ฟิทช์ประเทศไทย จัดอันดับเครดิตภายในประเทศหุ้นกู้ระยะสั้นของธนาคารกสิกรไทยที่ระดับ F1+(tha)

ข่าวทั่วไป Friday November 12, 2004 10:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศให้อันดับเครดิตระยะสั้นภายในประเทศ (National Ratings) ที่ระดับ‘F1+(tha)’ แก่หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน ไม่ด้อยสิทธิ ของธนาคารกสิกรไทย จำนวนรวมไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหุ้นกู้นี้มีอายุไม่เกิน 270 วัน และจะออกเป็นคราวๆไปภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ ประกาศคงอันดับเครดิตระยะยาวในประเทศของธนาคารกสิกรไทยไว้ที่ ‘AA(tha)’และ อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิไว้ที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ(tha)) แนวโน้มมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงแนวโน้มที่เป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะยังคงสนับสนุนธนาคารเนื่องจากทางธนาคารมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝากที่สูง และทางธนาคารมีสัมพันธภาพที่มั่นคงกับสถาบันอื่นๆ รวมไปถึงความสำคัญของธนาคารที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ อันดับเครดิตของธนาคารสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของสินทรัพย์, ระดับเงินกองทุน, ระดับการกันสำรองหนี้เสียและความสามารถในการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นมาก ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมามีสัญญาณการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้นของอัตราการเติบโตของผลกำไรซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อผู้บริโภค ในขณะที่ภาระหนี้เสียที่คงค้างมาตั้งแต่วิกฤติการณ์เศรษฐกิจในปี 2540 ปรับตัวลดลง
การปฎิรูปและการพัฒนาองค์กรของธนาคารกสิกรไทยตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 ได้เริ่มส่งผลและเริ่มสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรของธนาคารให้ดียิ่งขึ้น การปฎิรูปเหล่านี้ รวมไปถึงการลดต้นทุน การจัดการด้านสาขา, การเพิ่มความแข็งแกร่งในการบริหารความเสี่ยง การเพิ่มความแข็งแกร่งและความสามารถในการจัดการของผู้บริหารระดับกลางและระดับสูง รวมไปถึงการให้ความสำคัญในด้านธุรกิจสำหรับลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็กเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้มีการกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น ธนาคารกสิกรไทยยังคาดว่าจะซื้อใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยผ่านการซื้อหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ Asset Plus ภายในสิ้นปี 2547 นี้
ผลประกอบการของธนาคารกสิกรไทยในปี 2546 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า เนื่องจากการกันสำรองหนี้สูญและต้นทุนเงินกู้ยืมที่ลดลงนอกจากนี้รายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวดีขึ้น กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและเงินลงทุนในตราสารหนี้ที่สูงขึ้น กำไรจากการปรับมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทจัดการสินทรัพย์ยังมีส่วนสนับสนุนผลประกอบการของธนาคาร ธนาคารรายงานผลกำไรสุทธิที่ 14.8 พันล้านบาทในปี 2546 เพิ่มขึ้นจาก 6.7 พันล้านบาทในปี 2545 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของธนาคารใน 9 เดือนแรกของปี 2547 ถูกกระทบจากกำไรจากการลงทุนที่ลดน้อยลง เนื่องมาจากการที่ธนาคารได้บันทึกกำไรพิเศษจำนวน 2.7 พันล้านบาทจากการปรับมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์พลอยใน 9 เดือนแรกของปี 2546 ถ้าไม่นับรวมกำไรและขาดทุนจากการปรับมูลค่าของสินทรัพย์ดังกล่าว ผลการดำเนินงานหลักของธนาคารกสิกรไทยยังคงปรับตัวดีขึ้นในปี 2547 โดยอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยได้ปรับตัวดีขึ้นสู่ที่ระดับประมาณ 3%
ถึงแม้ว่าระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารกสิกรไทยจะยังจัดอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลระดับหนี้เสียของธนาคารได้ลดลงมาอย่างมีสาระสำคัญจากระดับสูงสุดในอดีต ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอยู่ที่ 74.6 พันล้านบาท หรือ 12.8% ของสินเชื่อรวมระดับการกันสำรองหนี้สูญของธนาคารอยู่ที่ 59.2 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 หรือเท่ากับ 79.4% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด ระดับการกันสำรองหนี้สูญของธนาคารกสิกรไทยจัดว่าเป็นหนึ่งในระดับการกันสำรองหนี้สูญที่สูงที่สุดของธนาคารพาณิชย์ของไทย ถึงแม้ว่าระดับหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างของธนาคารที่ยังอยู่ในระดับสูงจะยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ธนาคารจะต้องกันสำรองเพิ่มเติมในอนาคต อัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของธนาคาร (ซึ่งใช้วัดความสามารถในการรองรับหนี้สูญของเงินกองทุนโดยอัตรายิ่งต่ำยิ่งชี้ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของธนาคาร) ได้ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสู่ระดับประมาณ 26% และคาดว่าจะยังคงปรับตัวต่ำลงในอนาคต
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 ธนาคารกสิกรไทยมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 8.3% และเงินกองทุนทั้งหมดอยู่ที่ 13.5% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการที่ผลกำไรปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ธนาคารกสิกรไทยมีแนวโน้มที่จะเริ่มกลับมาจ่ายเงินปันผลในปี 2547 ทางธนาคารน่าจะยังสามารถรักษาระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งไว้ได้
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
หมายเหตุ : อันดับเครดิตระยะสั้นภายในประเทศ: F1(tha) แสดงถึงระดับความสามารถขั้นสูงสุดในการชำระหนี้ตามเงื่อนไขของตราสารตรงตามกำหนดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ออกตราสารหรือตราสารอื่นๆ ในประเทศไทยภายใต้อันดับความน่าเชื่อถือภายในประเทศซึ่งกำหนดโดยฟิทช์ โดยอันดับความน่าเชื่อถือนี้จะมอบให้สำหรับอันดับความน่าเชื่อถือที่มีความเสี่ยง “น้อยที่สุด” เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ออกตราสารอื่นในประเทศไทย และโดยปกติแล้วจะกำหนดให้กับตราสารทางการเงินที่ออกหรือค้ำประกันโดยรัฐบาล ในกรณีที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูงเป็นพิเศษจะมีสัญลักษณ์ “+” แสดงไว้เพิ่มเติมจากอันดับความน่าเชื่อถือที่กำหนด
การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กสิกรไทย จำกัด ซึ่งถือหุ้น 71.4% โดยธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ