครัฐเดิมเพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณไปได้จำนวนหนึ่ง
นอกจากนั้นยังมีการจัดสรรความเร็วและปริมาณตามความต้องการใช้งานจริง ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการอย่างมาก อย่างไรก็ตามโครงข่าย GIN ที่วางเอาไว้เดิมนั้นจะเน้นไปยังจังหวัดและอำเภอเท่านั้น ยังไม่สามารถต่อเชื่อมไปยังพื้นที่ย่อยๆ แห่งอื่นได้ ดังนั้น Smart Thailand in Action 2013 จะมีโครงการต่อยอดชื่อ Super GIN ขึ้น เพื่อขยายเครือข่าย GIN ออกไปให้เต็มทุกพื้นที่ในประเทศไทย เป้าหมายคือทำให้ทุกที่ในประเทศสามารถต่อเชื่อมถึงกันได้โดยไม่มีข้อจำกัด ซี่งจะทำให้หน่วยงานรัฐทุกแห่งต่อเชื่อม และสามารถใช้บริการข้อมูลพื้นฐานของภาครัฐด้วยกันไปสู่การตัดสินใจและการให้บริการแก่ประชาชนได้ดีขึ้น โดย Super GIN จะสามารถเริ่มต้นโครงการได้ในปีนี้
Smart Cloud ในรอบปีที่ผ่านมา G-Cloud ของ EGA ถือว่าเป็นไฮไลต์ของปี เนื่องจากได้เข้ามาเปลี่ยนวิธีคิด วิธีบริการใหม่ของภาครัฐได้อย่างมาก ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาใช้บริการแล้วมากกว่า 140 ระบบ แม้ระบบ G-Cloud จะเป็นสิ่งใหม่ และภาครัฐต่างๆ ยังอยู่ในสภาพของการปรับตัว แต่ด้วยแนวโน้มของเทคโนโลยีที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ก็ทำให้เกิดการตื่นตัวของภาครัฐในเรื่องนี้อย่างมาก
อย่างไรก็ตามแม้จะมีหน่วยงานเข้าร่วมจำนวนมาก แต่หลายหน่วยงานก็นำระบบที่เป็นพื้นฐานเข้าร่วม และอยู่ในประเภท Infrastructure as a Service คือนำระบบงานมาใช้ทรัพยากรของ EGA โดยที่ยังเกิดระบบ Software as a Service ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่รัฐในองค์กร และประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้งานบริการโดยตรงจากแอพพลิเคชันขององค์กรไม่มากนัก อย่างไรก็ตามการวางพื้นฐานในปีที่ผ่านมาได้สร้างความเชื่อมั่น นำไปสู่การวางแผน โดยมีสรอ. เป็นหน่วยงานพี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษา รวมถึงการเป็นผู้จัดหาระบบในบางครั้ง ก็จะทำให้ในปีนี้ Smart Thailand ในส่วนของ G-Cloud ได้เพิ่มสัดส่วนของ SaaS มาให้บริการกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการใช้บริการภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ปีต่อไปสิ่งที่จะได้เห็นคือเรื่อง Government Application Center รูปแบบการให้บริการจากรัฐบาลแบบใหม่ที่เพิ่มประสิทธิภาพกับประชาชน
Data Center Consolidation โครงการที่วางเป้าหมายจะบูรณาการศูนย์ข้อมูลภาครัฐ หรือ Government Data Center เข้าด้วยกัน โดยอาจมีการวางแผนจัดตั้งศูนย์ข้อมูลทั้งระดับภูมิภาค และระดับจังหวัดให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้ EGA ไปทำการสำรวจพื้นที่ที่มีความเหมาะสม จากการสำรวจศูนย์ราชการที่กรุงเทพ และกว่า 15 จังหวัดตัวอย่าง ยังมีความซ้ำซ้อน และขาดประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรจากศูนย์ข้อมูลอยู่มาก ซึ่งถ้าเกิดการบูรณาการ Data Center ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็จะทำให้ข้อมูลของแต่ละจังหวัดเกิดการบูรณาการขึ้น และสามารถเชื่อมโยงเข้าหากันในแต่ละจังหวัดได้โดยอัตโนมัติ และที่สำคัญทั้งหมดจะอยู่บนมาตรฐานเดียวกันง่ายต่อการบริหารงาน และจะทำให้แต่ละจังหวัดประหยัดงบประมาณในการสร้าง Data Center ของแต่ละหน่วยงานลงไปมาก
Cyber Security ในด้านระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ในปีนี้จะมีรูปธรรม ที่เกิดขึ้น การเชื่อมโยงหน่วยงานด้าน Cyber Security ให้เกิดการบูรณาการและทำงานร่วมกันได้เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องเตรียมการพร้อมรับกับโลกออนไลน์ในปัจจุบัน รวมถึงการสร้างมาตรฐานระบบมั่งคงความปลอดภัยในเครือข่ายภาครัฐเอง อย่างเช่นระบบ GIN นั้น ทาง EGA เองก็ได้เริ่มพัฒนาระบบ Government Security Monitoring ขึ้น เพื่อสร้างความไว้วางใจในการใช้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐทั้งหมด รวมถึงการสร้างมาตรฐานระบบความมั่นคงปลอดภัยในระบบ G-Cloud ซึ่งทาง EGA และหน่วยงานพันธมิตรได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม CSA Thailand Chapter ขึ้นมา โดยในปีนี้กลุ่มนี้จะมีการผลักดันมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยบน Cloud Computing ของไทยขึ้นมาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับนานาชาติ
Th e-GIF การผลักดันมาตรฐานนี้ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก เพราะขณะนี้กระทรวงไอซีที และสรอ.ได้ปูพื้นฐานด้วยการนำข้อมูลพื้นฐานจากหน่วยงานหลักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลบัตรประชาชนของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, ข้อมูลเกษตรกร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอื่นๆ เข้ามาปูเป็นฐานเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันที อย่างไรก็ตามการเชื่อมโยงและการบูรณาการข้อมูลของภาครัฐเข้าหากันจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดมาตรฐานเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน ดังนั้นในปีนี้ต้องมีการผลักดันให้ทุกหน่วยงานอ้างอิงการใช้งาน โดยมีสรอ.เป็นหัวเรือใหญ่ในการพัฒนาระบบบริการหลักที่อ้างอิงตามมาตรฐานนี้ และทำให้เกิดการเผยแพร่ไปใช้งานอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะทำให้ปัญหาการเชื่อมต่อข้อมูลของทุกหน่วยงานหมดไป
Smart e-Service for Government ในปีนี้กระทรวงไอซีทีร่วมกับ EGA ได้กำหนดโครงการนำร่องที่จะเร่งสร้าง e-Service ของภาครัฐในหน่วยงานหลักให้เกิดขึ้น โดยหน่วยงานหลักในปีนี้ คือ สาธารณสุข มหาดไทย ศึกษา และเกษตร อย่างล่าสุดได้มีการเปิดตัวการบูรณาการข้อมูลทางด้านเกษตรไปแล้วเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา และจะมีการดำเนินการในเฟสแรกให้เสร็จภายในกลางปีนี้ ซึ่งหน่วยงานหลักอื่นๆ ที่เราวางแผนเอาไว้ก็จะเริ่มเกิดขึ้นคู่ขนานกันไป ซึ่งจะส่งผลดีอย่างมากในการให้บริการของภาครัฐ และโครงการนี้จะค่อยๆ เข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศไทย เพราะจะทำให้ข้อมูลของภาครัฐที่อยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ได้ถูกนำมาเชื่อมโยงเข้าหากัน มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลร่วมกัน ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริการ และประชาชนได้นำข้อมูลไปใช้เพื่อเกิดประโยชน์ได้เต็มที่
และสุดท้าย ICT Academy ปัจจุบันการศึกษาด้านไอซีทีของไทยมีหลากหลายมากทั้งระบบในมหาวิทยาลัยปกติ และการอบรมคอร์สระยะสั้นๆ เพื่อรับมือให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งในขณะนี้เทคโนโลยีได้ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วกว่าเดิมมาก จนทำให้ผู้พัฒนาโปรแกรมไม่สามารถไล่ตามตลาดโลกได้ทัน แผนงานนี้จะเร่งทำให้การกำหนดทิศทางของภาคการศึกษาไทย ในส่วนของมาตรฐานวิชาชีพด้านไอซีทีสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ทัน โดยเฉพาะการเข้ามาของการรวมกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมี EGA จะมีส่วนเข้ามาเป็นกรณีศึกษาด้านบริการอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐเพื่อการสร้างความเข้าใจให้หน่วยงานภาครัฐในทิศทางเดียวกัน
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการบริหาร สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า ในปี 2556 สรอ.จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ โดยปัจจุบัน สรอ. ได้นำข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์มาพิจารณาเพื่อผลักดันต่อในเชิงนโยบาย “นโยบายจากประชาชนเพื่อประชาชน” ไปตามหลักการของ รัฐบาลโปร่งใส (Open Government) ที่ภาครัฐจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รับรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ เพื่อสร้างความโปร่งใสและเพิ่มคุณภาพในการตัดสินใจของภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น
ในด้านกลไกการทำงานของ EGA ได้ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติม อย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โครงสร้างของบุคลากรที่ต้องลงไปเชื่อมต่อกับหน่วยงานภาครัฐในทุกจุดมีมากขึ้น ทุกหน่วยต้องรับทราบแนวทางการพัฒนาระบบไอทีของแต่ละหน่วยงานเป็นพื้นฐาน และต้องสามารถชี้แจงได้ว่างานชิ้นใดซ้ำซ้อน หรือควรจะดำเนินการร่วมกัน และงานแบบใดจำเป็นต้องใช้สาธารณูปโภคส่วนกลางจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด
ในรอบปีบทบาทการเป็นที่ปรึกษาทางด้านการบูรณาการของ EGA จึงโดดเด่นอย่างมาก ขณะเดียวกันบุคลากรหลักทางด้านเทคโนโลยีที่ต้องสร้างระบบศูนย์ข้อมูลที่รองรับระบบ G-Cloud หรือ Government Cloud Service ก็เป็นกลุ่มบุคคลที่ต้องได้รับการปรบมือ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ในตลาดไอทีระดับโลก โดยสิ่งที่ท้าทาย EGA ก็คือ ต้องมีขอบเขตการให้บริการที่ชัดเจน จะอ้างเรื่องการไม่มีค่าบริการไม่ได้โดยเด็ดขาด ในส่วนของศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center ของสรอ.เองก็จำเป็นต้องสร้างระบบคู่ขนาน มีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย ต้องการการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานของภาครัฐที่มีมากขึ้น ดังนั้นโครงสร้างของ EGA ในส่วนนี้ก็จำเป็นต้องขยับขยายมากขึ้นตามไปด้วย
บทบาทของ EGA ต่อไปนี้ คือ การประสานงานเพื่อบูรณาการภาครัฐ ต้องเป็นที่ปรึกษาวางแผนระบบไอทีระยะยาวได้ ต้องเก่งทางด้านไอซีทีเพื่อจัดทำระบบสาธารณูโภคทางด้านไอซีทีให้กับภาครัฐรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น และต้องเปิดตัวในเวทีนานาชาติ สร้างระบบมาตรฐานใหม่ๆ เพื่อนำไทยไปสู่การแข่งขันในเวทีโลกได้ ทั้งหมดนี้ถือเป็นมิติใหม่ของหน่วยงานภาครัฐที่มีความท้าทายอย่างมาก
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า ในปี 2556 งานที่สำคัญคือ การวางโครงสร้างเชื่อมต่อเพื่อก้าวเข้าสู่ระบบ Super GIN ที่เครือข่ายภาครัฐจะถูกขยายออกไปยังระดับตำบลและหมู่บ้าน ซึ่งทาง EGA จะเข้าไปช่วยวางสถาปัตยกรรม ทำการสำรวจความพร้อมในจุดต่างๆ และกำหนดแนวทางการเชื่อมต่อกับระบบ GIN เดิม เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อสูงสุด
ปีที่ผ่านมาการบริการ GIN ให้กับหน่วยงานรัฐของ EGA ประกอบด้วย การเชื่อมต่อ 1,199 หน่วยงาน (กระทรวง กรมจังหวัด หน่วยงานระดับภูมิภาค) สามารถเปิดบริการพื้นฐานต่อยอดจาก GIN ด้วยระบบ CABNET, GFMIS,GSMS, NSW, DXC คลังข้อมูลน้ำ, DXC กิจการยุติธรรม, ระบบสารบรรณ, ระบบทะเบียนราษฎร์ รวมถึงการให้บริการ Teleconference แก่ ศอ.บต., ตชด. ซึ่งในปี 2556 สรอ.คาดว่าจะสามารถเชื่อมต่อได้อีก 2,000 หน่วยงาน เพิ่มบริการพื้นฐานอีก 2 ระบบคือ ระบบเพื่อการเตือนภัยน้ำท่วม ดินถล่ม, GIN Web Conferenceรวมถึงสนับสนุนบริการด้านสาธารณสุข (Web Conference) โดยอยู่ระหว่างการหารือกับ ก.สาธารณสุข
ส่วน G-Cloud หรือระบบ Government Cloud Service ที่นำระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานภาครัฐเข้าสู่ศูนย์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ในรอบปีที่ผ่านมามีหน่วยงานใช้บริการ 33 หน่วยงาน / 58 ระบบ เช่น ระบบตรวจสอบโครงการตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ (สลค.), e-SAR (ก.พ.ร.), เยียวยาเยี่ยมเยียน (ศอ.บต.), ระบบจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทของสตรี (สลน.) เป็นต้น
ในปีนี้ G-Cloud จะมีบทบาทเด่นอย่างมาก EGA จะเพิ่มการลงทุนมากขึ้น และเร่งประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยให้เกิดแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ รูปแบบที่หลากหลาย คาดว่าจะมีระบบ ที่หน่วยงานรัฐนำมาไว้บน G-Cloud อีก 60 ระบบ/โครงการ เช่น รายงานการศึกษาแนวทางการจัดรวมศูนย์ข้อมูลภาครัฐ (ด้านเทคนิคและงบประมาณ)
สำหรับในปี 2556 นั้น สรอ.จะเน้นผลงานที่เป็นรูปธรรม 4 เรื่องคือ การมุ่งให้ G-Cloud ,บริการแบบ SaaS มากขึ้น และกลายเป็นระบบหลักบนคลาวด์ สองคือ การสร้าง Government Application Center หรือ GAC ซึ่งจะเป็นแหล่งที่รวมแอพพลิเคชันของภาครัฐ ที่ผ่านมา EGA ได้เตรียมการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ และได้วางโครงสร้างสถาปัตยกรรมของระบบแล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในไตรมาสที่สามของปีนี้
เรื่องที่สามคือ Open Government หรือระบบเปิดของไอทีภาครัฐ เพื่อทำให้เกิดการบูรณาการข้อมูลระหว่างกัน โดยจะมีหน่วยงานใหญ่ๆ เข้าร่วม และเกิดระบบใหญ่ๆ เช่น ระบบเกษตรกรอัจฉริยะ ที่เปิดตัวไปไม่นานมานี้ เป็นต้น ระบบใหญ่ๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นระบบทางด้านสาธารณสุข ระบบสวัสดิการ ระบบการศึกษา และอื่นๆ จะเกิดขึ้น เพื่อทำให้หน่วยงานด้านอื่นๆ สามารถนำระบบ API ที่ EGA จะพัฒนาขึ้นเพื่อให้นำไปต่อยอด จะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เรื่องที่สี่ คือ Smart Box ในช่วงปี ที่ผ่านมาเป็นช่วงทดลอง แต่ในปีนี้ระบบนี้จะเกิดขึ้นจริง และได้ลงในพื้นที่จริงๆ